วันศุกร์, กันยายน 22, 2566

ข้อคิดจากการไปเยือน OpenAI ผู้สร้าง ChatGPT - สันติธาร เสถียรไทย

·
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมออฟฟิศใหม่ของบริษัท OpenAI ที่สร้าง ChatGPT ที่ซานฟรานซิสโก พร้อมกับผู้บริหารของบริษัทเงินติดล้อและสถาบันการเงินอื่นๆจากหลายประเทศเพื่อศึกษาทั้งความเสี่ยงและโอกาสของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในยุคที่ ChatGPT กำลังเข้ามาปฏิวัติวงการ
จึงอยากหยิบข้อคิดบางส่วนที่พอจะเล่าได้มาเขียนบันทึกดูเผื่อเป็นประโยชน์ (ยาวหน่อยนะครับ)
*สร้าง IA ด้วย AI - จากหุ่นยนต์ที่พูดเก่งสู่ผู้ช่วยที่ชาญฉลาด
การสร้าง AI เพื่อมาแชทกับคนโดยใช้ข้อมูลข้อความมากมายมหาศาลจากอินเทอร์เน็ตมาเทรนความสามารถทางภาษาและการสนทนานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่
แต่สิ่งที่ใหม่คือ OpenAI พบว่า ChatGPT-3.5 (เวอร์ชั่นฟรี ที่เป็นรุ่นแรกให้คนทั่วไปใช้ได้) นั้นออกมา “ฉลาด” กว่าที่คาดและสามารถทำได้ไม่ใช่แค่การทายและสร้างบทสนทนาแต่สามารถเข้าใจคำสั่งต่างๆ ของคนและทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสารพัดประโยชน์ให้เราได้
จากที่ผมจับความได้ หนึ่งในโฟกัสของ OpenAI ต่อไปคือการพัฒนา ChatGPT ให้กลายเป็น “IA - Intelligent Assistant” หรือ “ผู้ช่วยที่ชาญฉลาด” ให้กับคน ซึ่งจะเพิ่ม Productivity ให้ธุรกิจและองค์กรต่างๆได้อย่างมหาศาล
ภาพที่เข้ามาในหัวผมคือ วันหนึ่ง ChatGPT อาจเป็นคล้ายๆ JARVIS ผู้ช่วยคนเก่งของ Iron Man ที่ทำได้สารพัดตั้งแต่สั่งอาหาร จัดตารางแต่ละวัน ยันวิเคราะห์และวางยุทธศาสตร์ให้องค์กร
นึกภาพไปได้ไม่เท่าไร คนของ OpenAI ก็หันไปเดโมสดๆ ฟีเจอร์ ChatGPT ที่เชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันอื่น (Plug-in) โดยสั่งเข้าไปว่า “มื้อเย็นนี้ฉันอยากกินอาหารสุขภาพ ช่วยหาสูตรสลัดอร่อยๆ แล้วสั่งซื้อให้ที”
ChatGPT ก็ตอบมาอย่างละเอียดทันที ว่าต้องใช้อะไรบ้างและสารอาหารเป็นอย่างไร พอคนตอบว่าโอเค เจ้า AI ก็ไปเชื่อมกับแอปพลิเคชันซื้อของสดออนไลน์แห่งหนึ่งและใส่ออเดอร์เข้าตะกร้าให้เรียบร้อย โดยทั้งหมดใช้เวลาไม่ถึงนาที
*ข้อมูลที่เราป้อนเข้าไปโดนเอาไปใช้อย่างไร
นี่คือคำถามที่ทาง OpenAI ถูกถามบ่อยที่สุด
ข้อมูลที่เขาสามารถนำไปใช้ในการเทรน AI ตัวนี้นอกจากข้อมูลสาธารณะแล้วก็คือข้อมูลที่พวกเราใส่ๆ เข้าไปในการแชทกับ ChatGPT แต่ละครั้งนี่แหละ **หากเราใช้เวอร์ชั่นสำหรับผู้บริโภค** (ซึ่งคือที่คนส่วนใหญ่ใช้) ไม่ว่าจะเป็นแบบฟรีหรือแบบที่จ่ายเงินก็ตาม
แต่หากเราใช้เป็นเวอร์ชั่นธุรกิจ (ChatGPT Enterprise หรือเป็นพาร์ทเนอร์ที่เชื่อมระบบ API กับเขา) ข้อมูลเหล่านี้จะถือเป็นความลับและไม่สามารถนำไปใช้เทรน AI ในภายหลังได้
