วันพฤหัสบดี, มกราคม 04, 2567

ฝ่ายค้านรุมตั้งฉายางบ 67 “เป็ดง่อย-เบี้ยหัวแตก” ด้านนายกฯ ระบุจะใช้ภาษีอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด - บีบีซีไทย สรุปการอภิปรายงบประมาณปี 2567 ในวันแรก


บีบีซีไทย - BBC Thai
5h ·

ฟังวิวาทะ “งบกระตุ้นเศรษฐกิจ” หายไปไหน?
.
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2567 เปิดมาวันแรกพร้อมกับคำถามจากฝ่ายค้านว่า ถึงแม้รัฐบาลจะย้ำถึงสถานะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่สังคมไทยเผชิญ แต่งบกระตุ้นเศรษฐกิจกลับหายไปจากเอกสารร่างงบประมาณ โดยเฉพาะงบสำหรับ “ดิจิทัลวอลเล็ต”
.
ส.ส.พรรคก้าวไกล ศิริกัญญา ตันสกุล ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มาพร้อมวาทะ “งบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์” ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนที่มาของแหล่งเงินสำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจริง โดยเปลี่ยนตั้งใจเปลี่ยนเป็นรูปแบบของ พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้กระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง แทนที่ที่จะเป็นรัฐบาล
.
อ่านสรุปการอภิปรายงบประมาณปี 2567 ในวันแรกได้ที่นี่ : https://bbc.in/3RInJ7H
.....

ฝ่ายค้านรุมตั้งฉายางบ 67 “เป็ดง่อย-เบี้ยหัวแตก” ด้านนายกฯ ระบุจะใช้ภาษีอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด



3 มกราคม 2024
บีบีซีไทย

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินรวม 3.48 ล้านล้านบาท จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 ม.ค. นี้

นี่ถือเป็นการจัดทำงบประมาณครั้งแรกของรัฐบาลผสม 11 พรรค รวม 314 เสียง ซึ่งฝ่ายค้านบอกว่า “ผิดหวังอย่างถึงที่สุด” และรุมตั้งสารพัดฉายา อาทิ “งบเป็ดง่อย” “งบเบี้ยหัวแตก”

ขณะนี้เลยกำหนดวันเริ่มต้นปีงบประมาณ 2567 ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 แต่เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 เป็นไปอย่างล่าช้า จึงส่งผลกระทบต่อกระบวนการจัดทำงบประมาณ และเมื่อรัฐบาล “เศรษฐา” เข้าบริหารราชการแผ่นดิน ก็มีคำสั่งให้มีทบทวนงบประมาณที่รัฐบาล “ประยุทธ์” จัดทำเอาไว้ โดยใช้เวลาราว 3 เดือน ในระหว่างนี้สำนักงบประมาณต้องแจ้งหน่วยรับงบประมาณให้ใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของงบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน

ในปี 2567 นี้ จะมีกฎหมายงบประมาณแผ่นดินเข้าสู่การพิจารณาถึง 2 ฉบับ ทั้งงบปี 2567 และปี 2568


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นำเสนอหลักการของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ต่อที่ประชุมสภา ก่อนเปิดให้สมาชิกอภิปราย 3 วัน โดยรัฐบาลกับฝ่ายค้านได้เวลาฝ่ายละ 20 ชม. ทั้งนี้พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งชนะการเลือกตั้ง แต่ตกที่นั่งผู้นำฝ่ายค้านในสภา เปิดอภิปรายภายใต้ธีม “วิกฤติแบบใด ทำไมจัดงบแบบนี้"

นายกฯ แจงขอตั้งงบเพิ่ม คาดเก็บภาษีได้เพิ่ม 11%

นายกฯ กล่าวนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 วงเงินรวม 3,480,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2566 จำนวน 295,000 ล้านบาท โดยเป็นการตั้งงบประมาณแบบขาดดุล ทั้งนี้รัฐบาลประมาณการรายได้สุทธิไว้ที่ 2,787,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.7% ของจีดีพี และกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 693,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.6% ของจีดีพี

การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีโอกาสขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7-3.7% อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1.7-2.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ของจีพีดี

