วันเสาร์, ธันวาคม 23, 2566

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้ (21 ธ.ค.) “ชลธิชา” ถามสิทธิรักษาพยาบาลนอกเรือนจำของ “อดีตนายกฯ ทักษิณ” บรรทัดฐานราชทัณฑ์เป็นอย่างไร 📌ขอรายละเอียดระเบียบฯ “คุมขังนอกเรือนจำ” ครอบคลุมผู้ต้องขังกลุ่มใดบ้าง 📌แนะชี้แจงสังคมให้คลายสงสัย ยืนยันหลักไม่เลือกปฏิบัติ


พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
14h·

[ รัฐบาลให้ความเป็นธรรม บังคับใช้กฎหมายต่อ ‘ผู้ต้องขัง’ ทุกคน เท่าเทียมกันหรือไม่? ]
.
“ชลธิชา” ถามสิทธิรักษาพยาบาลนอกเรือนจำของ “อดีตนายกฯ ทักษิณ” บรรทัดฐานราชทัณฑ์เป็นอย่างไร
ขอรายละเอียดระเบียบฯ “คุมขังนอกเรือนจำ” ครอบคลุมผู้ต้องขังกลุ่มใดบ้าง
แนะชี้แจงสังคมให้คลายสงสัย ยืนยันหลักไม่เลือกปฏิบัติ
.
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้ (21 ธ.ค.) Lookkate Chonthicha - ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี เขต 3 พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อนายกรัฐมนตรี ประเด็นสิทธิการรับการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง โดยนายกฯ มอบหมายให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ตอบแทน
.
ชลธิชา กล่าวว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้ให้ค่ำมั่นสัญญาต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ว่าจะสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักนิติธรรมและหลักประกันว่ากฎหมายจะเป็นธรรม บังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค จึงต้องการถามถึงความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายต่อผู้ต้องขังใน 2 ประเด็นหลัก เพื่อให้รัฐมนตรีได้แสดงออกความจริงจังและและความจริงใจของรัฐบาลที่มีต่อคำมั่นสัญญาดังกล่าว
.
[ กรณี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ทำตามขั้นตอนปกติหรือไม่? ]
.
ประเด็นแรก สิทธิการรับการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง ยกตัวอย่างกรณีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หากมีอาการเจ็บป่วยที่เกินกำลังเกินศักยภาพของสถานพยาบาลของเรือนจำ ก็ย่อมต้องได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลด้านนอกที่มีศักยภาพเพียงพอ
.
โดยที่ตั้งคำถามนี้ ไม่ใช่เพราะไม่ต้องการให้อดีตนายกฯ ทักษิณได้รับสิทธินี้ แต่ต้องการพูดคุยเรื่องนี้ร่วมกันอย่างมีวุฒิภาวะและเหตุผล ถามถึงเกณฑ์การพิจารณาว่าสุดท้ายกรมราชทัณฑ์มีบรรทัดฐานในการพิจารณาการให้สิทธิผู้ต้องขังในการออกไปรับการรักษาพยาบาลด้านนอกอย่างไร เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในกระบวนการยุติธรรมอีก
.
“คุณทักษิณเข้าเรือนจำไม่ถึงหนึ่งวัน ก่อนถูกส่งตัวออกมารับการรักษาด้านนอกที่โรงพยาบาลตำรวจ จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกิน 120 วัน ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามเรื่องเกณฑ์ในการพิจารณาการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษานอกเรือนจำ”
.
ที่ผ่านมา การเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังมีปัญหาอยู่มาก เป็นเรื่องยากลำบากในการได้รับสิทธิรักษาพยาบาลนอกเรือนจำ ใน 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังเพียง 4 คนที่ได้รับสิทธินี้เป็นเวลาเกิน 120 วันเช่นเดียวกับทักษิณ
.
[ เทียบกรณี ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ แตกต่างสิ้นเชิง ]
.
