พรุ่งนี้ ๒๑ ธันวา มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภา ๓ ฉบับ คือร่างของรัฐบาลเศรษฐาซึ่งเพิ่งเคาะออกมาเมื่อ ๑๙ ธันวา กับร่างของพรรคก้าวไกลที่เสนอไว้ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหา เป็นร่างเดียวกับที่เคยเสนอในสภาชุดก่อน ปี ๖๖
ยังมีร่างฯ ฉบับที่ ๓ ซึ่งเสนอโดยการเข้าชื่อของประชาชนเกิน ๑ หมื่นคน เรียกว่าฉบับ ‘ภาคประชาชน’ ได้รับการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาวันนี้ (๒๐ ธันวา) ร่างฯ ทั้งสามฉบับมุ่งหมายให้ “คนเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้”
โดยแก้ไขและเพิ่มเติมหลักการ “ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสิทธิ หน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายหญิง สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ”
‘ฐานเศรษฐกิจ’ รายงานเปรียบเทียบความเหมือนและต่างกันของทั้งสามฉบับ โดยรวบรวมจากข้อมูลต่างๆ ของ ภาคีสีรุ้ง ไอลอว์ และประกาศจากทำเนียบรัฐบาล ดังนี้
เริ่มจากประเด็นการหมั้น ฉบับประชาชนต่างจากเพื่อนๆ ไม่มีการแก้ไข “เนื่องจากเห็นว่า สามารถสมรสได้โดยไม่ต้องหมั้น” แต่เรื่องอายุการสมรส ดูเหมือน สมรักษ์ คำสิงห์ เป็นผู้มาก่อนกาล เพราะฉบับของรัฐบาลให้สมรสได้ตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี
แต่ฉบับของก้าวไกลและประชาชน กำหนดให้สมรสได้เมื่ออายุ ๑๘ ปีเหมือนกัน เช่นเดียวกับกรณี ผู้รักษาการร่างกฎหมายนี้ ฉบับก้าวไกลและประชาชนให้รัฐมนตรีว่าการมหาดไทยว่าการเหมือนกัน แต่ของรัฐบาลให้นายกรัฐมนตรีรักษาการ
หลายส่วนฉบับของรัฐบาลเหมือนกับก้าวไกล ได้แก่การระบุเพศ ต่างให้เรียกว่าบุคคลสองฝ่าย ๒ คน ขณะฉบับประชาชนให้เรียกว่า ๒ บุคคล กับเรื่องบทเฉพาะกาล ทั้งรัฐบาลกับก้าวไกลไม่มีบทเฉพาะกาลและการแก้ไขก กม.อื่น แต่ฉบับประชาชนมี
ระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายก็เหมือนกัน ของรัฐบาลและก้าวไกลให้ ๑๒๐ วันหลังประกาศราชกิจจาฯ ฉบับประชาชนกำหนดเพียง ๖๐ วัน รวมทั้งให้เปลี่ยนการเรียกบิดามารดาเป็นบุพการี ขณะฉบับรัฐบาลกับก้าวไกลยังคงเดิมตามกฎหมาย ป.พ.พ. ไม่เปลี่ยน
มีอยู่ประเด็นหนึ่ง ซึ่งทั้งสามฉบับระบุเหมือนกันหมด ก็คือสถานะหลังจากจดทะเบียนสมรส ให้เรียกบุคคลทั้งสองว่า ‘คู่สมรส’ อย่างเต็มภาคภูมิ
(https://www.thansettakij.com/news/583768 และ https://twitter.com/MatichonOnline/status/1737280095746933174)