วันอาทิตย์, ธันวาคม 03, 2566

จักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต เป็นปีศาจร้ายเทียบเท่า “ฮิตเลอร์-สตาลิน” จริงหรือไม่


จักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต เป็นปีศาจร้ายเทียบเท่า “ฮิตเลอร์-สตาลิน” จริงหรือไม่

นีล อาร์มสตรอง
บีบีซี คัลเจอร์
15 พฤศจิกายน 2023

ก่อนที่ภาพยนตร์เกียรติประวัติ “จักรพรรดินโปเลียน” จะเข้าฉาย ริดลีย์ สกอตต์ ผู้กำกับมือฉมัง ได้สร้างความโกรธเคืองต่อชาวฝรั่งเศส เพราะเขาเปรียบเทียบนโปเลียนกับฮิตเลอร์ และสตาลิน แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่ นี่เป็นเพียงการสร้างกระแสเพื่อโปรโมตภาพยนตร์หรือไม่

คำกล่าวของ ริดลีย์ สกอตต์ มีขึ้นในช่วงการเดินสายโปรโมตภาพยนตร์เรื่องใหม่ล่าสุดของเขา ที่จะเข้าฉายวันที่ 22 พ.ย. นี้

ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง “จักรพรรดินโปเลียน” ถูกเก็งว่าจะเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ที่บอกเล่าถึงการขึ้นสู่บัลลังก์จักรพรรดิของนโปเลียน ที่รับบทโดย วาคีน ฟีนิกซ์ และเจาะลึกถึงความสัมพันธ์ที่เปราะบางกับพระมเหสี โจเซฟีน (รับบทโดย วาเนสซา เคอร์บี)

กระแสตอบรับของหนังจะดีตามคาดหรือไม่ ยังต้องรอดูในอีกต่อไป แต่ตอนนี้ ประชาชนทั่วโลกโดยเฉพาะฝรั่งเศส กำลังพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นผลจากความเห็นของสกอตต์ ในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสารภาพยนตร์ “เอ็มไพร์” ว่า

“ผมเปรียบ (นโปเลียน) เหมือนอเล็กซานเดอร์มหาราช, อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และสตาลิน ฟังนะ นโปเลียนทำเรื่องแย่ ๆ เอาไว้มาก” สกอตต์ ประกาศ พร้อมแสดงความเห็นถึงตัวละครที่เคยเป็นอดีตกษัตริย์ผู้นำของฝรั่งเศส


“Quoi? Arrête! (อะไรนะ หยุดพูดเลย!)” ชาวฝรั่งเศสไม่รอช้า ตอบโต้และพยายามชี้แจงข้อเท็จจริงใส่ ผู้กำกับชาวสหราชอาณาจักรคนนี้

“ฮิตเลอร์ และสตาลิน มีแต่ทำลายล้าง ไม่ได้สร้างสิ่งดี ๆ ขึ้นมาเลย” ปิแอร์ บรันดา ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของมูลนิธินโปเลียน ให้สัมภาษณ์กับเทเลกราฟ “นโปเลียนสร้างสิ่งต่าง ๆ มากมายที่ยังดำรงอยู่มาถึงวันนี้”

เทียร์รี เลนต์ซ จากมูลนิธินโปเลียนเช่นกัน ระบุว่า “นโปเลียนไม่ได้ทำลายฝรั่งเศสหรือยุโรป มรดกของเขาได้รับการยกย่อง ตอบรับ และสานต่อ”

แล้วความจริงในเรื่องนี้คืออะไรกันแน่ ริดลีย์ สกอตต์ กล่าวโดยอ้างอิงพื้นฐานอะไรกันแน่

นโปเลียน เป็นผู้บัญชาการทหารที่ปราดเปรื่อง ยึดอำนาจในปี 1799 ในห้วงเวลาที่การเมืองฝรั่งเศสสั่นคลอน ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส กลุ่มผู้ชื่นชอบนโปเลียน มองว่า เขาสร้างให้ฝรั่งเศสเข้าสู่ระบบคุณธรรมนิยมมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ในระบอบในอดีตก่อนช่วงการปฏิวัติ

