วันจันทร์, มกราคม 08, 2567

ไหว้พระเอไอกันไหม วัดเก่าแก่อายุ 400 ปีในญี่ปุ่น พยายามชักจูงคนรุ่นใหม่ให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและเข้าวัดมากขึ้นด้วยการใช้หุ่นยนต์นักบวช ทำไม AI อาจแย่งอาชีพนักบวชง่ายกว่า

(https://www.youtube.com/watch?v=QxRD6HvexHU)
ไหว้พระเอไอ คุณไว้ใจให้หุ่นยนต์เป็นที่พึ่งทางศาสนาไหม? - BBC News ไทย

Oct 31, 2021

ปัจจุบันเริ่มมีการใช้เอไอมาช่วยในการเผยแผ่ศาสนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการใช้หุ่นยนต์เป็นผู้นำทางศาสนา นำเทศน์ หรือให้คำแนะนำแบบเดียวกับพระหรือนักบวชในวัด


ชุมชนทางศาสนาทั่วโลกมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายประเทศเริ่มเปิดรับเรื่องนี้มากขึ้น

คุณจะวางใจให้หุ่นยนต์เป็นที่พึ่งทางศาสนาหรือไม่?.....
.....
พุทธศาสนา : หุ่นยนต์นักบวชที่วัดโคไดจิ มิติใหม่ของการเข้าวัดฟังธรรมในเกียวโต


พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ หรือนักบวช ?

15 สิงหาคม 2019
บีบีซีไทย

วัดเก่าแก่อายุ 400 ปีในญี่ปุ่น พยายามชักจูงคนรุ่นใหม่ให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและเข้าวัดมากขึ้นด้วยการใช้หุ่นยนต์นักบวช ที่ทางวัดเชื่อว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าของศาสนา แม้จะคนส่วนหนึ่งจะวิจารณ์ว่าหุ่นยนต์นักบวชรูปนี้เหมือน "ปิศาจของแฟรงเกนสไตน์" ก็ตาม

"โยมยังยึดติดกับอัตตา...ความปรารถนาทางโลกมิใช่ใดอื่นนอกจากจิตที่ลอยคว้างอยู่กลางทะเลลึก" เสียงเทศนาดังกังวานออกมาจากวัดโคไดจิที่มีชื่อเสียงในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

น้ำเสียงอันเยือกเย็น จนใครที่ได้สดับฟังคงคิดว่าเป็นของพระผู้ทรงศีล แต่หากเดินเข้าไปด้านในอาจตกตะลึง เมื่อพบว่า หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เปล่งออกมานั้น มาจากหุ่นยนต์นักบวชที่มีชื่อว่า "มินดาร์" (Mindar)

นักบวชจักรกลขนาดเท่ามนุษย์ที่มีต้นแบบเป็นพระโพธิสัตว์ ใบหน้า สองมือ และช่วงไหล่ หุ้มด้วยซิลิโคนเพื่อให้ดูคล้ายผิวหนังมนุษย์ แต่อวัยวะส่วนอื่น ๆ เผยให้เห็นจักรกลที่อยู่ภายในอย่างชัดเจน โดยสามารถขยับลำตัว แขน และศีรษะได้

เมื่อมินดาร์พนมมือและเปล่งเสียงสวดมนต์ ผนังและเพดานภายในห้องปฏิบัติธรรมจะมืดลง แล้วเกิดแสงสีจากเทคโนโลยีเลเซอร์ แสดงบทสวดภาษาญี่ปุ่น พร้อมคำแปลภาษาอังกฤษและจีน ก่อให้เกิดบรรยากาศเทศนาธรรมที่แปลกตา

หลวงพ่อเทนโช โกโตะ พระสงฆ์วัดโคไดจิ อธิบายว่า ตลอด 2,000 ปี พระพุทธรูปจำกัดอยู่เพียงปางต่าง ๆ คือ นั่ง ยืน หรือนอน เท่านั้น แต่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว จะแปลกอะไรหากพระพุทธรูปจะพูดและเคลื่อนไหวได้

"หุ่นยนต์ไม่มีวันตาย มันจะเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาต่อเนื่อง นี่แหละความงดงามของหุ่นยนต์ที่สามารถรักษาและสั่งสมองค์ความรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด" หลวงพ่อให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี

ด้วยเทคโนโลยีสมองกลอัจฉริยะ โกโตะเชื่อมั่นว่ามินดาร์จะยิ่งฉลาดและช่วยเหลือญาติโยมให้พบทางพ้นทุกข์ได้


หลวงพ่อเทนโช โกโตะ วัดโคไดจิ กับนักบวชร่วมวัดที่เป็นหุ่นยนต์

"หุ่นยนต์นี่แหละ กำลังเปลี่ยนแปลงพระพุทธศาสนา"

หุ่นยนต์นักบวช ตอบจริตคนรุ่นใหม่


แม้ปัจจุบัน ศาสนายังคงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น แต่โกโตะชี้ว่า สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว วัดเป็นเพียงแค่สถานที่จัดงานศพและงานแต่งงานเท่านั้น ท่านสรุปว่าเยาวชนเหินห่างศาสนามากขึ้น

โกโตะยอมรับว่า พระสงฆ์เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ยากขึ้นทุกที จึงหวังว่าหุ่นยนต์นักบวชจะดึงดูดให้ประชาชนสนใจธรรมะ และเข้าวัดมากขึ้น

