ชีวิตที่ไกลจากรั้วบ้านของ “โจ”: ทหารเกณฑ์ นักเรียนกฎหมาย และผู้ต้องหาคดีการเมือง
21/09/2566
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ระยะทาง 1,381 กิโลเมตร จากหาดใหญ่ถึงขอนแก่น เส้นทางที่ ศรายุทธ นาคมณี หรือ “โจ” นักกิจกรรม ฝ่าความไกลมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจเพราะอยากสัมผัสโลกมหาวิทยาลัย หรือเป็นโชคชะตาที่ไม่คาดคิด
กับชีวิตแต่หนหลัง โจเองผ่านประสบการณ์มากมาย ด้วยคิดฝันอยากเป็นศิลปิน จึงตัดสินใจออกจากการศึกษาในระบบตั้งแต่ยังไม่จบชั้นมัธยมต้น เพื่อไปฝึกฝนการทำงานเชิงศิลปะ ตั้งแต่เป็นลูกจ้างร้านขายโลงศพ หล่อเรซิน แกะลายไทย ออกแบบฉากเวทีดนตรีลูกทุ่งของโรงเรียนมัธยม และฝึกเขียนวรรณกรรมผ่านการอ่านงานของนักเขียนไทยอย่าง ส.อาสนจินดา, มาลัย ชูพินิจ และอุทิศ เหมะมูล
“ส่วนมากที่อ่านเป็นเรื่องที่ว่าชีวิตคืออะไร และเราเกิดมาเป็นคนก็ควรจะทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ก็เป็นวิธีการอธิบายโลกในแบบเก่าอยู่” โจพูดถึงหนังสือที่เคยสนใจก่อนชีวิตเข้าสู่โลกของทหารเกณฑ์ ที่ยึดถือระเบียบวินัยเป็นกฎเกณฑ์แห่งชีวิต
หลังผ่านพ้นช่วงวัยนั้นโจกลับไปเรียน กศน.จนจบมัธยมปลาย และตัดสินใจสมัครเข้าเรียนต่อคณะนิติศาสตร์ ในที่ที่ห่างไกลจากบ้านมากกว่าหนึ่งพันกิโลเมตร ที่นี่เองที่ทำให้ชีวิตโจเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ในเชิงรูปธรรมจากคนที่เชื่อในระบบทหาร โจกลายเป็นนักศึกษาและนักกิจกรรมที่คัดง้างกับเจ้าหน้าที่รัฐในหลายเหตุการณ์ชุมนุม จนครั้งหนึ่งจากคนที่เชื่อมั่นในรัฐอย่างสุดหัวใจ โจกลายเป็นผู้ต้องหาและจำเลยคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังร่วมกิจกรรมปราศรัยไม่เห็นด้วยกรณีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564
สำหรับโจในวัย 34 ปี ระยะทางและช่วงเวลาที่จากมานั้นไกลแน่ ๆ แต่มากกว่านั้น ชีวิตทางความคิด ดูจะเป็นสิ่งสะท้อนได้ว่า เขาเดินทางมาไกลกว่าการจะกลับไปยึดถือสิ่งที่เคยเชื่อแบบขนบอนุรักษ์นิยมแล้ว และมุ่งจะไปต่อในแนวทางที่นักเรียนกฎหมายอย่างเขาเรียกว่า ‘สังคมนิยมประชาธิปไตย’
ในรั้วทหาร : วินัย ที่พึ่งทางใจของ ‘คนไม่รู้หนังสือ’
โจเล่าถึงตัวเองเมื่อปี 2554 อายุย่างเข้า 21 ปี ถึงวัยที่ต้องไปเกณฑ์ทหาร เขาสมัครไปเป็นทหารบกที่ค่ายเสนาณรงค์ 2 ปีเต็ม ก่อนพูดถึงจุดมุ่งหมายครั้งนั้นว่า “ผมอยากจะลองฝึกเขียนวรรณกรรมให้ดีขึ้น ผมรู้สึกว่าชีวิตที่บ้านชานเมืองหาดใหญ่ ไม่เปิดโอกาสให้เรียนรู้ชนบทและความเป็นเมืองได้เต็มที่ เรากลายเป็นพวกไม่มีประสบการณ์ เลยคิดว่าเป็นอุปสรรคในการเขียนวรรณกรรม จึงหวังไปสัมผัสเรื่องราวเกณฑ์ทหาร ที่ทุกครอบครัวต้องเผชิญ”
แต่ก่อนหน้าจะไปเข้าค่ายทหาร โจก็เขียนเรื่องสั้นเก็บไว้ เป็นเรื่องความรักหนุ่มสาวในรูปแบบ ‘ชายแท้’ เช่นว่า ผู้ชายต้องอุทิศตนเองให้กับลูกเมีย