นโปเลียนรวมศูนย์การบริหารงานแผ่นดิน, ปรับโครงสร้างระบบธนาคาร, ยกเครื่องการศึกษา และบังคับใช้ประมวลกฎหมายนโปเลียน ที่เปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายครั้งใหญ่ รวมถึงกลายเป็นแม่แบบกฎหมายสำหรับอีกหลายประเทศ


นโปเลียนสถาปนาจักรวรรดิที่เกรียงไกร ครอบคลุมพื้นที่จากคาบสมุทรไอบีเรีย (ในปัจจุบันคือที่ตั้งของสเปนและโปรตุเกส) ไปจนถึงกรุงมอสโกของรัสเซีย ในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด

แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ก่อสงครามนองเลือดไปทั่วยุโรป และสถาปนาจักรวรรดิที่เกรียงไกร ครอบคลุมพื้นที่คาบสมุทรไอบีเรีย ไปถึงกรุงมอสโก ในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด

ในปี 1812 พื้นที่เดียวในยุโรปที่ไม่ได้อยู่ใต้การควบคุมของนโปเลียน ทั้งการควบคุมโดยตรง ผ่านรัฐที่เขาอยู่เบื้องหลัง หรือผ่านพันธมิตรของเขา คือ สหราชอาณาจักร โปรตุเกส สวีเดน และอาณาจักรออตโตมัน

แต่ในที่สุด นโปเลียนถูกกำราบลงในปี 1815 โดยพันธมิตรนำโดยสหราชอาณาจักร ในยุทธการวอเตอร์ลู

นโปเลียน และสงครามนโปเลียน ยังคงเป็นสิ่งที่ชาวสหราชอาณาจักรจำฝังใจในยุคนั้น มาจนถึงปัจจุบัน นักวาดการ์ตูนเองก็ยังรู้สึกคลั่งไคล้ในตัวเขาอีกด้วย เช่น
  • นโปเลียน ปรากฏบทบาทเบื้องหลังอยู่ในนวนิยายเรื่อง “สาวทรงเสน่ห์” (Pride and Prejudice) ของเจน ออสเตน ตีพิมพ์ในปี 1813 ยกตัวอย่าง บทหนึ่งที่กล่าวถึงกลุ่มติดอาวุธที่ถูกขับไล่ออกไป จากการรุกรานของนโปเลียน
  • ชาร์ล็อตต์ บรอนเต นักประพันธ์และกวีชาวอังกฤษ ครอบครองเศษชิ้นส่วนโลงศพของนโปเลียน ที่ได้รับมาจากอาจารย์ของเธอในกรุงบรัสเซลส์
  • นวนิยายสืบสวนยอดนิยม “เชอร์ล็อค โฮล์มส์” ของอาร์เธอ โคนัน ดอย เปรียบตัวร้าน ศาสตราจารย์โมริอาตี ว่า “นโปเลียนแห่งโลกอาชญากรรม”
  • นวนิยาย แอนิมอลฟาร์ม ของจอร์จ ออร์เวลล์ ตีพิมพ์ในปี 1945 หมูที่กลายเป็นเผด็จการ ถูกเรียกว่า นโปเลียน
แต่การเรียกนโปเลียนว่าเผด็จการ และเปรียบเขากับผู้นำเผด็จการฉาวโฉ่คนอื่นๆ เป็นธรรมกับนโปเลียนหรือไม่

มุมมองที่แตกต่างต่อนโปเลียน

ฟิลิป ดไวเออร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งนิวคาสเซิลในออสเตรเลีย และเป็นผู้เขียนอัตชีวประวัติความยาว 3 เล่มของนโปเลียน ไม่คิดเหมือนริดลีย์ สกอตต์

