วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2567

๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เปิดบ้านอองโตนี่ ชานกรุงปารีส ที่พำนักสุดท้ายนายปรีดี พนมยงค์ ผู้อภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕

 เปิดบ้านอังโตนี บ่ายวันที่ ๑๘ พฤษภา

ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวนำเล่าความเป็นมาที่ทำให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาซื้อบ้านหลังนี้ จากต้นคิดในกลางปี ๒๕๖๕ เรื่อยมายาวนาน จนสำเร็จเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๖๗

หลังปิยบุตรกล่าวจบ ช่อ พรรณิการ์ วานิช คั่นเวลาด้วยการเสนอให้ผู้ร่วมงานไว้อาลัยแก่ บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม ๑ นาฑี

จากนั้นธนาธร ขึ้นกล่าวปาฐกถาในช่วงหนึ่งถึงเจตนาในการซื้อบ้านหลังนี้ ว่าไม่เพียงให้เป็นอนุสรณ์แห่งผู้อภิวัฒน์สยามในอดีต หากเป็นพื้นที่ปฏิบัติการสืบสานประชาธิปไตยไทยต่อไปในอนาคต

เขาแจ้งโครงการปรับปรุงบ้านหลังนี้ว่าจะรักษาโครงสร้างหลักของบ้านไว้ทั้งหมด และปรับปรุงภายในของบ้านทั้ง ๓ ชั้น ชั้นล่างสุดจะปรับเป็นห้องโถงสำหรับกิจกรรมเสวนา เปิดให้สมาคมคนไทย นักเรียนไทยได้มาใช้สอยจัดกิจกรรมต่างๆ ได้

ชั้นหลัก (ที่หนึ่ง) มีสองห้องที่เป็นห้องรับแขกและห้องทำงานเดิม จะปรับให้ใกล้เคียงอดีตมากที่สุด พร้อมกับเพิ่มเติมเรื่องราวชีวิตในอดีตของ อจ.ปรีดี และครอบครัวของท่าน พร้อมกับสาระความสำคัญของการอภิวัฒน์สยาม

ทั้งนี้โดยครอบครัวพนมยงค์ ได้อุทิศกระจกเงาโบราณที่เคยสถิตย์อยู่ในบ้านกลับมาติดตั้งในห้องรับแขกอีก กับเครื่องเล่นเปียโนที่ อจ.สุดา และ อจ.ดุษฎีเคยเล่นบรรเลงประจำ นำมาตั้งไว้เป็นเครื่องเรือนสำคัญอีกอย่าง

ธนาธรทิ้งท้ายว่า หลังจากบูรณะบ้านหลังนี้เสร็จในให้ทันฉลองครบร้อยปีวันเกิด อจ.ปรีดี ที่ ๑๑ พฤษภา เขาขอปาวารณาตนว่าจะไม่เป็นเจ้าของบ้านตลอดกาล แต่ต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นสมบัติของรัฐไทย ของประชาชนไทยอย่างถาวร ตราบเท่าที่รัฐไทยพร้อมรับความจริงจากประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕

เสร็จจากการปราศรัยของธนาธร เป็นการเสวนาเชิงปาฐกถาถึงประชาธิปไตยไทยจากอดีตถึงอนาคต เริ่มโดย อจ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อจ.ชาญวิทย์เล่าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความรู้เรื่องการปกครองสมัยใหม่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่จากการแปลรัฐธรรมนูญสหรัฐเป็นภาษาไทยโดยหมอบรัดลีย์

จากนั้น อจ.ชาญวิทย์ (อ่าน) เรื่องราวการเมืองการปกครองไทยอีก ๙ สมัยเหตุการณ์กระทั่งสุดท้ายในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ อันยาวนาน ๑๕๐ ปี อันเต็มไปด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยคณะทหาร

อจ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เสริมว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เรียกร้องประชาธิปไตยในอดีตที่ อจ.ชาญวิทย์บรรยายว่าขาด เทียนวัน สามัญชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่สำคัญและถูกคุมขังนานเป็นเวลา ๑๔ ปี “เทียนวันนั้นต้องการพาร์เลียเม้นต์ เจ้ากับไพร่ปกครองร่วมกัน”

เมื่อมีรัฐธรรมนูญ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้ว สิ่งที่คณะราษฎรผิดพลาดก็คือเลือกเอาพระยามโนปกรณ์นิติธาดา มาเป็นนายกรัฐมนตรี พระยามโนเป็นนักเรียนอังกฤษ ต้องเข้าใจ นักเรียนอังกฤษส่วนมากไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง พระยามโนแม้เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หัวก้าวหน้าแบบศาล แต่ความคิดก็ยังแบบราชาธิปไตย

