GreenNews
15h·
#GreenBrief เศรษฐาสั่งเร่งเดินหน้า 3 #เหมืองโปแตช ลั่น “ถ้าทำไม่ได้ก็ประมูลหารายใหม่มาทำ” ยันจำเป็น-ไม่มีการกล่าวถึงสถานการณ์คัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่
.
“ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ มีการสั่งการเรื่องเหมืองแร่โปแทช ซึ่งโปแตชเซียมถือเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญในการทำปุ๋ย และประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีโปแทชมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศแคนาดา ซึ่งขุดออกมาแล้วสามารถนำมาขายได้โดยต่างประเทศรับซื้อในราคาสูง โดยเฉพาะในจีน
.
ปัจจุบันมีผู้รับสัปทานแล้ว 3 ราย แต่ยังไม่มีการดำเนินงานเลย โดยจะเร่งรัดว่าต้องมีการดำเนินงาน ถ้าเกิดว่าไม่สามารถทำได้ก็ให้หาผู้ประมูลมาทำงานใหม่” เศรษฐา ทวีสิน #นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลัง #การประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (7 พ.ย. 2566)
.
ทั้งนี้ สัมปทานเหมืองแร่โปแตช 3 รายในประเทศไทยปัจจุบัน ได้แก่
.
1.บริษัท #อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ผู้รับประทานบัตรโครงการทำเหมืองแร่โปแตช จำนวน 9,707 ไร่ ในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.#ชัยภูมิ ได้รับอนุญาตประทานบัตร 25 ปี ตั้งแต่ 6 ก.พ. 2558 ถึง 5 ก.พ. 2583
.
โครงการดังกล่าว เป็นโครงการภายใต้ข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement) โดยไทยเป็นสมาชิกร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบูรไน ซึ่งข้อตกลงกำหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 60% ของยอดลงทุนทั้งหมด และรัฐบาลเจ้าของโครงการต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 20%
.
โครงการนี้ มี บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการ และ #กระทรวงการคลัง ถือหุ้นอยู่ 20% ปัจจุบันได้เริ่มพัฒนาเหมืองขั้นต้นเพื่อการผลิตแร่โพแทชไว้แล้ว เช่น การขุดเจาะอุโมงค์เข้าสู่เหมืองใต้ดินเพื่อการขนส่ง การสร้างห้องใต้ดินเพื่อทดลองผลิตแร่โพแทช โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.ชัยภูมิ เชิงพาณิชย์ ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2569
.
2. บริษัท #เอเซียแปซิฟิคโปแตชคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้รับประทานบัตรในโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.#อุดรธานี ได้รับอนุญาตประทานบัตร จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ประทานบัตรที่ 27206/16504 ประทานบัตรที่ 27207/16505 ประทานบัตรที่ 27208/16506 และประทานบัตรที่ 27209/16507 มีอายุ 25 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 2565 จนถึงวันที่ 22 ก.ย. 2590 มูลค่าการลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท
.
การขอประทานบัตรดังกล่าวถูก #กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี ที่ประกอบด้วยชาวบ้านจาก 3 ตำบล ต.หนองไผ่ อ.เมืองอุดรธานี ต.ห้วยสามพาด และต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม คัดค้านมาโดยตลอด เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และชุมชน ล่าสุด 29 มี.ค. 2566 ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานีให้เพิกถอน การออกประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี รวมถึงกระบวนการ และขั้นตอนทั้งหมดเกี่ยวกับการออกประทานบัตรดังกล่าว
.
3. บริษัท #ไทยคาลิ จำกัด ผู้รับประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ อ.#ด่านขุนทด จ.#นครราชสีมา ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช 9,005 ไร่ ใน 3 ตำบล คือ ต.หนองไทร ต.หนองบัวตะเกียด และ ต.โนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ระยะเวลา 25 ปี ตั้งแต่ 7 ก.ค. 2558 จนถึง 6 ก.ค. 2583
.
#กลุ่มฅนรักบ้านเกิดด่านขุนทด ผู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่ไทยคาลิ เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทเข้ามาดำเนินการทำเหมืองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็เปลี่ยนไป ผลจากการทำเหมืองที่ทำให้เกิดเกลือทำให้บ้านของชาวบ้าน ได้รับผลกระทบจากเกลือกัดกร่อนจนแทบจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้
.
ผลตรวจล่าสุดระบุว่า ระดับความเค็มของน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองโปแตชไทยคาลิ บางสระมีค่าความเค็มของน้ำมากถึง 60 ppt ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของความเค็มของน้ำทะเล และบางสระค่าความเค็มพุ่งขึ้นสูงมากจนเครื่องไม่สามารถตรวจสอบความเค็มได้