ส่วนบรรยากาศในสังคมทหารโจให้ภาพว่า “ผมพยายามทำตัวให้ไร้ประโยชน์เข้าไว้ ขับรถไม่ได้ อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก ทำตัวให้ดูโง่ ๆ เข้าไว้ จะได้ไม่ต้องถูกดึงตัวไปใช้งานตามบ้านนายทหาร และพยายามอำพรางเรื่องที่เราตั้งใจมาเก็บวัตถุดิบในการเขียนเรื่องสั้น”
โจเปิดเผยอีกว่า จากการที่ตอนนั้นเขาและเพื่อนทหารเกณฑ์บางรายไม่รู้หนังสือ อย่างเดียวที่พอจะค้นหามาเป็นที่พึ่งทางใจได้คือ ‘วินัยทหาร’ ที่โลกของทหารจะอธิบายแตกต่างไป อย่างเรื่องคนไม่เท่ากัน ที่มีคนอ่อนแอกับคนที่แข็งแรง การที่ได้เรียนรู้วิชาทหารจะทำให้คน ๆ นั้นดูแข็งแรงกว่าคนอื่น และมีอำนาจที่จะสั่งสอนคนอื่น โจจำได้ขึ้นใจว่ามีทหารนายหนึ่งกล่าวในที่สาธารณะให้ได้ยินว่า “ทหารเป็นอาชีพที่มีเกียรติมาก เรามีความรู้ มีประสบการณ์มากมาย ทหารอยู่เหนือการเมือง เป็นคนคอยตรวจตรารัฐบาลพลเรือนและความสงบเรียบร้อยของสังคม หน้าที่ของทหารคือถ้าเมื่อไหร่บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อยก็จะสั่งสอนรัฐบาลด้วยการก่อรัฐประหาร”
โจพูดต่อว่า “คำสอนลักษณะนี้ ทำงานกับความคิดผมมากในตอนนั้น เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำเราคิดเป็นศีลธรรมชุดหนึ่ง คือถ้าคุณไม่รู้ก็ต้องรู้ซะว่าทหารเป็นแบบนี้ และจะมีทหารที่บอกว่าถ้าอยากเข้าใจเราก็มาเป็นทหารซะ”
เมื่อถามถึงเฉดความคิดทางการเมือง โจให้นิยามตัวเองว่าเคยเป็นพวกขวาจัดและบูชากฎหมาย แต่หากย้อนไปตอนอยู่ในโลกศิลปะ เขามองเรื่องการเมืองว่า “เป็นธุระของคนรู้หนังสือที่คุยกัน ซึ่งในพื้นที่แห่งนั้นไม่ได้มีพวกเรา และเราไม่ได้ต้องการพูดเรื่องความรู้ทางการเมือง เพราะรู้สึกเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ”
โจเล่าชีวิตในรั้วทหารอีกว่า “ผมพยายามทำความเข้าใจว่า อาชีพทหารคือการคิดเรื่องยุทธศาสตร์หรือการทำสงคราม เช่น คำถามที่ว่าเราจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร คำตอบง่ายมากคือการรักษาความมั่นคงของชาติ เลยได้ความคิดว่าจะเอาทหารนำทุกอย่างให้ชีวิต มองพลเรือนว่าทำไมไม่จัดการระเบียบวินัย”
เมื่อปลดประจำการแรก ๆ ปี 2556 โจย้อนความทรงจำว่า “ผมเกลียดโลกนี้มาก มองว่าโลกนี้ไม่มีระเบียบอะไรเลย ทุกคนดูไม่เป็นระเบียบ ทั้งที่เขาก็ใช้ชีวิตตามปกติ เลยเข้าใจว่าคนที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมเขาเหยียดคนอื่น เพราะคนอื่นทำตัวไม่ตรงตามที่เขาคิด”
จนเวลาผ่านไป 1-2 ปี ที่รู้สึกได้ว่าเข้ากับคนอื่นไม่ได้เลย “ชีวิตคนอื่นเป็นภาระในสายตาเรา เพราะฉะนั้นปัญหาคือเรากำลังบ้าคลั่งอยู่กับอะไรบางอย่าง จึงคิดได้ว่าไม่ควรเรียกร้องคนอื่น ควรเรียกร้องจากตัวเองก่อน”
สำหรับโจอุปสรรคของความคิดแบบทหารคืออีโก้ แหล่งความรู้เดียวที่มีคือการฝึก และประสบการณ์ในสนามรบ ไม่มีความรู้ในแบบอื่น ๆ ที่ไปไกลกว่าสนามฝึก “เราเอาประสบการณ์นี้เป็นเข็มทิศให้กับชีวิต เลยเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก ตอนนั้นใครเรียนมหาวิทยาลัย ผมจะรู้สึกว่าแล้วไงวะ ? นี่คือรูปธรรม”
