วันเสาร์, พฤษภาคม 04, 2567

น้ำเขื่อนป่าสักฯ เหลือแค่ ๑๕% ผอ.เขื่อนฯ “ขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อน” -ความผิดพลาดในทางบริหารราชการของรัฐบาลเศรษฐา

มัวแต่จะเอาชนะคะคานกับผู้ว่าแบ๊งค์ชาติ เพราะเขาไม่ยอมอ่อนให้ ในสิ่งที่ผิดระเบียบการรักษาเสถียรภาพการคลัง ถึงขั้นให้ อุ๊งอิ๊ง ออกมาชนเอง เหมือนว่ารัฐบาลเศรษฐาจะลืมพันธะหน้าที่หลักในการบริหารจัดการน้ำ ที่ทุกรัฐบาลในรัชกาลที่ ๙ ไม่ยอมพลาด

จะอ้างสถานการณ์ ภัยแล้ง แต่อย่างเดียวไม่ได้แล้ว มันเป็นหน้าที่หัวหน้ารัฐบาลต้องเร่งจัดการเสียแต่ต้นมือ ไม่ใช่ปล่อยมาเป็นเวลา ๖ เดือน จนปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลืออยู่เพียง ๑๕% ของความจุเขื่อน ต้องจำกัดการใช้น้ำในทางเกษตรกรรม

“ปริมาณน้ำที่เห็นนั้นน่าเป็นห่วง อย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล เนื่องจากระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเที่ยบกับปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา” ข่าวมติชนรายงานว่า ผอ.เขื่อนฯ “ขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อน” นั่นหมายถึงพืชหลักต้องรอจนกว่าจะเข้าฤดูฝน

โดยปกติเขื่อนป่าสักฯ จะเก็บกักน้ำในฤดูฝน “ได้ประมาณ ๑,๐๑๙ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ ๑๐๖ ของความจุอ่างฯ” เพื่อใช้ในฤดูแล้งที่ตามมา แล้วยังเผื่อเหลือเผื่อขาดไปถึงต้นฤดูฝนต่อไปอีกด้วย แต่สภาพตอนนี้น่าห่วงว่าคงจะไม่พอ

ถึงแม้ว่าทางกรมชลประทานจะยืนยันว่า ถึงน้ำจะน้อยก็สามารบริหารจัดการให้เพียงพอใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคต่อไปได้อยู่ แต่ปัญหาจะเกิดถ้าในฤดูฝนที่จะมา ฝนฟ้าไม่ต้องตามประมาณการ มีการทิ้งช่วงฝนนานกว่าที่เคย ถึงตอนนั้นปัญหาจะไปถึงการอุปโภคบริโภค

ผอ.โครงการส่งน้ำเขื่อนป่าสักฯ ชี้แจงว่าขณะนี้มีน้ำเหลืออยู่ในเขื่อนประมาณ ๑๔๘.๔๐ ล้าน ลบ.ม. ต้องบริหารจัดการด้วยการปรับลดการระบายน้ำออกจากเขื่อน จากเดิมระบายวันละ ๓.๔ ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้ทำได้เพียง ๑.๓ ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ดี ผอ.ชูพงศ์ อิศรัตน์ ชี้ว่าถ้าหากเกิดเหตุการณ์ “ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน” ก็ยังไปขอกรมฝนหลวงปฏิบัติการทำฝนหลวงให้ตกในพื้นที่เกษตรกรรม “และเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนป่าสักฯ” ได้อยู่แล้ว แต่การจะรอให้หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้นจะดีหรือ

รัฐบาลเศรษฐาไม่ควรที่จะปล่อยให้สถานการณ์หมิ่นเหม่ จน ผอ.เขื่อนต้องเตือนเกษตรกรอย่าเพิ่งปลูกพืชหลัก ข้อจำกัดอย่างนี้ไม่ทำให้ประเทศมีสมรรถนะการผลิตทางเกษตร ไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนามได้

(https://www.matichon.co.th/region/news_4558587)