วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2567

นี่หรือมาตรฐานขั้นสูงที่ รพ.ราชทัณฑ์อ้าง สอดท่อช่วยหายใจให้ ‘บุ้ง’ ผิดจากช่องลมไปเป็นช่องอาหาร

นี่หรือคือสิ่งที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แถลงแจงว่า ทำการช่วยชีวิต บุ้ง ตามมาตรฐานการช่วยชีวิตขั้นสูง “โดยมีแพทย์ดำเนินการใส่ท่อช่วยหายใจ ได้นวดหัวใจ พร้อมให้ยากระตุ้นหัวใจ ยากระตุ้นความดันโลหิต” แต่ไฉนกลับมีรายงานว่า

“หลังจากบุ้งหัวใจหยุดเต้น มีการใส่ท่อช่วยหายใจผิดพลาดจนเข้าหลอดอาหาร แล้วไม่มีการแก้ไข จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจริง ๆ” ตามความเห็นของ Santi Kijwattanapaibul การที่ รพ.ราชทัณฑ์ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการรักษาย้อนหลัง ๕ วัน

และไม่ยอมเผยแพร่ “คลิปจากกล้องวงจรปิดในขณะทำการ CPR ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการรักษามีมาตรฐานจริงหรือไม่” ซึ่ง ทนายด่างกฤษฎาง นุตจรัส บอกว่าทราบจากหมอโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ อาจมีการสอดท่อช่วยหายใจผิดช่อง

คือ “ใส่เข้าไปในหลอดอาหาร ผลชันสูตรในท้องเต็มไปด้วยลม” กรณีอย่างนี้ทางการแพทย์เรียกว่า ‘Esophageal Intubation’ เดชา ปิยะวัฒน์กูล เขียนโพสต์ตามความรู้ที่มี “นอกจากปอดจะไม่ได้ออกซิเจนแล้ว กระเพาะอาหารจะโป่งพอง

อัดให้ปอดกับหัวใจยุบ ทำงานลดลงไปอีก เป็นการฆ่าผู้ป่วยเร็วขึ้นเป็นทวีคูณ” นอกจากนั้นยัง “มีวิธีสังเกต และตรวจพบได้ว่าเราสอดท่อเข้าผิดช่องเป็นสิบๆ วิธี” เขาแนะนำให้แพทย์สภาเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทั้งในด้านเครื่องมือและบุคคลากร

รายนี้เขาอ้างว่า “ผมเคยเข้าไปตรวจคนไข้ในลาดยาว ผมรู้ดีว่าการบริการทางการแพทย์ในนั้นมีคุณภาพระดับใด บุคลากรมีคุณภาพระดับใด (ขออนุญาตตรงไปตรงมา สมัยก่อนมันมีคุณภาพต่ำสุดเท่าที่มนุษย์จะนึกได้ครับ...)

ย้อนไปที่ Santi เขามีความเห็นเช่นกัน “สุดท้าย หากบุ้งได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม เขาจะไม่ต้องเข้าเรือนจำแต่แรก และมีสิทธิในการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีตามปกติ” แต่การจับนักกิจกรรมการเมืองไปขังรอการดำเนินคดี

แล้วไม่ยอมให้ประกันตัว คุมขังยาวแล้วยังไม่มีการดำเนินคดี “มันคือการที่กระบวนการยุติธรรมไม่มีมาตรฐาน หากเป็นคนในครอบครัวคุณโดนกระทำแบบนี้บ้าง” จินตนาการกันเอาว่า จะมีความรู้สึกอย่างไร

(https://www.facebook.com/PetePeterPetest/posts/WRisAEqS และ https://www.facebook.com/looksoundfeel/posts/25HbN8PAGS)