“คุณอาจถกเถียงได้ว่านโปเลียนเป็นทรราชหรือไม่ ซึ่งผมมองว่าเขาเอนเอียนไปทางเป็นการเป็นทรราชมากกว่า แต่เขาไม่เป็นเหมือนฮิตเลอร์ หรือสตาลิน ที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมที่กดขี่ประชาชนของตนเองอย่างโหดเหี้ยม ที่เป็นสาเหตุให้ผู้คนนับหลายล้านต้องตาย”


ในระยะเวลาการครองอำนาจของนโปเลียน เขาได้ก่อสงครามไปทั่วยุโรป ขณะเดียวกันเขายังริเริ่มการปฏิรูปในหลายด้านในฝรั่งเศส

เขาอธิบายต่อว่า มีบางคนที่โต้แย้งว่า จักรวรรดิฝรั่งเศสในสมัยนโปเลียน กลายเป็น “รัฐตำรวจ” เพราะมีการใช้ระบบที่ซับซ้อนผ่านผู้แจ้งเบาะแสลับ ๆ เพื่อให้รัฐบาลรับทราบถึงความเห็นของสาธารณชน

“แต่มีคนจำนวนไม่มาก มีเพียงขุนนางจำนวนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแผนโค่นระบอบนโปเลียน รวมถึงสื่อมวลชนไม่กี่คน ที่ถูกนโปเลียนสั่งประหารชีวิตฐานเป็นปฏิปักษ์ หากผมจะเปรียบนโปเลียนกับใครก็ตาม ผมจะย้อนประวัติศาสตร์ไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ก่อสงครามอันไม่ชอบธรรมหลายครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน”

“นโปเลียนเองก็ก่อสงคราม ซึ่งถกเถียงกันได้ว่าเป็นสงครามที่จำเป็นหรือไม่ เพราะทำให้ผู้คนหลายล้านคนเสียชีวิต ถึงแม้ว่าเราก็ยังไม่ทราบว่าพลเรือนถูกสังหารโดยตรงหรือทางอ้อมจากผลของสงคราม”

แอน-เอลิซาเบธ มูว์เต็ต นักข่าวชาวฝรั่งเศส และคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์เทเลกราฟ เห็นด้วยว่า ไม่ควรเปรียบนโปเลียนกับฮิตเลอร์ หรือสตาลิน “นโปเลียนไม่มีค่ายกักกัน” เธอบอกกับบีบีซี “เขาไม่ได้สังหารหมู่ชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง ใช่ มันมีเรื่องตำรวจการเมือง แต่คนทั่วไปก็มีชีวิตตามแบบที่ต้องการ และพูดสิ่งที่อยากพูดได้”


นักข่าวชาวฝรั่งเศสรายนี้บอกว่า หลัก ๆ แล้ว คนฝรั่งเศสมองนโปเลียนว่า เป็นนักปฏิรูป

มูว์เต็ต ระบุว่า ชาวฝรั่งเศสมองนโปเลียนในฐานะนักปฏิรูปมากกว่า

“เขามีจิตใจที่ล้ำเลิศ เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดระบบกฎหมายและสถาบันต่าง ๆ ที่เรายังใช้อยู่ในปัจจุบัน”

“เราอยากคิดว่า ผู้คนจำนวนมากมีความสุขมากกว่าอยู่ใต้ระบอบเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นเท็จเสียหมด”

แต่สำหรับ ชาร์ลส์ เอสเดล ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งลิเวอร์พูล และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับนโปเลียนหลายเล่ม รวมถึง “สงครามนโปเลียน: ประวัติศาสตร์สากล ปี 1803-15” มองประเด็นนี้ต่างออกไป

