พายุฝนบนภูผาจิ ผาช้าง
18h ·
พิราบ กับ เหยี่ยว
การเมือง กับ การทหาร
การปรองดอง กับ การแก้แค้น
“เวลาที่ผมเห็นคำสั่งปฏิบัติการที่ระบุให้ “สังหารคอมมิวนิสต์” เพียงอย่างเดียว ผมก็อดรู้สึกเศร้าใจไม่ได้ ว่าผู้บัญชาการภาคสนามบางส่วนของเรายังขาดการเรียนรู้อีกมาก”
(พลเอกสายหยุด เกิดผล หนังสือ “พคท.หายไปไหน” พ.ศ.2554 หน้า 160)
“บุคคลซึ่งมิได้เข้าร่วมในการสู้รบโดยตรง รวมทั้งผู้สังกัดในกองทัพซึ่งได้วางอาวุธแล้ว และผู้ซึ่งถูกกันออกจากการต่อสู้ เพราะป่วยไข้ บาดเจ็บถูกกักคุม หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ได้ ไม่ว่าในพฤติการณ์ใดๆ จะต้องได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรม..
บรรดาการกระทำต่อไปนี้...เป็นอันห้ามและห้ามต่อไปไม่ว่ากาละเทศะใด คือ
(ก)การประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆาตกรรมทุกชนิด การตัดทอนอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใด การทำทารุณกรรมและการทรมาน
(ข)การจับตัวไปเป็นประกัน
(ค)การทำลายเกียรติยศแห่งบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติให้เป็นที่อับอายขายหน้า และเสื่อมทรามต่ำช้า”
(อนุสัญญาเจนีวา ลงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1949 ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี)
.......................................
การปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมหรือเชลยของฝ่ายรัฐที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างกรณีสหายที่ถูกจับกุมในเขตอำเภอเมืองน่าน (กรณี 3 สหายนักศึกษา ปี 2524 และกรณี 6 สหายหน่วยแพทย์ ปี 2527) กับการจับกุมหน่วยเมล์และผู้โดยสารรวม 9 คนที่ด่านห้วยน้ำอุ่น ปี 2526 ยืนยันว่า
เป็นปฏิบัติการของต่างหน่วยงาน ต่างวัตถุประสงค์ หรือ “ต่างนโยบาย”
กรณีเมืองน่าน 2524 และ 2527 ดำเนินการโดย กอ.รมน.จังหวัดน่าน โดยชุดของ “ผู้พันผาสุก” – พันเอก(พิเศษ)ผาสุก มานะวุฑฒ์ และพันเอก(พิเศษ)สมมาตร สุคนธ์ปฏิภาค (ยศเมื่อเกษียณอายุราชการ)
ส่วนกรณีที่ด่านห้วยน้ำอุ่น 2526 เชื่อว่าดำเนินการโดยหน่วยทหารนอกพื้นที่และอยู่คนละสายการบังคับบัญชา หรืออาจจะในระดับที่มีอำนาจเหนือกว่า
มีคำถามว่า ปกติด่านห้วยน้ำอุ่น เป็นด่านในความรับผิดชอบของ กอ.รมน.น่าน มีเจ้าหน้าที่สังกัด กอ.รมน.น่านดูแล ตรวจตราอยู่แล้ว
จะมี “กรณีพิเศษ” ที่ให้ทหารหน่วยอื่น “ที่มีอำนาจเหนือ” กอ.รมน.น่าน มาตั้ง “ด่านซ้อน” ได้หรือไม่
คำถามนี้ อาจจะตอบยาก แต่ข้อเท็จจริง ยืนยันเช่นนั้น ดังนี้
1 มีการจับกุมสหาย 9 คนที่ด่านห้วยน้ำอุ่นจริง เพราะมีพยานบุคคลและชาวบ้านยืนยัน
ข้อมูลจาก FB Subhatra Bhumiprabhas เมื่อ 19 ธันวาคม 2566 ให้รายละเอียดว่า “กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม” (กศส) ได้รับข้อร้องเรียนจากญาติของสหายสิงขร (สุโรจน์ ตรีรัตน์) จึงได้เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ที่ด่านห้วยน้ำอุ่นในปี 2528
“แม่ค้าตรงด่านห้วยน้ำอุ่นให้ข้อมูลว่า คนรูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งเป็นคนขับรถที่ถูกเจ้าหน้าที่เรียกลงจากรถ (คือสุโรจน์) มีท่าทีฮึดฮัด ทหารตรงด่านห้วยน้ำอุ่นจึงคุมตัวคนกลุ่มนี้หายไปทั้งกลุ่ม” (สุโรจน์ สูง 180 ซม.)
2 ผู้ถูกจับกุมทั้ง 9 ไม่ได้ถูกนำตัวส่ง กอ.รมน.น่าน ทั้งที่เหตุเกิดในพื้นที่จังหวัดน่าน และไม่มีบันทึกการจับกุมของด่านห้วยน้ำอุ่น ไม่มีบันทึกของหน่วยงานในจังหวัดน่านทั้งฝ่ายตำรวจและ กอ.รมน.น่าน
ข้อสันนิษฐานเรื่องการตั้ง “ด่านซ้อน” จากหน่วยทหารนอกพื้นที่ จึงมีความเป็นไปได้ เนื่องจากเป็น “ภารกิจพิเศษ” ?
