วันจันทร์, ธันวาคม 11, 2566

‘ปรีดีวิชญ์ พนมยงค์' ทายาท ‘ปรีดี พนมยงค์’ กล่าวปาฐกถา วันรัฐธรรมนูญ "อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปัจจุบัน เคารพเจตจำนงของปฐมรัฐธรรมนูญ และผลักดันให้เกิดการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง”


SPACEBAR
10h ·

#THAILAND อ่านความคิด ‘ทายาทปรีดี’
วันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่รัฐสภา มีการจัดงานวันเฉลิมรัฐธรรมนูญประจำปี 2566 ‘ร่วมก้าวย่างบนประชาธิปไตย สู่เส้นชัยรัฐธรรมนูญ’ ช่วงหนึ่ง ‘ปรีดีวิชญ์ พนมยงค์' ทายาท ‘ปรีดี พนมยงค์’ หัวหน้าคณะราษฎร (ฝ่ายพลเรือน) กล่าวปาฐกถาหัวข้อความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ ถึงบทบาทของ ‘ปรีดี’ ต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก และความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
ตอนหนึ่งว่า วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาร่วมงานซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐสภาในปัจุบัน ให้ความสำคัญกับวันรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีการจัดงานเหมือนที่เคยทำมาในอดีตครั้งแรกที่เรามีรัฐธรรมนูญ
ในฐานะทายาทของผู้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรก ขอกล่าวความสำคัญของรัฐธรรมนูญเล็กน้อย เพราะได้ตั้งปณิธานไว้แล้วว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองเนื่องจากไม่ถนัด แต่เมื่อ ’ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ให้เกียรติเชิญมาร่วมงาน จึงเห็นเป็นโอกาสดีและขอขอบคุณปดิพัทธ์ด้วย
ปรีดีวิชญ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หากจะพูดถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญนั้น ย้อนไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก
โดยปรีดีซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ รวมถึงเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการที่มาจากคณะราษฎร ทำให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ขึ้นมาเป็นฉบับแรก
แต่ก็มีหลายคนเข้าใจผิดถึงจุดประสงค์ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น จึงขอทำความเข้าใจว่าประชาธิปไตยนั้นหมายถึงการปกครองโดยราษฎร ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย ซึ่งทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ
ปรีดีวิชญ์ กล่าวด้วยว่า คณะราษฎรได้ยึดหลักประกาศเป็นปฏิญญาพัฒนาชาติไทย ได้แก่ หลักเอกราช ความปลอดภัย ความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา
จึงขอให้ทุกคนเข้าใจว่าเป็นธรรมดา ในช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ จำเป็นต้องมีบทเฉพาะกาลชั่วคราวที่ต้องเปลี่ยนระบบเก่าที่มีมาอย่างช้านาน ให้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มที่นั้น จะต้องมีการดำเนินการไปทีละขั้น ไม่ใช่มีการสถาปนาแล้วจะสามารถทำให้สมบูรณ์ได้
ต่อมานายปรีดีและคณะราษฎรได้พยายามผลักดันให้เกิดสิทธิประชาธิปไตยอย่างเต็มที่แก่ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสบผลสำเร็จในรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญให้การรับรองสิทธิเสรีภาพกับประชาชนมากที่สุด แต่ก็มีผลบังคับใช้ในระยะสั้น และมีการถูกยกเลิก
พร้อมถูกแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งเป็นแม่บทให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาอีกหลายฉบับ
นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยไทย ลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนที่เป็นในปัจจุบัน ขอยกคำสอนของปรีดีในงานเขียนชิ้นหนึ่ง ที่กล่าวว่าชนรุ่นใหม่ที่สนใจระบบรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ควรนำรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาเทียบกันดูให้ถี่ถ้วนว่าระบบรัฐธรรมนูญฉบับใดมีความเป็นประชาธิปไตยในความหมายของคำว่าประชาธิปไตย จริงหรือไม่เพียงใดขอให้ทุกท่านได้พิจารณาเพื่อจะได้เข้าใจถึงปัญหาและพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย
“ท้ายที่สุดแล้วผมในฐานะทายาทและประชาชนคนหนึ่ง อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปัจจุบัน เคารพเจตจำนงของปฐมรัฐธรรมนูญในการสถาปนากฎหมายสูงสุดที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างเท่าเทียมกัน และผลักดันให้เกิดการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” ปรีดีวิชญ์ กล่าวทิ้งท้าย
#ปรีดีวิชญ์ #วันรัฐธรรมนูญ #SPACEBAR