วันอังคาร, ธันวาคม 12, 2566

แม้สุดท้ายรัฐธรรมนูญจะมีหน้าตาไม่เหมือนกับความคิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 100% แต่กระบวนการต้องไม่มุ่งกีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตั้งแต่แรกเริ่ม ปล่อยให้มีการถกเถียงข้อต่างๆ ของแต่ละกลุ่มพลังสังคม - ชัยธวัช ตุลาธน เสนอ


ชัยธวัช ตุลาธน - Chaithawat Tulathon
10h
·
[ คืนอำนาจสถาปนา หาฉันทามติสังคมไทย สร้างรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน]
หากเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์สังคม การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เป็นปรากฏการณ์ที่คนในสังคมเขียนกติการ่วมกันขึ้นมา ว่าพวกเราอยากได้สังคมแบบนี้ เราอยากอยู่ร่วมกันแบบนี้ และย่อมเป็นอำนาจของเราในการกำหนดกติกานี้ขึ้น ดังนั้น ก่อนเริ่มต้นการถกเถียงใดๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเรื่องเราต้องการเนื้อหารัฐธรรมนูญแบบใด กระบวนการร่างจะเป็นเช่นไร ผมเห็นว่าเราต้องกลับมาเริ่มต้นที่คำถามสำคัญที่สุดลำดับแรกนั่นคือ “ใครควรเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการสภาปนารัฐธรรมนูญของประเทศไทย”
.
พรรคก้าวไกลเชื่อว่า การมีรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากอำนาจสถาปนาของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของสังคมไทยในเวลานี้ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในทุกๆ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะหากเราคาดหวังให้รัฐธรรมนูญใหม่ช่วยนำพาสังคมไทยออกจากวิกฤติความขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
.
รัฐธรรมนูญที่พรรคก้าวไกลใฝ่ฝัน ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ยืนยันว่าพวกเราทุกคน คือผู้มีศักยภาพในการออกแบบกติกาของสังคมเราเอง และมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะสถาปนาก่อตั้งรูปแบบทางการเมืองที่ตนปรารถนาได้ รัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นกฎระเบียบที่เกิดจากการอ้างอำนาจศักดิ์สิทธิ์ อำนาจทางศาสนา หรือการใช้กองทัพในการควบคุมอีกแล้ว
.
การที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการทำประชามติตั้งแต่ครั้งแรกก่อนเริ่มต้นกระบวนการ เพราะเราเห็นว่าเป็นวิธีการเดียวที่จะตอบว่า ฉันทามติของสังคมไทยในเวลานั้นเป็นอย่างไร อีกทั้งประเด็นที่ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันในสังคม ก็สามารถถามประชาชนอย่างตรงไปตรงมาในการทำประชามติ เพื่อหาข้อยุติในความเห็นที่แตกต่างกันตามกระบวนการประชาธิปไตย นอกจากนี้ การทำประชามติจะเป็นการมอบความชอบธรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เราใฝ่ฝัน มีประชาชนเป็นหลังพิงอันมั่นคง
.
การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยตรงจากประชาชนทั้งหมด นอกจากจะเป็นสิ่งยืนยันว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาจากประชาชนแล้ว ยังเป็นเสมือนพื้นที่พูดคุยอย่างเปิดกว้างของพลังทางความคิดต่างๆในสังคม เป็นพื้นที่เปิดให้ทุกความคิดรู้สึกว่าได้รับการโอบรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ เนื่องจากที่ผ่านมาสังคมไทยอยู่ในความขัดแย้งอันยาวนาน มีปัญหาสำคัญ คือเราไม่สามารถหาฉันทมติร่วมกันได้ว่าระบบระเบียบการเมืองแบบใดที่เรายอมรับจะอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้น กระบวนการที่เปิดกว้าง จึงมีแนวโน้มนำไปสู่การออกแบบเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่สะท้อนความหลากหลายในสังคม และตอบโจทย์สภาพการณ์ปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบันมากที่สุด
.
แม้สุดท้ายรัฐธรรมนูญจะมีหน้าตาไม่เหมือนกับความคิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 100% ซึ่งผมเห็นว่าเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่กระบวนต้องที่ไม่มุ่งกีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตั้งแต่แรกเริ่ม การให้ข้อถกเถียงต่างๆ ของแต่ละกลุ่มพลังสังคมเป็นที่ยุติในชั้นของ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง จะการันตีได้ว่า รัฐธรรมนูญภายใต้กระบวนการนี้ ย่อมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ แต่ก็ยังคงใส่ใจคนส่วนน้อย และเป็นระบบการเมืองที่สะท้อนฉันทมติใหม่ของสังคมไทยอย่างแท้จริง