นอกจากนี้ทางบริษัทเขาย้ำหลายครั้งว่า ChatGPT ไม่ได้เหมือนโปรแกรมอื่นๆ ที่เราอาจคุ้นกันที่จะกินข้อมูลใหม่ที่ของเราเข้าไปทุกครั้งที่ใช้และอัพเดทตัวเองตลอดเวลา
วิธีของเขาคือ ใช้ฐานข้อมูลเก่ามาฝึกพัฒนามันสมอง AI (Train) ให้ได้ “สติปัญญา” แค่ปีละครั้งเท่านั้น เพราะใช้พลังประมวลผลและต้นทุนสูงมากๆ
“แล้วสมมติลูกค้า/พาร์ทเนอร์ อยากให้ใช้ข้อมูลที่อัพเดทล่าสุดไปใช้ในการตอบโจทย์ที่เราให้ล่ะ จะต้องทำอย่างไร?” มีคนหนึ่งถามขึ้นมา
คำตอบก็คือ องค์กรนั้นก็ต้องป้อนข้อมูลชุดใหม่นี้เข้าไป หรือ เชื่อม API ให้ChatGPT เข้ามาใช้ข้อมูลอัพเดทนี้ได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เขาจะไม่เก็บไว้ใช้ทีหลัง
*ChatGPT-4 คือจุดเปลี่ยนสำคัญ
แต่ทั้งหมดคุยกันมาเป็นแค่หนังตัวอย่างเท่านั้น เพราะการประชุมกันครั้งนี้เริ่มเข้มข้นร้อนแรงขึ้นตอนเริ่มพูดถึง ChatGPT-4
“พวกเราที่ OpenAI นั่งใจจดใจจ่อ นับวันกันรอว่าเมื่อไร ChatGPT-4 จะถูกเทรนเสร็จ จนในที่สุดมันก็เสร็จในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว..”
ซึ่งผมและหลายคนในห้องที่นั่งฟังกันก็ทำหน้างงว่าแล้วทำไมรอตั้ง 6 เดือนกว่าจะปล่อยของออกมาต้นปีนี้
“เพราะมันเก่งและฉลาดกว่าที่เราคาดไว้มาก..พวกเราเลยอยากระวังเป็นพิเศษ”
ทางทีมนโยบายและการกำกับของเขาได้ไปศึกษาและทดสอบความปลอดภัยเพิ่มเติม ก่อนเพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่เป็นอันตรายเกินไปจึงดีเลย์ก่อนปล่อยออกมาจนต้นปีนี้
ว่าแล้ว คนของ OpenAI ก็โชว์ฟีเจอร์ใหม่ที่อยู่ในเวอร์ชั่นEnterprise
วันนั้น iPhone 15 เพิ่งเปิดตัวแล้วราคาหุ้นบริษัทApple ตกลงทันที เขาถ่ายรูปกราฟหุ้นที่ว่านี้ในจอแล้วโยนเข้าไปให้ ChatGPT เขียนงานวิจัยวิเคราะห์หุ้น การลงทุนแบบที่โบรกเกอร์ทำออกมาได้ทันที นอกจากนั้นยังสั่งให้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม จัดรูปแบบแล้ว ยิง Output ออกมาเป็นตารางไฟล์ Excel/CSV ให้เรามาทำต่อได้อีกด้วย
ที่สำคัญทั้งหมดเป็นการเขียนคำสั่งเป็นภาษาอังกฤษธรรมดาง่ายๆ ไม่ต้องมีการเขียนโค้ด หรือ ใช้ความเชี่ยวชาญในโปรแกรมใดๆ เลย อาจจะเรียกได้ว่าสามารถทำงานแทนที่ทีม Data-นักวิเคราะห์หลายคนได้เสร็จภายในพริบตาเดียว
*บิล เกตส์ยังยอม ChatGPT-4
เค้ายังเล่าให้ฟังอีกว่า ตอนสัตยา นาเดลลา ซีอีโอคนปัจจุบันที่ Microsoftไปลงทุนใน OpenAI (รอบที่ผ่านมาประกาศจะลงทุนต่อถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) บิล เกตส์ผู้ก่อตั้ง Microsoft ไม่ได้เห็นด้วยเพราะเขายังไม่ได้ตื่นเต้นกับเทคโนโลยีนี้ขนาดนั้น
