วันจันทร์, พฤษภาคม 13, 2567

12 พฤษภาคม พ.ศ.2550 วันนี้ ครบรอบ17 ปี อสัญกรรมท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คู่ชีวิตท่านปรีดี สตรีผู้ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น



พูนศุข พนมยงค์ สตรีผู้ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น

ทายาทท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยารัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๘ มีอาการทางโรคหัวใจ จึงได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ต่อมาในค่ำวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันปรีดี พนมยงค์ อาการของท่านผู้หญิงได้ทรุดหนักลงโดยลำดับ กระทั่งได้ถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบ เมื่อเวลา ๐๒.๐๐ น. ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุ ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน

ทั้งนี้ทายาทของท่านผู้หญิง ขอขอบคุณคณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้พยายามดูแลรักษาจนสุดความสามารถอย่างดียิ่งทุกประการ

ในการจัดพิธีศพท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทายาทจะปฏิบัติตาม “คำสั่งถึงลูก” ที่ท่านผู้หญิงได้เขียนไว้ด้วยลายมือ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑ ความว่า

คำสั่งถึงลูก ๆ ทุกคน

  1. เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแน่แล้ว
  2. ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น
  3. ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
  4. ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
  5. มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรสำหรับหนังสือที่ระลึก
  6. ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หรือเงินช่วยทำบุญ
  7. เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
  8. ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่เกิด
  9. หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทานแก่มูลนิธิต่าง ๆ ที่ทำสาธารณกุศล
  10. ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูก ๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งแม่จงมีความสุขความเจริญ

พูนศุข พนมยงค์

ในชีวิตของลูกผู้หญิงคนหนึ่ง ผ่านทั้งความสุข ความทุกข์ยาก การถูกใส่ร้ายป้ายสีต่าง ๆ นานา และมรสุมชีวิตที่โถมกระหน่ำครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ยังยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งร้ายรอบตัวได้อย่างเด็ดเดี่ยว มีสติมั่นคง และรักษาตัวเองให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรีได้ตลอดชีวิต หญิงผู้นั้นนาม พูนศุข พนมยงค์

พูนศุข พนมยงค์ เป็นลูกพระยา เกิดในตระกูลชนชั้นสูงในสังคม แต่งงานกับนายปรีดี พนมยงค์ ลูกชาวนา ดอกเตอร์หนุ่มจากฝรั่งเศสซึ่งภายหลังกลายมาเป็นผู้ก่อการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เป็นภรรยารัฐมนตรี ภรรยาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภรรยานายกรัฐมนตรี เป็นท่านผู้หญิงอายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง ๒๘ ปี สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ต่อสู้ลับ ๆ กับกองทัพญี่ปุ่น ช่วยให้ประเทศไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจ แต่ภายหลังสามีถูกใส่ร้ายว่ามีส่วนพัวพันในกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ ถูกทหารยิงปืนกลกราดเข้ามาในบ้านเมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ ต่อมาถูกจองจำในข้อหากบฏ ลูกชายถูกจับติดคุก จนกระทั่งต้องหนีตามสามีลี้ภัยไปอยู่ต่างแดนด้วยความขมขื่นใจ สุดท้ายกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในเมืองไทยด้วยความสงบ ให้อภัยกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต ดำรงตนเป็นแบบอย่างให้แก่ชนรุ่นหลังได้กราบไหว้ด้วยความสนิทใจ แม้กระทั่งคำสั่งเสียในวาระสุดท้ายของชีวิต

ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น
.....

อภิวัฒน์ ๒๔๗๕

ชะตากรรม (destiny) ของพูนศุขภายหลังสมรสแล้วนั้น จึงพลอยเป็นไปตามชะตากรรมของปรีดี ส่วนชะตากรรมของปรีดีนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลกรรมแห่งการงานทาง ‘อภิวัฒน์’ ที่รับใช้ประเทศชาติและราษฎรไทย เพื่อที่จะก้าวหน้าไปตามแนวทางแห่งการกู้อิสรภาพของมนุษย์ให้พ้นจากการถูก เบียดเบียน และเพื่อให้ชาติไทยมีเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์

ปรีดี พนมยงค์

ภายหลังออกเรือนมาเป็นแม่บ้าน พูนศุขได้ใช้เวลาว่างไปเรียนภาษาฝรั่งเศส และช่วยงานตรวจปรู๊ฟหนังสือในโรงพิมพ์นิติสาส์นของนายปรีดี ที่ตั้งขึ้นมาพิมพ์ตำรากฎหมายเป็นรายได้ทางหนึ่ง