นายเศรษฐารายงานฐานะการคลังต่อสภาว่า หนี้สาธารณะคงค้าง (ณ 31 ต.ค. 2566) มีจำนวน 11,125,428.1 ล้านบาท หรือคิดเป็น 62.1% ของจีดีพี ส่วนฐานะเงินคงคลัง (ณ 31 ต.ค. 2566) มีจำนวน 297,093.6 ล้านบาท โดย “รัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด”


รัฐมนตรีจาก 6 พรรคร่วมฯ ที่มีที่นั่งใน ครม. ประจำการในสภา ระหว่างการอภิปรายงบวันแรก 3 ม.ค.

ภาพรวมการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลนายเศรษฐา มีแนวทางไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อน ๆ โดยวงเงินก้อนใหญ่ถูกใช้ไปกับรายจ่ายประจำถึง 72.8% หรือ 2,532,826.9 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเสนอตั้งงบกลาง 606,765 ล้านบาท คิดเป็น 17.4% ของวงเงินงบประมาณ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16,295 ล้านบาท (ดูสรุปรายละเอียดงบปี 2567 ที่นี่)

“แม้ว่างบประมาณรายจ่ายปีนี้จะเพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้นกว่า 11.9% ทำให้สามารถจัดสรรงบไปลงทุนได้กว่า 717,722.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 4.1% และสามารถชดใช้เงินคงคลังและชำระคืนต้นเงินกู้ได้กว่า 118,361.1 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งจะทำเป็นการเตรียมพร้อมทำให้รัฐบาลมีกรอบในการลงทุนในระยะกลางและยาวมากขึ้นในปีงบประมาณ 2568 อีกด้วย” นายเศรษฐากล่าว

นายกฯ ย้ำว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินนโยบายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีเป้าหมายที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ลงทุนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเป็นไปตามกฎหมาย

(ย้อนดู สรุปสาระสำคัญของงบประมาณแผ่นดินยุครัฐบาล "ประยุทธ์ 2" ได้ที่นี่)
งบปี 2566
งบปี 2565
งบปี 2564
งบปี 2563

ชัยธวัชตั้งฉายา “รัฐบาลรวมการเฉพาะกิจ” ตั้งงบเบี้ยหัวแตก-สะเปะสะปะ-ไร้เป้าหมาย

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรก โดยบอกว่า ฟังนายกฯ แล้วทำให้นึกถึงบรรยากาศวันแถลงนโยบายของ ครม. ต่อรัฐสภา เมื่อ 11 ก.ย. 2566 เพราะเต็มไปด้วยคำสวยหรู นายกฯ คนก่อนหน้าก็มาอ่านแบบนี้ เอาภารกิจของทุกกระทรวงทุกหน่วยงานมาเรียบเรียง แล้วผลเป็นอย่างไร สวยหรูหรือไม่ ทุกคนทราบดี

ในวันแถลงนโยบาย นายกฯ บอกว่าประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญและมีนโยบายเร่งด่วน ต่อมากลางเดือน ก.ย. 2566 ครม. ให้ทบทวนและปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ใหม่ ทว่า 3 เดือนผ่านไป พบว่า เนื้อหาในกฎหมายงบประมาณฉบับนี้แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และไม่ยึดโยงกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

สำหรับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่นายชัยธวัชระบุว่า ไม่ปรากฏการเสนอตั้งงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย อาทิ นโยบายแก้ปัญหาหนี้สินทั้งภาคเกษตร ธุรกิจ และภาคประชาชน, นโยบายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว, นโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการลดค่าไฟ ที่ไม่มีการตั้งงบไปชดเชยหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), นโยบายให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งไม่มีการตั้งงบทำประชามติเอาไว้

เช่นเดียวกับนโยบายที่ถูกระบุว่าเป็น “เรือธง” ของรัฐบาล หรือมีมติ ครม. อนุมัติให้ดำเนินการแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัลวอลเล็ต, การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ, ลดภาษีรถไฟฟ้า (อีวี), ซอฟต์พาวเวอร์ ก็ไม่เห็นงบประมาณในส่วนนี้


ชัยธวัช ตุลาธน หารือกับ รังสิมันต์ โรม กลางสภา เมื่อ 3 ม.ค.

