วันจันทร์, พฤศจิกายน 20, 2566

ผลสำรวจนิด้าโพลพบส่วนใหญ่ 69.39% ไม่เห็นด้วยออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน


ผลสำรวจนิด้าโพลพบส่วนใหญ่ 69.39% ไม่เห็นด้วยออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน

2023-11-19
ประชาไท

ผลสำรวจ 'นิด้าโพล' 1,310 คน พบส่วนใหญ่ 69.39% ไม่เห็นด้วยออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน 68.18% ระบุไม่โกรธเลยหากไม่ได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท - ด้าน 'สวนดุสิตโพล' สำรวจความอัดอั้นคนไทย 1,026 คน ส่วนใหญ่ 61.43% อยากระบายความอัดอั้นมากที่สุด คือ “เศรษฐกิจเมื่อไหร่จะดีขึ้น”

19 พ.ย. 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “OK ไหม กับ นายกฯ สรุปเอง เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-16 พ.ย. 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบทสรุปของนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ภายหลังการแถลงของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงคุณสมบัติการได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 79.85 ระบุว่า มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ รองลงมา ร้อยละ 11.68 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าตนเองมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์หรือไม่ และร้อยละ 8.47 ระบุว่า ไม่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์

เมื่อถามตัวอย่างที่ระบุว่าไม่แน่ใจว่าตนเองมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์หรือไม่ และไม่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ (จำนวน 264 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับความรู้สึกที่จะไม่ได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เนื่องจากคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 68.18 ระบุว่า ไม่โกรธเลย รองลงมา ร้อยละ 11.36 ระบุว่า ไม่ค่อยโกรธ ร้อยละ 8.71 ระบุว่า ค่อนข้างโกรธ ร้อยละ 7.58 ระบุว่า โกรธมาก และร้อยละ 4.17 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ต้องเป็นคนไทยไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และ/หรือมีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันต่ำกว่า 5 แสนบาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.53 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 25.80 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 20.31 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 12.67 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.69 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยสามารถใช้ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.66 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 28.47 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 20.69 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 16.03 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อแหล่งที่มาของงบประมาณในการจัดทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติ กู้เงิน 500,000 ล้านบาท และงบประมาณประจำปีอีก 100,000 ล้านบาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 50.69 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 14.89 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 13.35 ระบุว่า เห็นด้วยมาก และร้อยละ 2.37 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ภายหลังการแถลงของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 29.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 25.97 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 25.11 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 18.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาความคิดเห็นต่อนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ภายหลังการแถลงของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จำแนกตามคุณสมบัติการได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า
  • ตัวอย่างที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ ร้อยละ 29.73 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 26.48 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 24.38 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 18.84 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.57 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
  • ตัวอย่างที่ไม่แน่ใจว่าตนเองมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์หรือไม่ ร้อยละ 41.83 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 25.49 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 16.34 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 14.38 ระบุว่า เห็นด้วยมาก และร้อยละ 1.96 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
  • ตัวอย่างที่ไม่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ ร้อยละ 65.77 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 15.32 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 11.71 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 6.30 ระบุว่า เห็นด้วยมาก และร้อยละ 0.90 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
'สวนดุสิตโพล' สำรวจความอัดอั้นคนไทย ส่วนใหญ่อยากระบายความอัดอั้นมากที่สุด คือ “เศรษฐกิจเมื่อไหร่จะดีขึ้น”



ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง“ที่พึ่งของคนไทย ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,026 คน (สำรวจทางออนไลน์) สำรวจระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2566 พบว่า จากการที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทำให้ประชาชนรู้สึกต้องการที่พึ่งอย่างมาก ร้อยละ 52.34 เรื่องที่ต้องการที่พึ่งมากที่สุดคือเรื่องของแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 57.79 รองลงมาคือ สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ร้อยละ 55.14 นอกจากพึ่งตนเองแล้วบุคคลที่คิดว่าน่าจะเป็นที่พึ่งได้มากที่สุด คือ ครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ ร้อยละ 61.43 ทั้งนี้เรื่องที่ประชาชน อยากระบายความอัดอั้นมากที่สุด คือ “เศรษฐกิจเมื่อไหร่จะดีขึ้น” ร้อยละ 45.17 รองลงมาคือ “ของแพง เงินไม่พอใช้” ร้อยละ 43.87