เราแต่งงานตั้งปีครึ่งถึงมีลูก ฉันมีเวลาก็ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสต่อที่สมาคมฝรั่งเศส ถนนสาทร เพื่อนร่วมชั้นที่เรียนด้วยกันที่สมาคมฝรั่งเศสมีอยู่หลายคน เท่าที่จำได้ก็มีคุณจำกัด พลางกูร คุณกนต์ธีร์ ศุภมงคล คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ บางคนมาจากเทพศิรินทร์ บางคนมาจากอัสสัมชัญ

จนกระทั่งก่อนหน้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นายปรีดีได้บอกภรรยาว่าจะไปอยุธยา แต่ความจริงตัวเขากำลังจะเข้าร่วมก่อการครั้งสำคัญสะเทือนประวัติศาสตร์สยาม พูนศุขเล่าไว้ว่า

ตอนนั้นอายุ ๒๐ ไม่รู้เรื่องว่าจะเกิดอะไร ก่อนหน้านี้นายปรีดีเคยมาขออนุญาตว่าจะไปบวช ฉันก็ยินดีอนุโมทนา นายปรีดีบอกว่าวันที่ ๒๓ จะไปหาบิดามารดาที่อยุธยาเพื่อขอลาบวช พอวันนั้นนายปรีดีกลับจากทำงานมาถึงบ้าน จากนั้นฉันก็นั่งรถไปส่งพร้อมลูกตัวเล็ก ๆ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ก็ไม่ได้มีอะไรผิดสังเกต ขากลับยังแวะเยี่ยมเพื่อนที่จุฬาฯ นั่นคือเหตุการณ์วันที่ ๒๓ พอตกกลางคืน ลูกคนที่ ๒ ร้องไห้ เวลานั้นมีลูกสองคน คือลลิตาและปาล ลูกปาลส่งเสียงร้องไม่หยุด คุณพ่อคุณแม่ที่อยู่บนตึกใหญ่ท่านก็ให้คนมาถามว่าเป็นอะไร ฉันก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร แต่ตลอดคืนใจคอไม่ดี เป็นห่วงนายปรีดีว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่

จนเช้ารุ่งขึ้นของวันที่ ๒๔ มิถุนายน จำได้ว่าท้องฟ้ามืดครึ้มมีฝนตกปรอย ๆ ตามปรกติเราจะถ่ายรูปลูก ๆ เป็นระยะ ลูกปาลอายุครบหกเดือนจึงเอามาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ อุ้มลงไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่ตึกใหญ่ของคุณพ่อ พอสักครู่ท่านเจ้าพระยายมราช บ้านอยู่ศาลาแดงที่เป็นดุสิตธานีเวลานี้ ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นน้าของคุณแม่ ฉันเรียกท่านว่าคุณตา ก็มาที่บ้านป้อมเพชร์ ท่านถามว่ารู้เรื่องมั้ย เกิดเรื่องใหญ่ คนเรือของท่านที่อยู่ใกล้บางขุนพรหมมารายงานท่านว่า ที่วังบางขุนพรหมมีทหารมาจับทูลกระหม่อมชาย

ย่ำรุ่งของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรอันประกอบด้วยทหารและพลเรือน ๑๑๕ นาย มากกว่าครึ่งอายุน้อยกว่า ๓๐ ปี โดยมีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะราษฎร และนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบ ประชาธิปไตยอย่างสายฟ้าแลบ ด้วยการลวงทหารจากกรมกองต่าง ๆ ให้มาชุมนุมพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และถือโอกาสประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองทันที และกำลังอีกส่วนหนึ่งไปเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์มาเป็น ตัวประกัน รวมถึงทูลกระหม่อมชาย หรือสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเวลานั้นทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครแทนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ หัว ที่เสด็จแปรพระราชฐานอยู่ที่วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เช้าวันนั้นนายปรีดีจำเป็นต้องพูดปดกับภรรยาเพื่อรักษาความลับ เขาไม่ได้ไปอยุธยา แต่ไปลอยเรืออยู่ในคลองโอ่งอ่าง แจกแถลงการณ์ ประกาศคณะราษฎร ที่พิมพ์จากโรงพิมพ์นิติสาส์นของตัวเอง พูนศุขเล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นให้ฟังว่า

มีรถทหารและทหารหลายคนมาอยู่ที่หน้าโรงพิมพ์ ฉันชักจะกลัว พอสักครู่คนที่โรงพิมพ์ก็วิ่งหน้าตื่นมาบอกว่า ทหารมาให้พิมพ์ใบปลิว จึงสั่งว่าทหารจะให้พิมพ์อะไรก็ทำให้หมด ตอนหลังจึงรู้ว่ามีการเรียงพิมพ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะทหารมาถึงก็พิมพ์เลย ตอนบ่าย คุณพ่อกับเจ้าคุณที่ไปสืบกลับมา ได้ความว่ามีหัวหน้าชื่อพระยาพหลฯ ทำการจับเจ้านาย แล้วเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไร

