วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 14, 2566

มายด์ เบิกความคดี 112 ยืนยันประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ได้ ศาลนัดพิพากษา 31 ม.ค. 67

iLaw
14h·

มายด์ เบิกความคดี 112 ยืนยันประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ได้ ศาลนัดพิพากษา 31 ม.ค. 67

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ จำเลยคดีมาตรา 112 เบิกความต่อศาลถึงเหตุผลที่ต้องปราศรัยเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปฏิรูปในวันที่ 24 มีนาคม 2564 ยืนยันเรื่องที่พูดทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีหลักฐานตามกฎหมายปรากฏต่อสาธารณะอยู่แล้ว ประชาชนย่อมวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยการสืบพยานคดีนี้เสร็จสิ้นแล้ว ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 31 มกราคม 2567

13 ธันวาคม 2566 เป็นกำหนดนัดสืบพยานจำเลย ในคดีที่ภัสราวลีถูกกล่าวหาว่า ทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามมาตรา 112 และเข้าร่วมการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจากการกล่าวปราศรัยในการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 โดยเนื้อหาที่เธอกล่าวปราศรัย สรุปใจความได้ว่า การพูดถึงสถาบพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ประชาชนทำได้ ทั้งในแง่การสรรเสริญ และการวิพากษ์วิจารณ์ ประชาชนเป็นกัลยาณมิตรที่ดีของกษัตริย์ต้องตักเตือนกัน และเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

คดีนี้เกิดจากการปราศรัยในการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมหลักพันคน และคำปราศรัยของภัสราวลีเป็นที่รู้จักเลื่องลือว่า เป็นการเรียบเรียงเนื้อหาที่สื่อสารต่อสถาบพระมหากษัตริย์โดยตรงได้ดี แต่ก็ถูกตำรวจสน.ลุมพินี ที่ติดตามการชุมนุมอยู่เป็นผู้ริเริ่มดำเนินคดี ในชั้นศาลฝ่ายโจทก์มีพยานเข้าเบิกความส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเป็นคนที่มาตีความยืนยันว่า สิ่งที่ภัสราวลีกล่าวนั้นเป็นความผิด เช่น สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) หลายคน และผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
ในการสืบพยานจำเลย มีพยานจำเลยสองปาก คือ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw ที่อธิบายการออกกฎหมายในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลายฉบับเพื่อเป็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่เคยมีมาก่อน (https://ilaw.or.th/node/5866) และตัวจำเลย คือ ภัสราวลี ซึ่งภัสราวลี เบิกความว่า เธอเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เป็นนักศึกษาเมื่อปี 2558 เพราะเห็นกลุ่มนักศึกษาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารแต่ถูกตำรวจใช้ความรุนแรง จากนั้นก็หาข้อมูลศึกษาเรื่องการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยสัมผัสได้ถึงผลกระทบจากการรัฐประหารต่อภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวตัวเอง และก็เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาหลายครั้ง

สำหรับการชุมนุมในคดีนี้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 เพื่อนจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมชักชวนให้เธอมาร่วมและให้มาปราศรัยด้วย ซึ่งภัสราวลีจำได้ว่า การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2563 มีข้อเรียกร้องสามข้อ ได้แก่ 1) ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก 2) ให้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3) ให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งช่วงเวลานั้นสังคมตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทย การปราศรัยของเธอมีจุดประสงค์ที่จะส่งข้อกังวลไปถึงผู้เกี่ยวข้องให้คงไว้ซึ่งความศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
 
การปราศรัยของภัสราวลี พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และข้อกังวลว่า สถานการณ์เช่นนี้อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่สังคมไม่อยากให้เกิด โดยภัสราวลีได้เสนอทางออกให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ คือ 1) ประเทศไทยจะมีได้กองทัพเดียวจะมีหลายกองทัพไม่ได้ ซึ่งมาจากเหตุที่ออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลจากกระทรวงกลาโหมไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ทำให้ขาดการตรวจสอบจากประชาชน 2) สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งมาจากเหตุที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยข้อสังเกตพระราชทานหลังการทำประชามติแล้ว โดยมีพล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้อธิบาย 3) อย่าให้เกิดการแย่งชิงทรัพย์สินระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ซึ่งมาจากเหตุการออกพ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สองฉบับที่ให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการถือครองหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ในนามของพระมหากษัตริย์โดยตรง

ภัสราวลี เบิกความว่า กรณีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ก่อให้เกิดความสงสัยเคลือบแคลงว่า หากจะต้องส่งต่อทรัพย์สินไปสู่รัชกาลถัดไปจะต้องทำอย่างไร ซึ่งอาจส่งผลถึงความศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของประชาชนด้วย โดยภัสราวลีเชื่อมั่นว่า การปราศรัยครั้งนั้นพูดด้วยเหตุผล ตามที่ปรากฎในกฎหมาย และเป็นสิ่งที่สาธารณะรับรู้กันอยู่แล้ว
 
“มายเชื่อว่าการพูดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และพูดอย่างตรงไปตรงมา ต่อปัญหาที่ปรากฎต่อสาธารณะ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการหาทางออกเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคม อีกทั้งพื้นที่ในการพูดคุยนั้นจำเป็นจะต้องเปิดกว้างเพื่อให้ทุกความคิดได้มีพูดคุยกันอย่างเสมอหน้ากัน ประชาชนทุกคนก็ควรจะต้องวิพากษ์วิจารณ์ทุกสถาบันการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐธรมนูญได้ โดยไม่มีอำนาจอื่นใดที่นอกเหนือจากประาชาชนมาจำกัดกรอบ อันเป็นเหตุแห่งความบิดเบี้ยวของระบอบการปกครองได้ และมายยืนยันว่า ประชาชนคือเจ้าของอำนาจสูงสุด ตามระบอบประชาธิปไตยที่ประเทศไทยยึดถือ“ ส่วนหนึ่งของคำกล่าวจากจำเลย ระหว่างการเบิกความ

หลังภัสราวลีเบิกความเสร็จ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า เบื้องต้นตั้งใจจะสืบพยานอีกหนึ่งปาก คือ รังสิมันต์ โรม ในประเด็นการบริหารจัดการกองทัพ แต่เนื่องจากพยานเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและติดการประชุมสภาจึงไม่สามารถมาศาลได้ในวันนี้ และไม่ติดใจที่จะสืบพยานต่ออีก จึงหมดพยานที่จะสืบเพียงเท่านี้ หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานศาลนัดภัสราวลีฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 มกราคม 2567
.....
https://www.facebook.com/watch/?v=375082361569033&ref=sharing