พระยามโนจึงวางแผนกับพระปกเกล้าฯ ที่จะล้มคณะราษฎร เป็นเหตุให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ร่วมกับหลวงพิบูลสงครามและหลวงศุภชลาศัยยึดอำนาจครั้งที่สอง เมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ นี่สำคัญมากที่นำกลับมาหาเนื้อหาประชาธิปไตย

รัฐสภาของไทยนั้นแม้เราจะมีจอมพล ป.เป็นเผด็จการ แม้เราจะมีญี่ปุ่นบุกขึ้นมายึดครองประเทศไทย แม้ไทยจะประกาศสงครามโลกกับอังกฤษ อเมริกา แต่รัฐสภาไทยมีศักดิ์ศรี มีอำนาจ จอมพล ป.ซึ่งเป็นเผด็จการนั้นหลุดจากตำแหน่งเพราะแพ้เสียงในสภา (เรื่องเมืองหลวงใหม่ที่เพ็ชบูรณ์)

อจ.สุลักษณ์ ยังเพิ่มเติมคุณูปการของ อจ.ปรีดีอีกโสตหนึ่งของการเป็นหัวหน้าเสรีไทย ที่ช่วยให้เมืองไทยไม่เป็นเมืองขึ้น ไม่แพ้สงครามโลกครั้งที่สองต่อฝ่ายอักษะ แต่แล้ว อจ.ปรีดีทำความผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ เมื่อเสร็จสงคราม

แรกเมื่อเอาคุณควง อภัยวงศ์ขึ้นมาเป็นนายกฯ นั้นเพียงเป็นตัวเชิดหลอกญี่ปุ่น แต่อำนาจจริงๆ อยู่ที่คุณทวี บุณยเกตุ ร่วมกับ อจ.ปรีดี เมื่อคุณควงไปแล้วคุณทวี บุณยเกียรติขึ้นไปเป็นนายกฯ ชั่วคราว อจ.ปรีดีนั้นต้องการให้คุณดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าคุณดิเรกเป็นนายกฯ ที่มีความสามารถมาก

แต่คุณดิเรก ชัยนามบอก อจ.ปรีดีว่า อาจารย์ครับตั้งแต่เราเอาเจ้าคุณมโนออกไป เราคณะราษฎรยึดอำนาจมาตลอด เขาจะหาว่าเราเอาอำนาจไว้แต่พวกเรา ควรให้คนอื่นเขามาปกครองบ้าง อจ.ปรีดีถามว่าใครล่ะ คุณดิเรกบอกก็เสนีย์ ปราโมชไงล่ะ

เขาก็ทำเสรีไทยอยู่อเมริกา สองเขาเป็นเชื้อพระวงศ์ เราจะได้ไม่ถูกกล่าวหาว่าเราแย่งมาจากเจ้า จะได้ดีกัน นี่เป็นความหวังดีของคุณดิเรก ชัยนาม และเป็นความใจกว้างของ อจ.ปรีดี พนมยงค์ เชิญคุณเสนีย์มาเป็นนายกรัฐมนตรี

เผอิญผมรู้จักทั้ง อจ.ปรีดีและคุณเสนีย์ อจ.ปรีดีถามคุณดิเรกว่าถ้าเสนีย์เขาไม่รับล่ะ อจ.ดิเรกตอบว่าเพื่อชาติเขาต้องรับ เรื่องนี้คุณเสนีย์บอกผมเลยนะ ไอ้หลวงประดิษฐ์มันหลอกผมให้ทำเพื่อชาติ เสนีย์จึงกลับจากอเมริกามาเป็นนายกฯ

ต้องเข้าใจนะครับว่าคุณเสนีย์เป็นคนซื่อ แต่เป็นคนไม่มีความเป็นผู้นำ และหูเบา เมื่อกลับมาแล้วคณะรัฐมนตรีทั้งหมดต้องให้ อจ.ปรีดีช่วยตั้ง แล้วเลยโกรธว่าถูกพวกหลวงประดิษฐ์รุมเล่นงาน นี่ข้อที่อยากเรียนว่าหวังดีอย่างเดียวไม่พอ นายกฯ ต้องมีความเป็นผู้นำ

ร้ายที่สุดก็คือคุณควง อภัยวงศ์เอง ถือว่าตนมีความสำเร็จมากที่เอาจอมพล ป.ลงได้ ต้องการจะกลับมาเป็นนายกฯ อีก อจ.ปรีดีเห็นว่าได้เป็นมาแล้วเอาคนอื่นมาเป็นบ้าง คุณควงจึงหันออกจากคณะราษฎรไปเป็นฝ่ายขวาจัดขึ้น

