ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
12h ·
4 นักกิจกรรมเชียงใหม่รับทราบข้อหาหลัก ม.116 ทหารกล่าวหาอ่าน ‘ประกาศคณะราษฎร 2475’ ในวันที่ 24 มิ.ย. เท่ากับยุยงให้กระด้างกระเดื่อง
.
.
2 พ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ นักศึกษาและนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่รวม 4 คน ได้แก่ ชาติชาย ธรรมโม, วัชรภัทร ธรรมจักร, ธีราภรณ์ พุดทะสี และ เบญจภัทร ธงนันตา เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารของมณฑลทหารบกที่ 33 กล่าวหาในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีทำกิจกรรม “แห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2566 ซึ่งจัดขึ้นโดย “คณะก่อการล้านนา”
.
ก่อนหน้านี้ นักศึกษาสองในสี่คนได้รับหมายเรียกของ สภ.เมืองเชียงใหม่ คดีระบุว่ามี พล.ต.สันติ สุขป้อม อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 มอบอำนาจให้ ร.อ.กิตติศักดิ์ ศิริภาพ ไปกล่าวหาดำเนินคดีทั้งสี่คน และสื่อมวลชนที่ไลฟ์สดกิจกรรมดังกล่าว ในหลายข้อกล่าวหา โดยในเบื้องต้นตำรวจได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งหมด 4 คน
.
ต่อมาผู้ถูกออกหมายเรียกได้ขอเลื่อนนัดจากเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 มาเป็นวันนี้ เนื่องจากสามในสี่ยังเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และติดสอบปลายภาคในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
.
เวลา 10.00 น. ผู้ถูกออกหมายเรียกทั้ง 4 คน พร้อมทนายความ เดินทางเจ้าเข้ารับทราบข้อหา โดยมีเพื่อนนักกิจกรรมและประชาชนเดินทางมาติดตามสถานการณ์หลายสิบคน ตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้ตั้งแผงเหล็กกั้นรอบทางเข้าอาคาร และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 5-6 นาย คอยสังเกตการณ์บริเวณทางเข้าอย่างใกล้ชิด
.
ต่อมากลุ่มนักกิจกรรมได้แห่ไม้ค้ำมาเข้ารับทราบข้อหา ตามชื่อกิจกรรมที่ถูกกล่าวหา “แห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย” แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้นำไม้ค้ำเข้าไปภายในสถานี และขอให้วางไว้ที่ด้านนอก กลุ่มนักกิจกรรมจึงมอบไม้ค้ำดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เพื่อค้ำหลักการประชาธิปไตย
.
จากนั้นทั้ง 4 คน ได้เข้ารับทราบข้อหากับ พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ จันทร์เจือแก้ว พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ โดยกล่าวหาทั้งสี่ ในทั้งหมด 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่
.
1. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” หรือร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
2. ข้อหา ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3)
3. ข้อหาร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบมาตรา 28
4. ข้อหาตั้งวางสิ่งของกีดขวางทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385
5. ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 9 วรรค 1
6. ข้อหาตั้งวางหรือกองวัตถุใดๆ เพื่อการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นทางสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
.
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2566 เวลาประมาณ 17.10 น. ร.อ.กิตติศักดิ์ ศิริภาพ ผู้กล่าวหา พบเพจเฟซบุ๊กชื่อ Lanner ถ่ายทอดสดกิจกรรม “แห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” โดยมีวัชรภัทร และเบญจภัทร อ่านคำประกาศของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 โดยบันทึกข้อกล่าวหาได้ยกข้อความในประกาศทั้งหมดมาระบุไว้
.
ก่อนบรรยายต่อว่า ต่อมา ชาติชาย และธีราภรณ์ ได้อ่านคำประกาศ “คณะก่อการล้านนา” โดยได้ยกเนื้อหาของคำประกาศมาเช่นกัน จากนั้นบรรยายต่อว่ากลุ่มผู้ต้องหาได้มีกิจกรรมแห่ไม้ค้ำแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ จนถึงเวลา 19.00 น. ก่อนยุติกิจกรรม
.
ข้อกล่าวหาระบุว่าขณะมีกิจกรรม ได้มีเพจเฟซบุ๊ก Lanner ถ่ายทอดสด และเพจ Neo Lanna แชร์ออกไป ทางกองข่าวของมณฑลทหารบกที่ 33 ที่ติดตามการจัดกิจกรรมโดยตลอดได้รายงานให้ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ทราบ
.
โดยผู้กล่าวหาให้การยืนยันว่า การอ่านประกาศของคณะราษฎร ณ วันที่ 24 มิ.ย. 2475 นั้น เป็นการอ่านหลังจากที่คณะราษฎรได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย อันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การที่ผู้ต้องหากับพวกนำประกาศคณะราษฎรดังกล่าว มาอ่านอีกครั้งในวันที่ 24 มิ.ย. 2566 (วันครบรอบ) ทำให้เข้าใจได้ว่า ผู้ต้องหากับพวก มีแนวคิดเชิญชวนบุคคลที่ได้รับฟัง เกิดความกระด้างกระเดื่อง ไม่เคารพกฎหมายหรืออาจล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
ผู้กล่าวหาได้สอบถามมายัง สภ.เมืองเชียงใหม่ ทราบว่าการจัดกิจกรรมไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และขณะจัดกิจกรรม ผู้ต้องหากับพวกได้ร่วมกันนำรถเครื่องขยายเสียง ลำโพง โครงเหล็ก เวทีปราศรัยขนาดเล็กมาจอดตั้งไว้ บนทางเท้า ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร รวมทั้งมีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 จึงมอบอำนาจให้ผู้กล่าวหามาร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดี
.
หลังรับทราบข้อกล่าวหา ทั้งสี่คนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้ทั้งหมดพิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนให้ปล่อยตัวไปพร้อมนัดให้รายงานตัวเพื่อส่งสำนวนต่อพนักงานอัยการในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ต่อไป
.
.
อ่านข่าวบนเว็ปไซต์ https://tlhr2014.com/archives/61141