หลวงพ่อย้ำว่า การสร้างมินดาร์ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และทางวัดอยากให้ผู้มาเยือนให้ความสำคัญกับแก่นแท้ของพระพุทธศาสนามากกว่าตัวหุ่นยนต์

"หุ่นยนต์ตัวนี้สอนแนวทางหลุดพ้นความทุกข์...พร้อมเป็นที่พึ่งให้แก่ทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ"


วัดโคไดจิ อายุกว่า 400 ปี ในเมืองเกียวโต

วัดเก่าแก่อายุ 400 ปีแห่งนี้ เริ่มใช้หุ่นยนต์มินดาร์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งผลสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งโอซากาพบว่า ผลตอบรับจากประชาชนนั้นหลากหลาย และมีจำนวนไม่น้อยที่ตกใจที่หุ่นยนต์นักบวช "เหมือนมนุษย์" มาก

"ฉันรู้สึกถึงความอบอุ่นบางอย่าง ที่ไม่เคยรู้สึกกับหุ่นยนต์ทั่วไป" ผู้ตอบแบบสอบถามรายหนึ่งระบุ

"ตอนแรก รู้สึกแปลก ๆ อยู่เหมือนกัน แต่บทสวดของหุ่นยนต์ตัวนี้เข้าใจได้ง่าย" และ "ทำให้ฉันคิดถึงความผิดชอบชั่วดีได้จริง ๆ"

ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่งมองว่าหุ่นยนต์นักบวช "ดูปลอม"


ดูปลอม ?

"บทสวดฟังแล้วอึดอัด" ผู้เข้าวัดรายหนึ่งบรรยายความรู้สึก "การแสดงสีหน้าของหุ่นยนต์ มันดูเป็นเครื่องจักรเกินไป"

ปิศาจของแฟรงเกนสไตน์


หุ่นยนต์นักบวชมินดาร์เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างวัดโคไดจิและฮิโรชิ อิชิกุโระ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ของมหาวิทยาลัยแห่งโอซากา ด้วยเงินทุนการพัฒนาเกือบ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 33 ล้านบาท

นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของการใช้หุ่นยนต์นักบวช โดยมองว่า เป็นการบั่นทอนความน่าเลื่อมใสของศาสนา

"ชาวตะวันตกไม่ค่อยปลื้มหุ่นยนต์นักบวชของเรา" โกโตะอธิบายและเล่าว่า นักท่องเที่ยวตะวันตกบางคนถึงกับเปรียบเทียบมินดาร์ว่าเหมือนกับปิศาจของแฟรงเกนสไตน์


ปิศาจของแฟรงเกนสไตน์ในภาพยนตร์เก่าเรื่องหนึ่งในอังกฤษ

กลับกัน "คนญี่ปุ่นไม่ค่อยมีอคติต่อหุ่นยนต์ อาจเป็นเพราะพวกเราเติบโตมาพร้อมกับการ์ตูนหลายเรื่องที่นำเสนอหุ่นยนต์ว่าเป็นเพื่อน"

ท้ายสุด โกโตะปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าวัดโคไดจิกำลังลบหลู่ศาสนา "จะลบหลู่ได้อย่างไร ในเมื่อหุ่นยนต์ไม่มีวิญญาณ"

"พระพุทธศาสนาไม่เคยสอนให้เชื่อในพระเจ้า แต่สอนให้เราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้นมันไม่สำคัญหรอกว่า เราจะมองเห็นธรรมะได้จากที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกล เศษเหล็ก หรือต้นไม้"


ในส่วนของการสร้างมินดาร์ในรูปของพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา ทางวัดชี้แจงว่า เจ้าแม่กวนอิมทรงจำแลงกายได้ตามใจนึก และหุ่นยนต์ตัวนี้ก็เปรียบเสมือน "ร่างจุติ" ล่าสุดของพระองค์
.....

สุรพศ ทวีศักดิ์
1d
·
ทำไม AI แย่งอาชีพนักบวชง่ายกว่า
เพราะนักบวชทำอะไรซ้ำๆ แบบเดินๆ เช่น สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นบทเดิมๆ สวดมนต์ในพิธีทำบุญต่างๆ บทเดิมๆ งานสวดศพก็สวดบทเดิมๆ ซ้ำหลายรอบ (ทั้งๆ ที่คนสวดและคนฟังก็ไม่รู้ความหมาย เพราะแปลไม่ออก) สอนแบบเดิมๆ จากความจำจากคัมภีร์ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการทำซ้ำแบบเดิมๆ
โดยเฉพาะการแสดงธรรมของนักบวชคือ #การสื่อสารทางเดียวแบบเดิมๆ พวกเขาจึงเป็น #หุ่นยนต์ที่มีชีวิต อยู่แล้ว ไม่มีอะไรพลิกแพลง เป็นศิลปะ หรืองานสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ หรือมี "หัวใจ" ที่สือถึงคนอื่นมากนักหรอกสำหรับ #นักสื่อสารทางเดียว ที่ขาดการถกเถียงแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ แบบคนเท่ากัน และนักบวชก็ขาดกิจกรรมช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อคนอื่นๆ ที่ถูกดขี่จากระบบอำนาจอยุติธรรมและรุนแรงที่พวกนักบวชสนับสนุน
ดังนั้น พระ AI จึงทำหน้าที่แบบนักบวชได้ดีกว่าพระคน
.....

ที่มา
(https://www.youtube.com/watch?v=QxRD6HvexHU)
(https://www.bbc.com/thai/international-49344782)
(https://www.facebook.com/suraphotthaweesak/posts/7006474052779207?ref=embed_post)