ผู้นำฝ่ายค้านวิจารณ์ว่า การจัดทำงบประมาณปีนี้เป็น “เบี้ยหัวแตก สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ เหมือนทำงานไม่มีเป้าหมายชัดเจน หลายเรื่องหน้าปกดูดี แต่พอไปดูไส้ในไม่ยึดโยงกับเป้าหมายทางนโยบาย ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิมเอามาเปลี่ยนปกใหม่” โดยมีโครงการใหม่เพียง 200 โครงการ จากทั้งหมด 2,000 โครงการที่ขอตั้งงบรายจ่ายไว้ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพราะมีหน่วยงานใหม่ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพื่อผลักดันวาระของรัฐบาล ด้วยสภาพแบบนี้จึงมองไม่เห็นวาระเป้าหมายทางนโยบาย

หลังไล่เลียงภาพรวมงบประมาณปี 2567 ที่เขาใช้คำว่า “น่าผิดหวังอย่างถึงที่สุด” นายชัยธวัชดึงประเด็นกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเรื่อง โดยบอกว่าเป็นผลจาก “รัฐบาลรวมการเฉพาะกิจ” ไม่มีวาระเป้าหมายทางนโยบายที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน เป็นการรวมการเฉพาะกิจเพื่อแบ่งปันอำนาจกัน แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ชั่วคราว จึงเห็นการตั้ง ครม. แบบผิดฝาผิดตัว เพราะไม่ได้แบ่งงานตามวาระเป้าหมาย แต่แบ่งตามโควตาการเมือง จากเคยบอก “คิดใหญ่ ทำเป็น” กลายเป็น “คิดไป ทำไป” “คิดสั้น ไม่คิดยาวมาก” “คิดอย่าง ทำอย่าง” ก็มี

“หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้จะมีวาระร่วมกันจริง ๆ ผมเห็นว่ามันคงเป็น ‘วาระเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางอำนาจของชนชั้นนำ’ เพราะสภาวะการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลชุดนี้ ก็ได้แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่านี่เป็นการรวมตัวกันเพื่อรักษาสถานะทางอำนาจของชนชั้นนำสังคมไทย รวมตัวกันเพื่อพยายามฝืนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เพื่อปกป้องพลังสังคมแบบจารีต และต่อต้านพลังทางสังคมใหม่ ๆ ที่ต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้” นายชัยธวัชกล่าว

จุรินทร์ชี้ “นักกู้ถุงเท้าสีชมพู” ต้องใช้เวลา 11 ปีถึงใช้หนี้เงินกู้ปี 67 หมด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นอีกคนที่ตั้งข้อสังเกตต่อการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้าไปถึง 9 เดือน เพราะ “รัฐบาลเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดเสียหลายเดือน” และไปจัดทำงบอีก 3 เดือน โดยเอางบที่รัฐบาล “ประยุทธ์” ทำไว้มารื้อทำใหม่หมด คาดว่ากว่ากฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ก็ราวเดือน พ.ค. จนกลายเป็นร่าง “งบเป็ดง่อย”


เหตุที่นักการเมืองฝ่ายค้ายรายนี้ตั้งฉายาให้แก่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ว่า “งบเป็ดง่อย” เพราะรัฐบาลมีเวลาใช้เงินแค่ 5 เดือน จากปกติ 12 เดือน เท่ากับมีเวลาใช้เงินเพียง 40% ถ้าดูค่าเฉลี่ยของประสิทธิภาพการใช้เงินย้อนหลังในรอบ 5 ปี จะพบว่ามีราว 70% เท่านั้น แม้นายกฯ พยายามตีปี๊บว่าเศรษฐกิจวิกฤต ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่

“แต่งบประมาณแผ่นดินที่มีผลต่อจีดีพี 18% ถ้างบแผ่นดินกลายเป็นเป็ดง่อย จะไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตตามเป้าหมายได้อย่างไร” นายจุรินทร์ตั้งคำถาม


จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ คือผู้อภิปรายเป็นคนแรกของพรรคประชาธิปัตย์ โดยตั้งฉายางบปีนี้ว่า “งบเป็ดง่อย”