อจ.สุลักษณ์ย้อนกลับไปเล่าถึงการเป็นหัวหน้าเสรีไทยของ อจ.ปรีดีอีกว่า ได้ส่งคุณกำจัด พลางกูร ไปเมืองจีนได้พบเจียงไคเช็ค ก่อนไปคุณกำจัดไปลา อจ.ปรีดีที่ทำเนียบท่าช้าง อจ.ปรีดีบอกคุณกำจัด โชคดีอีกสองเดือนกลับมา ถ้าโชคร้ายเสร็จสงครามแล้วพบกัน

ถ้าโชคร้ายกว่านั้นก็นึกว่าอุทิศชีวิตเพื่อชาติและฮิวแมนนีตี้ ใช้คำนี้ ไม่ใช่เพื่อชาติอย่างเดียว เพื่อมนุษยชาติ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐให้เสรีไทยไว้ระหว่างสงคราม เมื่อเสร็จสงคราม อจ.ปรีดีสลายเสรีไทย มอบอาวุธให้แก่อินดดนีเซีย ลาว และเวียดนาม เวลานี้เวียดนามยังมีกองพันรถถัง ๒ กองให้ชื่อว่า สยามเรจิเมนต์

ถ้า อจ.ปรีดียังเก็บบอาวุธเหล่านั้นและขบวนการเสรีไทยไว้ รัฐประหาร ๒๔๙๐ จะไม่มีทางขึ้นมาได้ อจ.ปรีดีเป็นคนคิดถึงเพื่อนบ้านอยู่เสมอ พอเสร็จสงคราม อจ.ปรีดีตั้งสมัชชาเอเซียอาคเนย์ ๕๐ ปีก่อนอาเซียน ที่เป็นการประชุมของทุนนิยมรวมหัวกัน

ผู้อภิปรายอีกคน กสิดิศ อนันทนาธร อดีตผู้จัดการโครงการ ๑๐๐ ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เอ่ยถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ผ่านมาซึ่ง อจ.สุลักษณ์และชาญวิทย์ได้กล่าวไว้แล้ว มันมีส่วนสำคัญในการต่อสู้โดยสามัญชนรวมอยู่ในนั้น

จะเห็นภาพว่า มันไม่ชนะ แต่ก็ไม่สูญหายไป ถ้าเอาคำของท่าปรีดีเองมาใช้ก็ต้องบอกว่า ผลของการก่อสร้างไว้ดีแล้วมันไม่สูญหาย จะมองหาอีกแปดปีข้างหน้าก็ต้องย้อนดูที่ผ่านมา ซึ่งพัฒนาการประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ผลงานของคณะราษฎรทั้งหมด

และการต่อสู้ต่อมามาก็มีอุปสรรคต่างๆ จนทำให้ยังไม่ไปสู่สิ่งที่เราอยากให้มันเป็น เหมือนการเมืองวนอยู่ในอ่าง แต่ก็ยังเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การตื่นตัว ความเคลื่อนไหว และการเกิดพรรคการเมืองแนวใหม่ ทำให้เราสามารถมองเห็นอนาคตใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

มองไปข้างหน้าการเปลี่ยนแปลงที่หวังอาจจะไม่สมบูรณ์ แต่เชื่อว่ามันคงไม่เลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว ข้อเสนอหนึ่งซึ่งกษิดิศเสนอแนะไว้ในตอนท้ายว่า ในฐานะที่ อจ.ปรีดีเองอาจเรียกได้ว่าเป็นบุคคลไร้บ้าน บ้านที่ท่านเคยอยู่อาศัยถ้าไม่ใช่ท่านผู้หญิงพูนศุขซื้อ ก็เป็น บ้านหลวง

หรือที่รู้จักกันในนาม ทำเนียบท่าช้างซึ่งปัจจุบันอยู่ในครอบครองของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หวังว่าในโอกาศที่จะมีการฉลองพระชนมพรรษา ๘๐ ปีในหลวงข้างหน้า หากจะมีการบูรณะทำเนียบท่าช้างไว้เป็นอนุสรณ์สถานสำหรับ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สำคัญท่านหนึ่ง เพื่อเกียรติคุณแห่งชาติ ก็จะเป็นที่ปลื้มปิติต่อประชาชนยิ่งนัก

https://www.facebook.com/ThailandProgressiveMovement/videos/474522024951792