ขอยกตัวอย่างกรณี เอกชัย หงส์กังวาน ผู้ต้องขังคดีการเมือง ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เร่งส่งตัวกลับเรือนจำทั้งที่อยู่ระหว่างการรับยาฆ่าเชื้อหลังตรวจพบฝีที่ตับ โดยแพทย์มีความเห็นว่าการติดเชื้อฝีในตับมีสาเหตุจากสภาพเรือนจำที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จึงเห็นได้ว่าแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ระหว่างกรณีทักษิณและกรณีเอกชัย แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
.
เมื่อไล่เรียงขั้นตอนการอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เริ่มจากเมื่อผู้ต้องขังมีอาการเจ็บป่วย แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต้องแจ้งพัศดีและทำรายงานส่งไปยัง ผบ.เรือนจำ โดยต้องแจ้งสาระสำคัญ เช่น อาการเจ็บป่วย เรือนจำมีศักยภาพในการดูแลผู้ต้องขังหรือไม่ และควรรักษาตัวนอกเรือนจำที่ใด
.
จึงขอสอบถามไปยัง รมว.ยุติธรรม ว่ากรณีทักษิณได้ทำตามขั้นตอนปกติหรือไม่ เพื่อความโปร่งใส ควรมีการชี้แจงรายละเอียดการส่งตัวผู้ต้องขังและแสดงหลักฐานเพื่อช่วยคลี่คลายความสงสัยของสังคม รวมถึงชื่อและตำแหน่งของผู้ที่วินิจฉัยและผู้ที่อนุมัติ
.
อีกประเด็นที่สำคัญ คือการที่อดีตนายกฯ ทักษิณรักษาตัวที่ช้ัน 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ มีความเหมาะสมหรือความจำเป็นทางการแพทย์อย่างไร เนื่องจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ระบุห้ามผู้ต้องขังอยู่ห้องพักพิเศษ แยกจากผู้ป่วยทั่วไป และโดยปกติการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรับการรักษานอกเรือนจำ จะใช้สิทธิตาม สปสช. จึงต้องขอความชัดเจนจาก รมว.ยุติธรรม ว่ามีกระบวนการตรวจสอบอย่างไรเพื่อประกันหลักการไม่เลือกปฏิบัติในกรณีการส่งตัวผู้ต้องขัง
.
[ ระเบียบราชทัณฑ์ ‘คุมขังนอกเรือนจำ’ ครอบคลุมผู้ต้องขังกลุ่มใดบ้าง ]
.
ประเด็นที่สอง คือกรณีระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่ออกมาเมื่อ 8 ธันวาคม 2566 ได้เปิดทางให้ผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ สามารถถูกคุมขังในสถานที่อื่นที่ราชทัณฑ์กำหนดแทนเรือนจำได้
.
ชลธิชาชื่นชม มองว่านี่คือก้าวสำคัญของระบบราชทัณฑ์ไทย เนื่องจากราชทัณฑ์ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 เรือนจำที่แออัดสูงสุดของโลก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีข้อกังวลว่าระเบียบใหม่นี้ได้เอื้อผลประโยชน์ต่อทักษิณ ชินวัตรหรือไม่
.
อย่างไรก็ตาม ขอตั้งคำถามที่ไปไกลกว่าทักษิณ คือ
.
(1) รมว.ยุติธรรมได้ประเมินความเป็นไปได้ในการนำระเบียบนี้ไปปฏิบัติเพื่อลดปัญหาเรือนจำแออัดอย่างไรบ้าง ผู้ต้องขังที่จะเข้าเกณฑ์ตามระเบียบดังกล่าวมีจำนวนเท่าใด จะช่วยลดความแออัดของเรือนจำได้มากน้อยเพียงใด
.
(2) ระเบียบใหม่นี้จะครอบคลุมผู้ต้องขังประเภทคดีใดบ้าง และ
.
(3) หลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ต้องขัง จะวางอยู่บนหลักการใดเพื่อประกันว่าจะไม่มีการเลือกปฏิบัติในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องขังที่ร่ำรวยหรือมีอิทธิพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระเบียบฉบับนี้ให้อำนาจในการพิจารณาอย่างกว้างขวางแก่อธิบดีกรมราชทัณฑ์
.
ชลธิชาทิ้งท้ายว่า แม้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 ซึ่งเป็นที่มาของการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ดังกล่าว จะเกิดขึ้นในรัฐบาลที่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ระเบียบฯ ก็ออกในรัฐบาลปัจจุบัน ในฐานะ รมว.ยุติธรรม ซึ่งกำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ จึงเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐมนตรีต้องทราบข้อมูล โดยเฉพาะในประเด็นที่สังคมกำลังตั้งคำถาม