แต่หลังจากได้เห็นเดโมของ ChatGPT-4 ทำข้อสอบ Advance Placement (AP) วิชาชีววิทยาเมื่อสิงหาคมปีที่แล้วจึงกลับลำและยอมรับว่านี่คือครั้งที่ 2 ในชีวิตเขาที่รู้สึกตื่นเต้นกับเทคโนโลยีขนาดนี้ (ครั้งก่อนคือตอนเห็น Graphic User Interface) และเชื่อว่าเทคโนโลยีตัวนี้ยังพัฒนาได้อีกไกลและจะมาเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมอย่างลึกซึ้งแน่นอน เช่นเดียวกันคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตในยุคก่อน
*เมื่อไรฟีเจอร์ใหม่ๆ จะมาถึงมือเรา
มาถึงตรงนี้บรรยากาศในห้องประชุมเริ่มมีความคึกคักเปี่ยมไปด้วยพลัง ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ที่นั่งกันอยู่ในห้องต่างก็พยายามถามว่าเมื่อไร ChatGPT Enterprise และฟีเจอร์ต่างๆ เหล่านี้จะเปิดตัวและมาให้องค์กรในประเทศเราๆ ใช้กันบ้าง
จากที่ฟังคือตัว ChatGPT Enterprise น่าจะเพิ่งเปิดตัวไป แต่จะมีฟีเจอร์ครบไหม เมื่อไร มาให้บริการในประเทศไทยเมื่อไรนั้นยังไม่ชัด ที่ชัด คือทาง OpenAI ยอมรับว่าเขากำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการขยายทีม-องค์กร
เพราะตอนแรกองค์กรถูกตั้งขึ้นมาโดยเน้นวิจัยแต่ตอนนี้กลายเป็นว่าโอกาสทางธุรกิจและพาร์ทเนอร์กับองค์กรต่างๆนั้นโตเร็วมากกว่าที่คาด จนเขาขยายตามไม่ทัน ตอนนี้เลยต้องทบทวนยุทธศาสตร์กันใหม่ อาจต้องคุยกับที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อดูว่าองค์กรอยากจะเติบโตไปทางไหน
ผมเองก็แอบอยากถามแบบกวนๆ ว่าทำไมต้องจ้างที่ปรึกษาแพงๆ ถามChatGPT ไม่ได้เหรอ
*จากตื่นเต้นกลายเป็นว้าวุ่น
ในช่วงสุดท้ายของการคุยกัน OpenAI โชว์ฟีเจอร์ที่ให้ ChatGPT-4 อธิบายภาพนิ่ง ที่เป็นรูปนักบินอวกาศนั่งกินเบียร์อยู่บนดวงจันทร์ ที่น่าสนใจคือ AI ตัวนี้ไม่ได้แค่บอกว่านี่คือภาพอะไร
แต่มีการตีความต่อว่า นักบินอวกาศ คงกำลังชิลล์อยู่เพราะเห็นนั่งสบายๆ ดื่มเบียร์
มีการตีความว่าภาพนี้น่าจะเป็นการทำกราฟฟิกขึ้นมาเพราะในความเป็นจริงนักบินอวกาศไม่น่าทำแบบนี้บนดวงจันทร์ได้
แถมยังคาดเดาต่อไปอีกว่า นักบินอวกาศคนนี้น่าจะใช้วิธีจอดยานอวกาศลงบนดวงจันทร์แบบไหน โดยสังเกตจากพื้นผิวของดวงจันทร์ในภาพ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ชี้ไปให้เห็นว่า ChatGPT-4 เริ่มมีความสามารถที่ดูคล้าย “การคิดวิเคราะห์และใช้ตรรกะ”มากขึ้นทุกที จึงไม่แปลกใจที่ AI ตัวนี้สามารถทำข้อสอบชีววิทยาระดับโอลิมปิกที่ไม่ได้มีแต่การท่องจำได้คะแนนสูงอยู่ในท็อป 1% เทียบกับคนทั่วโลก
มาถึงตรงนี้ บรรยากาศในห้องประชุมเริ่มเปลี่ยนไป จากความตื่นเต้นกับเทคโนโลยีใหม่ เริ่มกลายเป็นความกลัว จากความคึกครื้นเริ่มเป็นความอึ๊งๆหันมามองหน้ากันแล้วทำตาโต
ต่อไป AI จะเป็นผู้ช่วยเรา หรือ เราจะเป็นผู้ช่วยเขา หรือเขาไม่ต้องมีเรา?