สส.ปชป. ยังฉายภาพของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้เอาไว้ 4 ข้อ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
  • งบฉบับนี้ขาดดุลเหมือนเดิม และจะขาดดุลต่อไปตลอดอายุรัฐบาล 4 ปี เนื่องจาก ครม. มีมติ 13 ก.ย. 2566 ว่า จะทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง โดยปี 2567 ขาดดุล 693,000 ล้านบาท ปี 2568 จะขาดดุล 692,000 ล้านบาท ปี 2569 จะขาดดุล 721,000 ล้านบาท ปี 2570 ขาดดุล 751,000 ล้านบาท
  • งบของรัฐบาลปีนี้เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนงบลงทุนซึ่งเป็นหัวใจของการกระตุ้นเศรษฐกิจกลับน้อยลง โดยเหลือ 20.6% จากปีก่อน 21.7% และถ้าดูเม็ดเงิน 295,000 ล้านบาท ปรากฏว่าเอาไปเพิ่มให้งบประจำ 130,287.2 ล้านบาท คิดเป็น 44% ส่วนงบกระตุ้นเศรษฐกิจมีแค่ 28,242.3 ล้านบาท
  • งบกลาง แม้ดูผิวเผินสัดส่วนเหมือนลดลงเหลือ 17.4% จากปีก่อน 18.5% แต่เมื่อดูไส้ใน งบรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินที่เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี และบางพรรคที่วิจารณ์รัฐบาลก่อนๆ ไว้เยอะ ปรากฎว่าแทนที่จะลดลง กลายเป็นเพิ่มจากงบปี 2566 จัดไว้ 92,400 ล้านบาท มาปี 2567 เพิ่มเป็น 98,500 ล้านบาท “นี่ว่าแต่เขา อิเหนาทำหมดเลยครับ”
  • งบฉบับนี้ จาก “คิดใหญ่ ทำเป็น” กลับมาเป็น “คิดกู้ ทำกู้” เพราะงบประมาณ ปี 2567 ของรัฐบาล “ประยุทธ์” กู้ 5.93 แสนล้าน แต่พอมารัฐบาลนี้เอาไปรื้อกลับมาใหม่ กลายเป็นกู้เพิ่มเป็น 6.93 แสนล้าน หรือกู้เพิ่มขึ้นแสนล้านบาท
“พวกท่านเคยวิจารณ์รัฐบาลที่แล้วว่าเป็น ‘นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา’ เที่ยวนี้ผมว่ากลายเป็น ‘นักกู้ถุงเท้าสีชมพู’ ท่านกู้เพิ่มขึ้นแสนล้าน ผมขอถามครับว่าท่านเอาไปทำอะไรครับ ไปแบ่งเค้กกันยังไงที่กู้เพิ่มมาแสนล้านนี้ เสียเวลาไปทำ 3-4 เดือน” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า เฉพาะช่วงปี 2567 รัฐบาลมีแผนกู้เงินไม่น้อยกว่า 1,347,753 ล้านบาท ประกอบด้วย การกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 2567 และอื่น ๆ 793,753 ล้านบาท, กู้มาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาท, กู้ตามมาตรา 28 อีก 54,000 ล้านบาท ปัญหาที่จะตามมาคือ รัฐบาจะต้องตั้งงบประมาณใช้หนี้นี้ในปีต่อ ๆ ไป ทำให้ศักยภาพในการที่จะมีพื้นที่การคลังเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศลดน้อยลง ขณะที่ศักยภาพในการใช้หนี้ของรัฐบาลนี้ตามที่ปรากฏใน พ.ร.บ.งบประมาณเล่มนี้ รัฐบาลตั้งงบใช้หนี้เฉพาะเงินต้นอย่างเดียว 118,000 ล้าน

“ถ้ารัฐบาลใช้หนี้ตามศักยภาพนี้ เงินกู้ 1.35 ล้านล้านบาท หารด้วย 120,000 ล้านบาทต่อปี รัฐบาลนี้ต้องใช้เวลา 11 ปี ถึงจะแก้ปัญหาหนี้ที่ก่อขึ้นได้ แต่ 11 ปีรัฐบาลนี้ไปสวรรค์แล้วครับ สุดท้ายมันคือการสร้างหนี้ไว้ให้กับคนไทยทั้งประเทศ” นายจุรินทร์กล่าว