“ผมมองนโปเลียนเป็นเสมือนแม่ทัพ” เขากล่าว “ชายที่ขับเคลื่อนด้วยความทะเยอทะยานส่วนตัว เป็นคนที่โหดเหี้ยมอย่างที่สุด เป็นชายที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่า เขาจำเป็นต้องสร้างฝรั่งเศสให้เป็นอย่างไร และต้องสร้างยุโรปแบบไหน เพื่อขับเคลื่อนเครื่องจักรสงครามของเขา การไปคิดว่าเขาเป็นผู้กู้อิสรภาพ ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล นั่นล้วนเป็นเรื่องของตำนานนโปเลียนทั้งสิ้น”


ร็อด สตีเกอร์ แสดงเป็นนโปเลียนในภาพยนตร์เรื่อง วอเตอร์ลู จนกลายเป็นภาพจำของนโปเลียนในยุคสมัยใหม่

“การโฆษณาชวนเชื่อของนโปเลียน เป็นอาวุธที่ทรงพลังในจักรวรรดิของเขา และปั่นกระแสว่า นโปเลียนต้องก่อสงครามเพราะอาณาจักรอัลเบียน (อีกชื่อของสหราชอาณาจักร) จอมทรยศ” เขาเสริม “นโปเลียนทำเหมือน มันไม่ใช่ความผิดของฝรั่งเศส แต่ทุกคนนั่นแหละที่ทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศส นี่เป็นตำนานนโปเลียนที่ยังถูกถ่ายทอดและเล่าซ้ำมาจนถึงทุกวันนี้ จนเหมือนนโปเลียนมีตัวตนในปัจจุบัน เขายังกระจายตำนานของเขา นอกหลุมศพ ยังคงควบคุมว่าผู้คนจะมองเขาอย่างไร”

แต่ เอสเดล ปฏิเสธการเปรียบนโปเลียนกับฮิตเลอร์และสตาลิน

“แม้นโปเลียนทำผิดพลาดมาหลายเรื่องและยังถือว่าเป็นคนที่น่ารังเกียจคนหนึ่ง แต่เขาก็ไม่ได้มีอุดมคติเหยียดเชื้อชาติเหมือนระบอบนาซี” เขากล่าว

“นโปเลียนไม่ได้มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นโปเลียนไม่ได้สั่งการสังหารหมู่ ถ้าจะให้ความเป็นธรรมกับนโปเลียน จำนวนนักโทษทางการเมืองตลอดการปกครองของเขาค่อนข้างจำกัด การนำนโปเลียนไปเปรียบกับฮิตเลอร์ และสตาลิน จึงเป็นเรื่องเหลวไหลทางประวัติศาสตร์”


ริดลีย์ สกอตต์ ในฉากถ่ายทำกับวาคีน ฟีนิกซ์

แน่นอนว่า ริดลีย์ สกอตต์ ผู้กำกับมือทอง ที่สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง เบลดรันเนอร์, แกรดิเอเตอร์, เทลมา แอนด์ ลุยส์, เอเลียน และอีกหลายเรื่อง เขาอยู่ในธุรกิจนี้มานานจนพบจะรู้ว่า จะโปรโมตภาพยนตร์ของเขาอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น ภาพยนตร์นโปเลียนเรื่องนี้ ยังเป็นการต่อยอดจากภาพยนตร์เรื่อง The Duellists ของสกอตต์ (เกี่ยวกับความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่ 2 คนในฝรั่งเศสยุคนโปเลียน) ที่เผยแพร่เมื่อ 40 ปีก่อน

จึงมีความเป็นไปได้ว่า สกอตต์ รู้ว่าหากพูดถึงฮิตเลอร์และสตาลิน จะสร้างกระแสให้คนสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้

แล้ว เอสเดล ล่ะ จะไปชมภาพยนตร์นโปเลียนหรือไม่

“ผมคิดว่าคงต้องไป แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะดีหรือไม่ เพราะคนเล่นเป็นนโปเลียน ไม่ใช่ ร็อด สตีเกอร์” เขากล่าวติดตลก “ภาพยนตร์เรื่อง วอเตอร์ลู เมื่อปี 1970 มันไม่ดีหรอก แต่บทนโปเลียนของสตีเกอร์ มันยอดเยี่ยมมาก”