ถ้ามีใครเอา AI ที่เก่งแบบนี้ไปใช้ในทางที่ผิดจะทำอย่างไร?
นี่คือคำถามที่หลายคนในห้องที่แต่เดิมล้วนเป็นคนที่มองเทคโนโลยีในแง่บวกเริ่มหันมาถามกันมากขึ้น
คนของ OpenAI ก็บอกตรงๆ ว่าทางเขาเองก็ยังไม่รู้ว่า ChatGPT-4 มีความสามารถแค่ไหนกันแน่ เพราะตอนนี้เราก็เหมือนว่ายืนอยู่ที่แค่ตรงชายหาดของทะเลอันกว้างใหญ่เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ค่อยๆ เปิด Use Case ใหม่อย่างระมัดระวัง
และทีมบริหารเขาก็เชื่อว่าโลกควรมีองค์กรและความร่วมมือระดับประเทศมาช่วยกันศึกษา ออกแนวทางและ กำกับดูแล AI
**ส่งท้าย: 2 ความกลัวที่ควรมี
ผมเดินออกจากห้องมาด้วย 2 ความกลัวสำหรับตัวเอง-องค์กรและประเทศ คือ “กลัวตกขบวน” และ “กลัวตกราง”
“กลัวตกขบวน” เพราะเห็นได้ชัดว่า ChatGPTและ Generative AI น่าจะเก่งและใช้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ สามารถกลายมาเป็น ซุปเปอร์ผู้ช่วยของคนได้จริง สามารถเพิ่ม Productivity และลดต้นทุนให้เราได้อย่างมหาศาล ซึ่งน่าจะตอบโจทย์เศรษฐกิจที่กำลังขาดคนวัยแรงงานอย่างประเทศไทย
นอกจากนี้ AIแบบ ChatGPT ที่ยังสามารถสื่อสารกับเราเป็นภาษาคนธรรมดา จึงเปิดโอกาสให้คนที่เขียนโปรแกรมไม่เป็น และองค์กรที่ไม่มีงบจะจ้างทีม IT จำนวนมากก็ยังสามารถใช้ Software โปรแกรมที่มีประโยชน์ต่างๆได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
แต่ในทางกลับกันหากองค์กร-ประเทศเราไม่เตรียมพร้อม ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ไม่เป็น ก็อาจตกขบวนถูกคู่แข่งทั้งที่เรารู้จักวันนี้และที่เรายังไม่รู้จักมาแซงหน้าไปไกลมากได้ง่ายๆ
“กลัวตกราง” เพราะหากเรากระโจนเข้าไปใช้เทคโนโลยีตัวนี้อย่างไม่ระวัง ไม่มีความเข้าใจ ก็อาจเกิดความผิดพลาด เกิดปัญหาข้อมูลรั่วไหล หรือถูกคนอื่นนำไปใช้ในทางที่ผิดและเกิดอันตรายเป็นวงกว้างได้
ดังนั้นแค่ “ใช้เป็น” ยังไม่พอ แต่ต้องใช้อย่างมี “ภูมิคุ้มกัน”และมีกรอบกฎกติกาที่ผลักดันให้คนใช้อย่าง “สร้างสรรค์” ด้วย
ในขณะที่กำลังคิดเรื่องเหล่านี้อยู่ในหัวและเดินออกไปก็อดชื่นชมความสวยของออฟฟิศใหม่ของ OpenAI ที่ถูกแปลงมาจากโรงงานเก่าไม่ได้ เรียกว่าแต่ละมุมสามารถเป็นห้องตัวอย่างในแคตตาล็อกชั้นนำได้เลย เสียดายที่เขาห้ามถ่ายรูป
“ว่าแต่คนที่ดีไซน์ภายในนี่เป็นมนุษย์ หรือ AI กันแน่นะ?