ศิริกัญญาชี้ พ.ร.บ.กู้เงินทำดิจิทัลวอลเล็ตเสี่ยง “กระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์”

“วิกฤติเศรษฐกิจแบบใด ทำไมงบไม่เหมือนมีวิกฤต” น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เริ่มต้นการอภิปรายของเธอด้วยการตั้งคำถาม เพราะที่ผ่านมา นายกฯ พูดย้ำในหลายครั้งหลายโอกาสว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตแล้ว

เมื่อมีวิกฤติก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเรือธงของรัฐบาลคือดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งประกาศเมื่อเดือน พ.ย. 2566 ว่ามีแพ็กเกจใหญ่ 600,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาท และนำเงินไปเติมในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีก 100,000 ล้านบาท โดยใช้เงินจาก 2 แหล่ง คือ พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีอีก 100,000 ล้านบาท แต่เมื่อดูในงบปี 2567 กลับไม่มีงบดิจิทัลวอลเล็ตแม้แต่บาทเดียว ส่วนกองทุนเพิ่มขีดฯ ก็ลดจาก 100,000 ล้านบาท เหลือเพียง 15,000 ล้านบาท ตกลงเรายังจะเชื่ออะไรได้อีกจากคำพูดของนายกรัฐมนตรี

“รัฐบาลกำลังฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่ พ.ร.บ.เงินกู้ เสมือนเอาไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว จะมีความเสี่ยงสูงมากหากไม่สามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้ได้ เท่ากับงบกระตุ้นเศรษฐกิจจะกลายเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

“วิกฤตแบบใด ทำไมงบกลาโหมเพิ่ม” คือคำถามที่สองจากรองหัวหน้าพรรค ก.ก. ทั้งนี้ลักษณะของงบในช่วงวิกฤต กระทรวงกลาโหมจะเสียสละด้วยการตัดลดงบประมาณของตัวเองเพื่อนำไปใช้พยุงเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง งบกลาโหมลดถึง 21% วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ลดลง 10% วิกฤติโควิด ลดลง 5% แต่ในวิกฤตของรัฐบาลเศรษฐา งบกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น 2%

นอกจากนี้ มีโครงการใหม่เพียง 236 โครงการ ใช้งบประมาณ 13,656 ล้านบาทจากงบทั้งหมดกว่า 830,000 ล้านบาท ดิฉันเข้าใจว่ารัฐบาลยังไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการทุกอย่างที่เป็นนโยบายของรัฐบาลได้ แต่โครงการใหม่ที่มีเพียงน้อยนิด ทำให้แทบไม่สามารถคาดหวังได้เลยว่าจะเจอกับนโยบายที่รัฐบาลสัญญาไว้ว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำสำเร็จภายใน 1 ปี

อย่างไรก็ตาม น.ส.ศิริกัญญายอมรับว่า ยังมีปัญหางบมรดกตกทอดจากรัฐบาลประยุทธ์ โดยรัฐบาลเศรษฐามีงบที่สามารถจัดสรรได้เอง บรรจุโครงการใหม่ ๆ ได้ไม่ถึง 1 ใน 4 ของงบทั้งหมด หรือประมาณ 740,000 ล้านบาท



เธอมองว่า นี่เปรียบเหมือน "ประยุทธ์ดาวน์ เศรษฐาผ่อนต่อ" ซึ่งถือว่าพลาดแล้ว พลาดอยู่ พลาดต่อ โดยจัดสรรงบผิดพลาด ตั้งงบประมาณการชดใช้เงินคงคลัง 120,000 ล้านบาท เพื่อเอาไปชดใช้งบบุคลากร บำเหน็จบำนาญ ค่าพยาบาล ไม่เพียงพอ ทั้งที่งบส่วนนี้เป็นส่วนที่รัฐบาลไม่ควรพลาด เพราะเป็นเรื่องที่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ 2 ปีที่ผ่านมา อาการหนักมาก ต้องไปควักเงินคงคลังมาใช้ แล้วต้องมาใช้คืนในภายหลัง นี่คือความผิดพลาดของรัฐบาลประยุทธ์ แต่ดูเหมือนรัฐบาลเศรษฐาจะพลาดต่อ