อาจเพราะมี “ทหารป่าแปรพักตร์” รายหนึ่งมาช่วยสังเกตและชี้ตัวสหาย ?
คำถามใหญ่ที่ค้างคา คือ
1 สหายทั้ง 9 คน ถูกส่งไปควบคุมตัวที่ใด ?
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ใกล้สุดก็คือกองพันทหารม้า ม.พัน 12 กองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพระยาไชยบูรณ์ เด่นชัย จังหวัดแพร่
หรือไกลออกไปอีกก็คือที่ตั้งของกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวร หรือค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จังหวัดพิษณุโลก
เคยมีบางข้อสันนิษฐานว่า สหายทั้ง 9 อาจถูกนำตัวไปควบคุมไว้ก่อนที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอเวียงสา แต่ญาติพี่น้องได้ตรวจสอบแล้ว ไม่มีข้อมูลเช่นนี้
2 ญาติพี่น้องของผู้สูญหายโดยเฉพาะครอบครัวของสหายสิงขร (สุโรจน์ ตรีรัตน์) ได้ทุ่มเทติดตามเรื่องนี้อย่างเกาะติด ยาวนาน แต่คำตอบที่ได้รับจากหน่วยงานกองทัพภาคที่ 3 ทุกครั้ง คือ “ไม่ทราบเรื่องนี้” “ไม่ได้รับรายงาน” ทั้งที่การจับกุมกระทำต่อหน้าคนจำนวนมาก
3 เมื่ออาจารย์สุชาย (รศ.สุชาย ตรีรัตน์) พี่ชายของสุโรจน์ กลับจากต่างประเทศ ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ โดยลงพื้นที่พบปะ สอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดน่านและพิษณุโลก (ทั้งอย่างเป็นทางการและเป็นการส่วนตัว) และมีโอกาสได้พบกับพลโทมานะ รัตนโกเศศ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ยศและตำแหน่งขณะนั้น)
อาจารย์สุชายได้ตั้งประเด็นคำถามและเบาะแสไว้มากมาย
แต่เส้นทางค้นหาความจริง
ก็จบลงแบบเดียวกับตำนาน “อิคารัส” (Icarus)
...................................
สงครามอุดมการได้จบสิ้นไปนานกว่า 40 ปีแล้ว
แต่เหตุการณ์ “ด่านห้วยน้ำอุ่น” สำหรับพี่น้อง ญาติมิตรของผู้สาบสูญ
ยังค้างคาใจมิจางหาย
และตราบใดที่ความจริงยังไม่คลี่คลาย
ก็ยากจะหลับตาผ่อนพักอย่างสงบ
การแสวงหาความจริงจึงเป็นหน้าที่
ที่ไม่อาจเลิกลา
มิใช่เพื่อทวงถามหรือต่อเติมความเจ็บแค้น
แต่เพื่อให้ความจริง ได้ปลดปล่อยทุกคน
ให้ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ
ให้ทั้งผู้ยังอยู่และผู้ล่วงลับ
ได้พ้นจากความทุกข์ทรมานร่วมกัน
....................................
*ภาพ “สหายสิงขร” สุโรจน์ ตรีรัตน์ ในวัยหนุ่ม
*บันทึกรายชื่อผู้สูญหายที่ญาติพยายามรวบรวมไว้ในช่วงแรก
*เนื่องจากสหายในป่า มักเปลี่ยนชื่อเมื่อย้ายหน่วยงานหรือย้ายเขตงานหรือมีชื่อซ้ำกับสหายอื่น ดังนั้นชื่อเรียกจากสหายต่างเขต ต่างหน่วยงานจึงมักต่างกันไป ทำให้เกิดความสับสนได้ เช่น ชื่อ “สิทธิ์” กับ “สมิง” หรือ “พิทักษ์” อาจจะเป็นคนเดียวกันหรือไม่ เป็นต้น
*บันทึกนี้ ยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน บางข้อมูลอาจผิดพลาด จึงขอให้ผู้ที่อยู่หรือใกล้ชิดเหตุการณ์จริง ได้ช่วยแก้ไขเพิ่มเติม
ข้อมูลที่ต่างกันขณะนี้ เช่น
-สหายหน่วยแพทย์ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2527 จำนวน 6 คน ยังมีสหายสมิง ทหารกองร้อย 244 (คนละคนกับสหายสมิง 315) ที่ลงมาพร้อมกัน ถูกจับอีกหนึ่งคน รวมเป็น 7 คน
-ปี 2527 ผู้พันผาสุก น่าจะย้ายไปอยู่จังหวัดแพร่แล้ว ผู้รับผิดชอบต่อมาคือพันเอก(พิเศษ)สมมาตร สุคนธ์ปฏิภาค