คืนนั้นนายปรีดีให้คนมาส่งข่าวบอกว่าตอนนี้อยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม กองบัญชาการคณะราษฎร ไม่ได้กลับบ้านเลย ให้ช่วยส่งอาหารไปให้ นับแต่วันนั้นฉันก็ต้องจัดอาหารให้คนนำไปส่งนายปรีดีที่พระที่นั่งอนันต์ฯ จนกระทั่งวันที่ ๓ กรกฎาคม นายปรีดีจึงมีจดหมายมาถึงฉัน ขอโทษที่ไม่ได้เล่าความจริงให้ฟัง เพราะถ้าเล่าให้ฟังเดี๋ยวก็จะทำการไม่สำเร็จ ฉันอายุยังน้อยกลัวว่าจะไม่รักษาความลับ และอีกอย่างหนึ่งที่บ้านก็คุ้นเคยเจ้านายหลายวัง

ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายของปรีดีมีความว่า

การที่ทำอะไรไปทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎรเป็นส่วนมาก เห็นว่าเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสทำได้ก็ควรทำ ไม่ควรบำเพ็ญตนให้เป็นคนหนักโลก…ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มาก ๆ การทั้งหลายฉันได้เริ่มมาแต่ปารีส เมื่อมุ่งทางนี้อยู่แล้วและจะสละเกียรติยศทิ้งเสียอย่างไรได้ การเมืองก็การเมือง การส่วนตัวก็ส่วนตัว

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา อธิบดีศาลอุทธรณ์ขณะนั้น ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ขณะที่ ปรีดี พนมยงค์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า สมุดปกเหลือง ซึ่งเป็นนโยบายที่ก้าวหน้ามากในสมัยนั้น นายปรีดีได้ร่างเค้าโครงฯ แบบสหกรณ์เต็มรูปแบบ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี เพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังมีนโยบายจัดเก็บภาษีมรดกและหลักการประกันสังคมในชื่อร่าง พ.ร.บ. “ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร”

ราษฎรที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาล ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็กหรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรจะมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ

แต่แล้วได้มีกระแสต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจก้าวหน้าฉบับนี้โดยเฉพาะในหมู่ ชนชั้นสูง เพราะกลัวว่าจะมีการยึดทรัพย์คนรวย และไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งเจ้าและขุนนางยัง กุมอำนาจอยู่ จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ พระยามโนปกรณ์ฯ ได้ร่วมมือกับทหารบางกลุ่มสั่งปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และได้ออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยกล่าวหาว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และบีบบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศทันที พร้อมกับภรรยาที่ได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

การเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางไกลครั้งแรกในชีวิต ไม่อาจคาดการณ์ว่า เมื่อใดจึงจะกลับมาอยู่พร้อมหน้า… ข้าพเจ้าฝากลลิตา (อายุ ๓ ขวบ) กับ ปาล (อายุขวบเศษ) ให้อยู่ในความดูแลของคุณแม่ หัวใจของข้าพเจ้าแทบสลายด้วยความเป็นห่วงลูก ข้าพเจ้าจูบลาลูกทั้งสองที่หน้าตึกบ้านป้อมเพชร์

หกสิบปีต่อมา พ.ร.บ. ประกันสังคมจึงเกิดขึ้นในสังคมไทย ขณะที่กฎหมายมรดกและนโยบายปฏิรูปที่ดิน ยังห่างไกลความเป็นจริง

หลายสิบปีต่อมา ปรีดี พนมยงค์ ได้ปรารภถึงเค้าโครงการเศรษฐกิจแก่ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า

ข้าพเจ้าไม่มีความมุ่งมาดจะทำลายลัทธิคนมีเงิน สิ่งที่ข้าพเจ้าพึงปรารถนาก็คือ เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพของราษฎรเท่านั้น… ลัทธิคอมมิวนิสต์ในกรุงสยามมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะกล่าวตามความปรารถนาของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีจุดมุ่งไปในทางเดียวกับพรรคเลเบอร์ (พรรคกรรมกร) ในอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง

อ่านต่อ

วัยเด็ก
ในห้วงสงคราม
มรสุมชีวิต
ช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย
ชีวิตในต่างแดน
วาระสุดท้าย

ที่
https://onetonion.com/2020/01/03/%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%B8%E0%B8%82-%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C-%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%84/