ในตอนท้าย เธอสรุปว่า “นี่หรือเป็นรัฐบาลที่เคยสืบทอดชื่อเสียงกันมาว่าเก่งด้านเศรษฐกิจ นี่หรือคือรัฐบาลที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘หาเงินได้ ใช้เงินเป็น’ กลับผิดพลาดในการจัดงบประมาณได้มากขนาดนี้ ทั้งตั้งงบไว้ไม่เพียงพอ ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ประมาณการรายได้ผิดพลาดแบบไม่น่าให้อภัยและไม่คิดจะแก้ มุ่งแต่จะใช้กลไกนอกงบประมาณในการบริหารประเทศ ไม่สนใจภาระทางการคลัง คงถึงเวลาที่ประชาชนต้องคิดใหม่ กับฝีมือการบริหารราชการของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย”

สส.ก้าวไกล จวกรัฐบาลก่อหนี้เพิ่มด้วยการ "รูดบัตรเครดิตแบงก์รัฐ"

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายเรื่องการการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้หนี้ครัวเรือนของรัฐบาล "เป็นงบไม่ตรงปก และเอาอดีตมาเบียดบังอนาคต"

ประเด็นแรก นายชัยวัฒน์ชี้ว่า การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนมีวงเงินกว่า 36,000 ล้านบาท ซึ่งตั้งเป้าพักหนี้เกษตรกร 2.7 ล้านราย เอสเอ็มอี 24,700 ราย และประชาชนทั่วไปได้รับการไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาหนี้สินอีก 47,000 ราย แต่เมื่อไปดูเอกสารงบประมาณปี 2567 กลับไปไม่ปรากฏ ไม่มีงบประมาณเกี่ยวกับการแก้หนี้เหล่านี้

สส.ก้าวไกลชี้ว่า ที่ผ่านมา ในช่วง 10 ปี พักหนี้ไปแล้ว 13 ครั้ง รัฐบาลจะอนุมัติให้ธนาคารรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารออมสิน ควักเงินออกไปก่อน เป็นการใช้เงินงบประมาณโดยการสร้างภาระหนี้ผูกพันที่รัฐต้องมาชดใช้ตาม มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า การไม่ตั้งงบประมาณมาทำมาตรการแก้หนี้ แต่ทำโดยเงินนอกงบประมาณโดยธนาคารรัฐ ในลักษณะ "นึกโครงการอะไรออกก็มารูดบัตรเครดิตกับแบงก์รัฐ" ส่งผลให้ภาระหนี้ของรัฐบาลตามมาตรา 28 ชนเพดานเกิน 30% แล้วอยู่ที่ 32% หนี้ส่วนนี้ยังไม่นับรวมเป็นรายการหนี้สาธารณะ อีกทั้งไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะแต่อย่างใด แม้แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่สามารถตรวจสอบได้

"มาตรการแก้หนี้ที่ออกมาจึงต้องตัดประชาชนที่เดือดร้อนบางกลุ่มออกไป ซึ่งได้แก่ พี่น้องเกษตรกร หนี้เสียเอ็นพีแอล 2 แสนกว่าคน ที่มียอดหนี้มากกว่า 3 แสนกว่าบาท มาตรการแก้หนี้ของรัฐบาลรวมพวกเขาเข้ามาไม่ได้ เพราะภาระหนี้ของรัฐบาลได้ชนเพดานวินัยการเงินการคลังไปเรียบร้อยแล้ว" นายชัยวัฒน์กล่าว และชี้ว่า การที่รัฐใช้เวลาชำระหนี้คืนยาวนานอาจส่งผลกระทบให้ธนาคารรัฐแสวงหากำไรกับกลุ่มลูกค้าเกษตรกรหรือเอสเอ็มอีที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ

ประเด็นถัดมา นายชัยวัฒน์ชี้ว่า การจัดสรรงบประมาณเพื่อการเกษตร เป็นการจัดสรรงบเพื่อโครงการในอดีต เช่น การชำระหนี้จากโครงการจำนำข้าวที่เกิดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน กว่า 37,100 ล้านบาท

