วันเสาร์, ธันวาคม 02, 2566

‘ศ.ดร.สิริพรรณ‘ หวัง ‘ก้าวไกล’ หนุนรัฐบาลดันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “อาจไม่ใช่ฉบับสุดท้าย หรือดีที่สุด แต่เป็นฉบับที่ดีกว่า” พ้นมรดกทหารใน รธน.60 เชื่อหากร่างนี้ไม่ผ่าน จะเป็นระเบิดการเมืองของ ‘เพื่อไทย’


The Reporters
9h·

POLITICS: ‘ศ.ดร.สิริพรรณ‘ หวัง ‘ก้าวไกล’ หนุนรัฐบาลดันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “อาจไม่ใช่ฉบับสุดท้าย หรือดีที่สุด แต่เป็นฉบับที่ดีกว่า” พ้นมรดกทหารใน รธน.60 เชื่อหากร่างนี้ไม่ผ่าน จะเป็นระเบิดการเมืองของ ‘เพื่อไทย’

วันนี้ (1 ธ.ค. 66) ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นกล่าวเป็นภาษาอังกฤษในหัวข้อ “Our Constitution” (รัฐธรรมนูญของเรา) บนเวทีงานประชุมมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประจำประเทศไทย ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “Our Freedom” (เสรีภาพของเรา) ณ ร้านอาหาร Quaint Bangkok เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ ชี้แจงเหตุผลในการตอบรับเข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง ในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ของรัฐบาลว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก่อผลกระทบเชิงลบมากมายต่อการเมืองไทย เป็นระยะเวลายาวนาน จึงคิดว่าหากเข้าร่วมคณะกรรมการนี้ ก็จะมีส่วนช่วยในการผลักดันกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย

สำหรับบทบาทของคณะกรรมการฯ นั้น ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ ชี้แจงว่า คณะกรรมการฯ มีหน้าที่ศึกษาและประมวลสรุปคำแนะนำต่อคณะรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็นคำถามสำคัญ ได้แก่ จะต้องจัดทำประชามติกี่ครั้งเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ? จะต้องตั้งคำถามประชามติว่าอะไร ? และกรอบเวลาในการจัดทำประชามติเป็นอย่างไร ?

“เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า เราจำเป็นต้องจัดทำประชามติ 3 ครั้ง เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นชอบธรรม ตลอดจนจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 1 ครั้ง“ ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ กล่าว

คณะกรรมการฯ ยังกำหนดกรอบเวลาในการสรุปผลการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรี ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2566 แล้วคณะรัฐมนตรีจะกำหนดกรอบเวลาจัดทำประชามติ ซึ่งคาดว่าจะจัดทำประชามติครั้งที่ 1 ได้ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2567 เพื่อสอบถามความเห็นประชาชน แล้วต่อมาจึงเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ ย้ำว่า คณะกรรมการฯ มุ่งมั่นที่จะตั้งคำถามที่เข้าใจได้โดยง่าย เช่น “เห็นด้วยหรือไม่ กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่“ และให้ตอบว่า ”เห็นด้วย“ หรือ ”ไม่เห็นด้วย“ เป็นต้น
 
ส่วนกรณีจุดยืนที่แตกต่างของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จนไม่ได้เข้าร่วมคณะกรรมการฯ ของรัฐบาล และอาจมีการรณรงค์ให้ไม่เห็นชอบในการออกเสียงประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ ยอมรับว่า มีความกังวลอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 13 ซึ่งกำหนดให้อาศัยเสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority) คือต้องให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนี่งมาใช้สิทธิ และต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิด้วย ดังนั้น ในกระบวนการนี้ เราจำเป็นต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากทั้งสองฝ่ายด้วย

“หากพรรคก้าวไกล คิดว่าเราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ว่าบางทีอาจจะไม่ใช่ฉบับที่ดีที่สุด หรือฉบับสุดท้าย แต่ก็จะเป็นฉบับที่ดีกว่า ดังนั้น ควรมีแรงสนับสนุนจากทั้งสองฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการนี้ให้เกิดขึ้นต่อไปได้” ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ หวังการมีส่วนร่วมของพรรคก้าวไกล

ส่วนทางด้านพรรคเพื่อไทย ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ มองว่า กระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทยไม่มากเท่าในอดีต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นหนุ่มสาวด้วย
 
”เมื่อพรรคเพื่อไทยให้คำมั่นระหว่างการหาเสียงว่าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว หากล้มเหลวขึ้นมา สาธารณชนก็อาจรู้สึกว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีเจตนาแท้จริงที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นอาจเป็นระเบิดทางการเมือง (Political Dynamite) เลยก็ได้“

ท้ายที่สุด ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า บางคนอาจคิดว่า สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หมดอำนาจในการเลือกบุคคลซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเดือนพฤษภาคม 2567 แล้ว จึงไม่ต้องรีบเร่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่แต่อย่างใด แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีองค์ประกอบความไม่เป็นประชาธิปไตย ถูกร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของทหาร จนถูกใช้เป็นกลไกในการรักษาอำนาจเดิมของทหารด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจยกเลิกการนิรโทษกรรมผู้ก่อรัฐประหาร ให้ สว. มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอีกหลายประการ ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้ประชาชนรู้สึกได้โดยตรงว่า เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศด้วย“ ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ กล่าว

รายงาน : ณัฐนนท์ เจริญชัย
ภาพ : ณัฏฐากูร ณะนวล