วันอาทิตย์, ธันวาคม 17, 2566

แบบนี้ได้เหรอ เมื่อสำนวน “ตากใบ” หายไปอยู่ใต้พรม

https://twitter.com/MFPThailand/status/1735209022876426597
พรรคก้าวไกล - Move Forward Party @MFPThailand

[ เมื่อสำนวน “ตากใบ” หายไปอยู่ใต้พรม ] สังคมไทยคือสังคมที่ผู้มีอำนาจพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ประชาชนลืมโศกนาฏกรรม โดยเฉพาะในสิ่งที่รัฐเป็นคนก่อต่อประชาชน หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “ตากใบ” กรณีการสลายการชุมนุมในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน กลายเป็นหนึ่งในชนวนสำคัญที่ขยายความขัดแย้งระหว่างรัฐกับขบวนการในพื้นที่ กลายเป็นโศกนาฏกรรมต่อเนื่องมายาวนานกว่า 19 ปีแล้ว 
@ #ตากใบ #ก้าวไกล

ผู้มีประสบการณ์ในกระบวนการสร้างความสมานฉันท์และการคลี่คลายความขัดแย้งกรณีสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก ต่างมีความเห็นตรงกันว่ากระบวนการสร้างสันติภาพ พาสังคมออกจากความขัดแย้ง ไม่ว่าขนานใหญ่หรือเล็ก จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเหตุการณ์ต่างๆ ถูกทำให้ลืมหรือสูญหายไป โดยไม่มีการพูดความจริง และการรื้อฟื้นความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสียทุกฝ่าย ที่น่าใจหายคืออีกไม่ถึง 10 เดือนข้างหน้านี้ กรณีดังกล่าวในฐานะคดีอาญาที่สามารถนำความยุติธรรมมาสู่ผู้สูญเสียได้ กำลังจะหมดอายุความลง

ในวันที่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ สถานะของความจริงในกรณีตากใบเป็นอย่างไรบ้างแล้ว? 
นั่นคือคำถามสำคัญที่นำมาสู่กระบวนการในชั้นกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค. 2566) ที่ รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เข้าร่วมในการประชุมที่มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญาในกรณีดังกล่าวมาสอบถาม

ซึ่งเรื่องที่น่าตกใจ ก็คือเมื่อมีการถามหาถึงสำนวนคดีอาญาที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุม ที่ศาลมีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตเสียชีวิตจากการ “ขาดการหายใจ” โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นการเสียชีวิตโดยการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่คนใดเป็นการเฉพาะ ที่ต้องส่งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินคดีสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิด ฝ่ายผู้ชี้แจง ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, สำนักงานอัยการภาค 9, สภ.ตากใบ, สภ.หนองจิก และ ศอ.บต. ต่างตอบว่าสำนวนดังกล่าวนั้น “ไม่มี ไม่รู้อยู่ที่ไหน”

แม้ในที่ประชุมจะรับปากในภายหลังจากฝั่งผู้ชี้แจง ว่าจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจกับอัยการ และจะมีการแจ้งความคืบหน้าต่อ กมธ. ภายในหนึ่งเดือนคือวันที่ 13 ม.ค. 2567 แต่การที่สำนวนคดีดังกล่าว “หายไป” ตามปากคำของตัวแทนทุกหน่วยงานข้างต้น ก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง สำหรับกระบวนการยุติธรรมของไทย

สำนวนคดีดังกล่าว เดิมทีก็เป็นข้อจำกัดอยู่แล้วในการหาคนมารับผิดชอบต่อความตายของผู้สูญเสียทั้ง 85 ศพ เพราะไม่มีการเจาะจงว่าเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ที่ขนคนอัดเข้าไปนอนทับกันเป็นชั้นๆ บนรถบรรทุก เดินทางหลายชั่วโมงกว่าจะถึงค่ายอิงคยุทธบริหารอันเป็นสถานที่ควบคุมตัว จนคนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต

แต่การที่สำนวนดังกล่าวหายไป สำหรับรอมฎอน คืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้กระบวนการสำคัญที่สุดในวันนี้ คือการดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนทำให้เกิดผู้เสียชีวิต เป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น ในกระบวนการภายในประเทศปัจจุบัน และเป็นไปได้มากว่าคดีอาจหมดอายุความก่อนที่จะส่งไปถึงศาลให้ทันการณ์ได้

ซึ่งความไม่ทันการณ์ในการเดินหน้าทวงความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียนี้ อาจจะกลายเป็นการทับถมปมปัญหาที่มีมาแต่เดิมให้หนักหน่วงขึ้น ไม่สามารถคลายปมปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างข้อจำกัดในการแสวงหาสันติภาพในอนาคตได้

รอมฎอน จึงเสนอว่า กมธ. ควรตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาแนวทางการคืนความยุติธรรมผ่านกลไกศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรศึกษาแนวทางในการดำเนินคดีอาญาระหว่างประเทศ ที่แม้ไทยจะยังไม่ได้ลงนามในสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม แต่จากบทเรียนกรณีความขัดแย้งในที่อื่นของโลก มันยังคงเป็นไปได้ที่จะมีการขยายขอบเขตในกรณีนี้ย้อนหลังได้

ตากใบ ไม่ใช่กรณีปัจเจกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นความทรงจำหมู่ของสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้และคนมลายูไปแล้ว และเป็นความทรงจำที่จะยังคงสร้างความเจ็บปวดและบาดแผลในใจส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป ตราบที่ความยุติธรรมยังคงไม่ปรากฏ

คำถามสำคัญ คือรัฐไทยโดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน มองเห็นมันในฐานะ “เดดล็อก” สำคัญที่ต้องถูกปลดปล่อยเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนใต้ หรือจะมองเห็นมันเหมือนที่รัฐบาลที่ผ่านๆ มามองเห็นมันเป็นมาโดยตลอด คือในฐานะของความทรงจำที่ต้องถูกลบและทำให้เลือนหายไปจากสังคมไทยให้ได้?

สิ่งที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สามารถพิสูจน์ความจริงใจต่อการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถทำได้ในทันที ก็คือการเร่งรัดให้มีการทำอะไรที่มากพอในเวลาที่เหลืออยู่ไม่ถึง 10 เดือนข้างหน้า ก่อนที่คดีตากใบจะหมดอายุความลง ซึ่งก่อนอื่นใดเลย การเอาสำนวนที่หายไป หรือถูกซุกซ่อนเอาไว้อยู่ใต้พรม (?) มาคืนเสียก่อน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในเวลานี้

.....