"การจัดสรรงบแบบนี้ก็คือการเอาอดีตมาเบียดบัง สอดไส้ ทำให้งบที่จะจัดสรรเพื่อพัฒนาเกษตร เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรไทยจึงต้องลดน้อยลง... งบอะไรที่เป็นการใช้หนี้ตามภาระผูกพัน ก็ควรจะจัดให้ไปอยู่ในหมวดของการบริหารจัดการหนี้ไปเลย ให้มันตรงปก" นายชัยวัฒน์ระบุ

จุลพันธ์ชี้แจงภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะไม่ถึง 10%


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารสุข และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง คุบกับเพื่อน สส.

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ของฝ่ายค้านหลายครั้ง สรุปได้ดังนี้
  • กลไกการทำงานของภาครัฐ ต้องเริ่มจากคำขอของส่วนงานราชการ แต่เมื่อยังไม่มี กระบวนการเดินหน้าไม่ได้ เพราะไม่มีระยะเวลาที่ชัดเจน ส่วนงานราชการก็ไม่สามารถทำคำขอมายังสำนักงบประมาณได้ จึงไม่มีปรากฏอยู่ แต่กลไกทุกอย่างยังมีอยู่
  • ยอมรับว่าได้รับมรดกจากรัฐบาลก่อนหน้า งบผูกพันหลายตัวไม่สามารถตัดออกได้ แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ก็ได้มีการปรับให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันให้มากที่สุด
  • กรณีระบุว่ารัฐบาลประเมินการเก็บรายได้ผิดพลาด โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิต ตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาทำงาน ได้มีการออกมาตรการภาษีพลังงานน้ำมันดีเซล 2 รอบ จนถึงสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. รวมกันสูญเสียรายได้จากการลดภาษีพลังงาน 17,700 ล้านบาท ไม่ใช่ 60,000 ล้านบาท และเป็นการสูญเสียรายได้ของรัฐที่รัฐบาลพร้อมจะสูญเสียเพื่อช่วยเหลือประชาชน
  • การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนหนี้สาธารณะจะสูงเกินกว่า 10% ของภาระหนี้ รัฐบาลได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดย ณ สิ้นสุดปีงบประมาณ 2567 คาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยต่อภาระหนี้มีเพียง 8% ไม่ได้อยู่ในจุดที่น่าห่วงแต่อย่างใด และประเทศไทยยังอยู่ในจุดที่มีความสามารถในการชำระหนี้ระดับสูง
  • ธนาคารในกำกับของรัฐไม่มีการคิดดอกเบี้ยที่ขูดรีดประชาชน การคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมและถูกกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไปด้วยซ้ำ พร้อมยืนยันว่ามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลทำผ่านธนาคารแห่งรัฐหลายแห่งยังจำเป็นต้องใช้ เพื่อที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ
  • การจัดงบที่ตามใช้หนี้ในอดีตทำให้เบียดบังอนาคต เป็นภาระของรัฐบาลในอดีต แต่ยืนยันว่าเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร
ก้าวไกล ชี้งบซอฟต์พาวเวอร์ "แตกกระสานซ่านเซ็น" ทั้งที่เป็นนโยบาย “เรือธง”

การผลักดัน "ซอฟต์พาวเวอร์" ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาลนายเศรษฐา คือ หนึ่งในประเด็นที่ สส.ฝ่ายค้าน เปิดอภิปรายว่า "ผิดหวังกับรายการที่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ" ทั้งที่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการอีก 11 คณะ มาเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ไล่เรียงถึงปัญหาสำคัญของการจัดงบประมาณประจำปี 2567 เพื่อผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ตั้งแต่ปัญหาคำนิยาม ไปจนถึงความไม่ชัดเจนของนโยบาย

