The101.world
19h
·
"ค่ำคืนนรกของคนตากใบผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่เรื่องเล่าเหล่านั้นกลับไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีตัวละครเพิ่มเติม ไม่มีการลงโทษคนทำ เป็นเรื่องเล่าที่ไม่ถูกรัฐไทยจดจำ แต่คนถูกกระทำไม่ลืมเลือน"
.
101 ชวนสำรวจเรื่องเล่าจากตากใบผ่านปากคำผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว ทั้งการอยู่กับความสูญเสีย การพยายามทำความเข้าใจโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น การถูกกดดันคุกคามจากรัฐให้เงียบเสียงลง ทั้งหมดนี้ทำให้ตากใบยังเป็นแผลสดใหม่ที่ไม่มีการเยียวยา และการให้อภัยคงเกิดไม่ได้หากไม่มีการขอโทษจากผู้กระทำ
.
อ่านได้ที่: https://www.the101.world/tak-bai-documentary/
.
"ผู้หญิงแต่ละคนในวงค่อยๆ เล่าเรื่องของตัวเองเป็นภาษามลายู โดยมีหญิงสาวอายุน้อยช่วยทำหน้าที่ล่ามแปลให้ฉันฟัง แม้เวลาผ่านมาแล้วถึง 19 ปี แต่ความรู้สึกของพวกเธอยังสดใหม่ ความเสียใจในการสูญเสียนั้นไม่เคยลดน้อยลง บางคนเพียงแค่ย้อนนึกถึงก็ไม่สามารถพูดอะไรต่อได้ เช่นแม่เฒ่าร่างใหญ่ในชุดอาบายะห์และฮิญาบสีดำ หลังแกงองุ้ม แววตาขุ่นมัว แม่เฒ่าพูดภาษามลายูออกมาไม่กี่คำแทบไม่เป็นประโยคแล้วซุกหน้ากับชายฮิญาบเพื่อซ่อนน้ำตา หญิงสาวข้างๆ ลูบหลังปลอบใจ ยื่นกระดาษให้ซับน้ำตา มีเพียงเท่านี้ที่พวกเธอทำให้กันได้
ฉันบอกแม่เฒ่าว่าไม่เป็นไร หากมันเจ็บปวดเกินไป แต่ไม่นานหลังจากนั้น ระหว่างที่ฉันคุยกับผู้หญิงคนอื่นๆ แม่เฒ่าก็ยื่นหน้าเข้ามาใกล้พร้อมพูดภาษาไทยกระท่อนกระแท่น
“สามคน”
เป็นคำสั้นๆ ที่หญิงแก่พอจะพูดได้อย่างยากลำบากพร้อมน้ำตาอาบแก้มเหี่ยวย่น หญิงในฮิญาบสีชมพูที่นั่งข้างแม่เฒ่าสบตาฉันแล้วอธิบาย “บ้านแกเสียไปสามคน สามีกับลูกชายสองคน แล้วยังมีลูกชายอีกหนึ่งคนบาดเจ็บจนตอนนี้ขาลีบทำงานไม่ได้” "
.
"ตามปกติหากมีเหตุการณ์ที่ครอบครัวหนึ่งถูกฆ่าตายสามคนพร้อมกัน เราคงเรียกมันว่าอาชญากรรมที่โหดเหี้ยม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่เฒ่านั้น เจ้าหน้าที่เรียกมันว่า ‘ปฏิบัติการ’ "
.
เรื่องและภาพ: วจนา วรรลยางกูร