อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
สัปปายะสภาสถาน 10 ปี รัฐสภาหมื่นล้าน ที่ยังตรวจรับการก่อสร้างไม่ได้
9 พฤศจิกายน 2023
บีบีซีไทย
ปัญหาการตรวจรับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ "สัปปายะสภาสถาน" มูลค่า 12,280 ล้านบาท ที่แม้ครบกำหนดเวลาไปเมื่อเดือน ก.ย. แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจรับงานได้ เนื่องจากปัญหาการก่อสร้างไม่ตรงแบบ รวมถึงการพิจารณาค่าปรับกว่าหมื่นล้านบาทต่อผู้รับเหมาก่อสร้างที่ล่าช้าไปอย่างน้อย 4 ปี
กำหนดการเดิมของการตรวจรับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ "สัปปายะสภาสถาน" ก่อนหน้านี้ คือวันที่ 18 ก.ย. ซึ่งนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้ออกมาชี้แจงว่า คณะกรรมการตรวจการว่าจ้าง ซึ่งเป็นฝ่ายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่สามารถตรวจรับได้ เพราะยังมีความเห็นขัดแย้งในกรรมการบางส่วน จึงต้องทำคำชี้แจงของความเห็นแย้งให้ชัดเจนก่อน และตัวอาคารรัฐสภาเองก็ยังไม่สมบูรณ์ตามเงื่อนไขของแบบ
"รัฐสภามีผู้รับผิดชอบหลายหน่วยงาน สำหรับหน่วยรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการเป็นเรื่องหลักที่เราจะตรวจรับ มีส่วนของกรมศิลปากรที่ต้องรับผิดชอบในการตรวจรับ และส่วนของเอ็มอาร์ที ซึ่งแต่ละส่วนแยกส่วนกัน แต่ในส่วนของสำนักเลขาธิการสภาฯ มีบางส่วนที่ยังมีข้อสงสัย และมีความเห็นแย้งว่าไม่เป็นไปตามแบบ"
อย่างไรก็ตาม การชี้แจงของนายปดิพัทธ์ล่าสุด ในวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้สาธารณะได้รู้รายละเอียดที่เพิ่มขึ้นของการตรวจรับอาคาร ตลอดจนค่าปรับต่อผู้รับเหมาก่อสร้างที่ล่าช้ามาหลายปี
ขยายเวลาก่อสร้าง 4 ครั้ง
จากการชี้แจงของนายปดิพัทธ์ ได้ระบุลำดับเวลาย้อนหลังนับตั้งแต่การลงนามสัญญาก่อสร้าง จนถึงช่วงเวลาที่ต้องเสียค่าปรับ
บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2556 และมีกำหนดส่งมอบที่ดินในวันที่ 7 มิ.ย. 2556 และมีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลา 900 วันนับแต่วันส่งมอบที่ดิน หรือคือภายในวันที่ 24 พ.ย. 2558 หรือคิดเป็นเวลา 2 ปีกว่า
อย่างไรก็ตาม การส่งมอบติดปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า จึงมีการขยายระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 1,864 วัน โดยไม่มีการคิดค่าปรับ
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า การขยายสัญญานี้สิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 หลังจากนั้นเมื่อผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานตามระยะเวลาที่กำหนดได้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงสามารถคิดค่าปรับได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นมา จนมาถึงวันที่ 18 ก.ย. 2566
การก่อสร้างห้องประชุมเมื่อปี 2562
ผู้รับเหมาต้องเสียค่าปรับหรือไม่
ในการชี้แจงวันที่ 4 ต.ค. นายปดิพัทธ์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลของคณะกรรมการตรวจการว่าจ้าง ระยะเวลารวมที่ก่อสร้างล่าช้าคือ 990 วัน โดยค่าปรับตามสัญญากำหนดให้คำนวณค่าปรับเป็นรายวัน วันละ 0.1% หรือวันละกว่า 12.28 ล้านบาท จากราคาตามมูลค่าของสัญญาก่อสร้าง 12,280 ล้านบาท
ประเด็นของค่าปรับนี้เอง ที่เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ยังไม่สามารถตรวจรับอาคารรัฐสภาได้ เพราะเกี่ยวข้องกับมาตรการตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งมาตรการช่วงการระบาดของโควิด-19 และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
ข้อแรก ผู้รับจ้างได้ขอใช้สิทธิ์ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่หน่วยงานรัฐได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ โดยให้คิดค่าปรับเป็นศูนย์ เป็นเวลา 827 วัน