ในส่วนของคำนิยาม นายอภิสิทธิ์ชี้ว่า ทั้งรัฐบาล คนในรัฐบาลไปจน รัฐมนตรี ต่างอธิบายความหมายของซอฟต์พาวเวอร์ ไปในทางต่าง ๆ นานา คำนิยามตัวหนังสืออาจจะตรงกันว่าใช้เป็นสื่อในการโน้มน้าวชาติอื่นให้ชื่นชมและบริโภคสินค้าและบริการของประเทศไทย อย่างไรก็ดี แต่ละคนกลับแปลความหมายของซอฟต์พาวเวอร์ไปไม่เหมือนกันสักคนเดียว

สส.ก้าวไกล ชี้ว่า ปัญหาคำนิยามทำให้เกิดปัญหาอื่นที่ตามมาเมื่อไปอยู่ในเอกสารงบประมาณ การแปลงนโยบายออกมาเป็นงบประมาณจึงเกิดความสับสนและไร้ทิศทาง

"ชูว่าหมูกระทะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ วัวชนก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ช็อกมินต์เป็นซอฟต์พาวเวอร์ จัดสงกรานต์เป็นซอฟต์พาวเวอร์ 1 เดือน เรามีนกพิราบเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เรามีหนังสัปเหร่อ เรามีอะไรเต็มไปหมดเลย มันเลยทำให้หน่วยปฏิบัติหรือประชาชนทั่วไปงงว่า ตกลงแล้วซอฟต์พาวเวอร์แปลว่าอะไร สิ่งที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด มันหมายถึงแค่ตัววัฒนธรรม ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการที่จะไปทำเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว พร้อมกับบอกว่า

"เราจะเห็นโครงการที่แตกกระสานซ่านเซ็นไปคนละทิศคนละทาง เราได้เห็นงบที่มันสะเปะสะปะ เราไม่เห็นตัวชี้วัดที่เป็นภาพใหญ่ ๆ ของโครงการ และเมื่อถูกถามมาก ๆ ก็กลายเป็นว่า เราจะทำซอฟต์พาวเวอร์แบบไทย ๆ"



สส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล กล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลไม่บรรจุงบประมาณซอฟต์พาวเวอร์กว่า 5,000 ล้านบาท เข้าไปในงบ 2567 นั้น เป็นการสะท้อนว่ารัฐบาล "ไปตายเอาดาบหน้า" หรือไม่ ทั้งที่เรื่องนี้มีการอนุมัติตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของรัฐบาล

"ท่านรู้อยู่แล้วว่า ซอฟต์พาวเวอร์เป็นนโยบายเรือธงไม่ได้ด้อยกว่าดิจิทัลวอลเล็ต มันจะเป็นพายุหมุนต่อจากดิจิทัลวอลเล็ต แต่ทำไมระยะเวลา 114 วัน มีการแก้ไขงบ 2 ครั้ง เข้า ครม. แต่ 5,164 ล้านบาท ไม่ถูกบรรจุในงบประมาณปกติเลย"

ในช่วงท้าย นายอภิสิทธิ์ ยังวิจารณ์ถึงแผนโครงการซอฟต์พาวเวอร์ที่ตั้งไว้ใน 11 สาขา ที่ระบุว่าจะทำใน 100 วัน กลับไม่มีงบประมาณตามที่ประกาศไว้ เช่น งานเทศกาลระดับโลกที่จะมาจัดในไทย การเป็นเจ้าภาพงานดนตรีระดับโลก การแก้ พ.ร.บ.เกมและภาพยนตร์ ซึ่งไม่เกิดขึ้น ขณะที่ การขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ที่เคยประกาศว่าจะอบรมทักษะให้คนไทย 20 ล้านคน ก็ไม่อยู่ในงบ 2567 แต่อย่างใด

สำหรับกรอบเวลาในการอภิปรายงบปี 2567 ตามที่วิป 2 ฝ่ายตกลงกันไว้จะใช้เวลา 3 วัน รวมเวลาทั้งสิ้น 43 ชม. แบ่งเป็น เวลาของ สส.รัฐบาล และคณะรัฐมนตรี (ครม.) 20 ชม. ฝ่ายค้าน 20 ชม. ส่วนที่เหลือเป็นเวลาของประธานสภา/รองประธานสภา 3 ชม. โดยคาดว่าจะลงมติได้ในเวลา 22.00 น. ของวันที่ 5 ม.ค.