นายปดิพัทธ์ ระบุว่า จากการที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ซึ่งได้นำมาปรับใช้กับสัญญาก่อสร้าง มีการขยายเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 15 ให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลในสมัยนั้น โดยมีการงดหรือลดค่าปรับเต็มจำนวนถึงกว่า 10,155 ล้านบาท ทำให้สภาไม่สามารถคิดค่าปรับขั้นต่ำกับทางผู้รับจ้างได้
ข้อที่สอง มติ ครม. ที่เห็นชอบให้นำมาตรการช่วยเหลือกรณีค่าแรง 300 บาท ตามมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ให้ลดค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้างเป็นเวลา 150 วัน
สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ในส่วนนี้ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า หากมีการแก้ไขสัญญาการก่อสร้างจริง จะถือเป็นการงดเว้นค่าปรับให้ผู้รับจ้างอีก 1,842 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการควบคุมงาน และที่ปรึกษาบริหารโครงการเป็นเวลา 990 วัน ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2564 ถึง 18 ก.ย. 2566 รวมเป็นยอดสุทธิ 328,818,600 บาท เนื่องจากผู้รับจ้างทำงานไม่แล้วเสร็จภายในเวลากำหนด ทำให้ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ควบคุมงาน และที่ปรึกษาบริหารโครงการ
นายปดิพัทธ์ สรุปว่า ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปคือ เรื่องการแก้ไขสัญญา และเรื่องของการยกเว้นค่าปรับจากมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่มีมูลค่ากว่า 1,842 ล้านบาท ว่าจะยุติลงแบบใด
เพราะหากรวมทั้งสองกรณี ผู้รับจ้างจะได้รับการยกเว้นค่าปรับรวมทั้งหมดกว่า 11,997 ล้านบาท ที่ทำให้สภาไม่สามารถคิดค่าปรับได้ จากค่าปรับที่ต้องจ่ายจริงอย่างน้อย 12,157 ล้านบาท หากไม่มีสองมาตรการของ ครม.
ตรวจรับไม่ได้เพราะก่อสร้างไม่ตรงตามแบบเริ่มต้น 6 จุด
นอกจากเรื่องค่าปรับจากความล่าช้า การก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบถือเป็นอีกข้อพิจารณาของคณะกรรมการตรวจการว่าจ้าง
รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ระบุว่า ความเห็นของเสียงข้างน้อยในคณะกรรมการ ยังติดอยู่ที่ผู้รับจ้างจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร จะมีการเริ่มคิดค่าปรับจากการที่ไม่สามารถทำให้ตรงตามแบบเริ่มต้นหรือไม่ ตั้งแต่เมื่อไหร่ อย่างไร และฝ่ายกฎหมายของสภาจะสามารถทำอะไรได้บ้าง
สำหรับการก่อสร้างไม่ตรงตามแบบ จากการแถลงความคืบหน้าจากนายปดิพัทธ์เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ชี้ว่า กรรมการตรวจรับฯ มีความเห็นแย้งในการตรวจรับ เนื่องจากยังไม่สามารถทำให้อาคารรัฐสภาตรงตามแบบได้ทั้งหมด 6 จุด โดยผู้รับจ้างจะปรับในจุดที่มีปัญหาให้ตรงตามแบบได้หรือไม่ หากทำไม่ได้จะนำไปสู่การแก้สัญญาหรือไม่อย่างไร ก็ต้องเป็นนโยบายของเลขาธิการสภาฯ คนใหม่ เนื่องจากเลขาธิการสภาฯ คนเดิม เกษียณอายุราชการไปแล้ว
ข้อร้องเรียนใน ป.ป.ช.
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์” อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างสัปปายะสภาสถาน เนื่องจากการก่อสร้างไม่ตรงกับแบบที่ออกไว้ มีการกระทำที่ผิดต่อสัญญา หรือมีงานบางอย่างพบการเปลี่ยนแปลงแบบ โดยไม่แก้ไขแบบให้เป็นไปตามระเบียบ
นายปดิพัทธ์ เคยแถลงเมื่อปลายเดือน ก.ย. ว่าสามารถแยกการดำเนินการร้องเรียนในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกจากการตรวจรับรัฐสภาได้ เพราะเมื่อตรวจรับเรียบร้อยอยู่ในระยะเวลาประกัน 2 ปี คดี ของ ป.ป.ช. ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ และพร้อมที่จะให้ข้อมูลต่อการตรวจสอบการทุจริตที่เกิดขึ้น
"ผมไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้จ้างและผู้รับจ้าง แต่ผมจะเป็นตัวแทนของประชาชนในการตรวจสอบเรื่องนี้ให้มีความโปร่งใสมากที่สุด" นายปดิพัทธ์ ระบุ