หลังปลดทหาร โจกล่าวว่าไม่ได้เขียนเรื่องสั้นอีกเลย เพราะสองปีนั้นได้เรียนแต่วิชาทหารมา “ประสบการณ์เหล่านั้นก็ไม่รู้จะเขียนให้ใครอ่าน เพราะเป็นชุดประสบการณ์ที่ถูกลำดับชนชั้นไว้ เช่น ถ้าคุณอยากเข้าใจทหารก็ไปเป็นทหารซะ ถ้าจะเขียนให้คนภายนอกอ่านเขาก็คงไม่อ่าน”
หากจะมองในแง่พัฒนาการด้านการศึกษา สิ่งที่โจได้จากตอนอยู่ค่ายทหาร คือ ได้เรียน กศน.ชั้น ม.ต้น จนจบ พอจบกลับมาก็อยากไปเรียน ม.ปลาย ต่อ มีทางเลือกที่อาจไปสอบนายสิบทหารบกอีก ก่อนจะคุยกับเพื่อน ๆ ถึงบทสรุปที่ตัดสินใจจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ขอนแก่น ที่เพื่อนคนหนึ่งกำลังเรียนต่อปริญญาโท เพราะจะได้ให้เพื่อนช่วยเรื่องเอกสาร
แต่กว่าจะได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย โจก็ใช้ชีวิตทำงานกิจการครอบครัว ขายน้ำมันหล่อลื่นเครื่องจักรกล และมาจบ ม.ปลาย ตอนอายุ 26 ปี ก่อนสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยตอนอายุ 27 ปี โจย้อนเล่าว่า สิ่งที่อยากเรียนตอนแรกคือศิลปกรรมศาสตร์ ตามความถนัดด้านศิลปะในอดีตที่สั่งสมมา แต่ไม่มีแฟ้มสะสมผลงาน เพราะครู กศน.เก็บไว้ จึงไม่มีผลงานที่จะใช้ยื่นมหาวิทยาลัย จึงเลือกสิ่งที่ถนัดรอง ๆ ลงมาคือเป็นนิติศาสตร์ เพราะเชื่อในวินัยของตัวเอง ทั้งพื้นฐานเคยผ่านมาบ้าง เวลาลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในการตอบคำถามเรื่องกฎหมายเบื้องต้น และเรื่องอำนาจหน้าที่ในพื้นที่ โจเสริมว่าประสบการณ์เหล่านั้นถ้าจะแปลงมาเป็นการเรียนหนังสือ ก็น่าจะเป็นวิชากฎหมาย
.
ในรั้วมหาวิทยาลัย : นิติศาสตร์ มข. จุดที่เปลี่ยนชีวิต
หลังสอบติดในระบบรับตรง ปีการศึกษา 2560 โจยอมรับว่า ตอนนั้นเขาแทบไม่รู้จักอะไรเลยใน จ.ขอนแก่น และเป็นครั้งแรกที่ต้องเรียนกับเพื่อนในห้องที่อายุห่างกัน 8 ปี เขาเริ่มอัพเดทข้อมูลสังคมรอบ ๆ ตัวว่า การเข้ามาเรียนคณะนิติศาสตร์ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง เป็นต้นว่า ระบบโซตัส โจก็ทำการบ้านหาข้อมูลเรื่องนี้มา “ก็รู้สึกว่ามันผิดที่ผิดทาง เป็นเรื่องไร้สาระของปัญญาชน มันควรจะอยู่ในรั้วทหารมากกว่า” ก่อนโจจะไปหาข้อมูลว่า กลุ่มดาวดิน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือใคร มีบทบาทยังไง
“สิ่งที่ผมทำเหมือนเป็นทหารคนหนึ่ง จะไปที่นั่นก็ต้องศึกษาพื้นที่ มีใครบ้าง ทำอะไรได้บ้าง แต่กับ ‘ไผ่’ ที่โดน 112 แม้ผมจะมีความคิดอนุรักษ์นิยม แต่กับเรื่องสถาบันกษัตริย์ ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า เพื่อความมั่นคงเราต้องใช้ทรัพยากรในการจัดการกับเรื่อง 112 มากมายขนาดนี้เลยเหรอ คน ๆ เดียวจะไปล้มล้างสถาบันได้อย่างไร ถึงที่สุดมันมีคำถามที่ตอนนั้นผมยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมนักศึกษาต้องยุ่งการเมือง เป็นปัญหาคำถามใหญ่มาก”
โจฉายภาพว่า ตอนเข้ามาเรียนปี 1 ต้องปรับตัวเยอะมาก การไม่เชื่อในระบบโซตัสก็ไม่ทำให้ปรับตัวได้ราบรื่น การเป็นเพื่อนกับคนอายุห่างกัน 8 ปี นั้นกล้ำกลืนพอประมาณ “เลยปล่อยจอยเรื่องอายุดู จากโลกทหารถึงโลกมหาวิทยาลัย การที่จะถูกยอมรับได้อาจมีหลายช่องทาง จนไปเจอเรื่องการพัฒนาตนเองเรื่องการเรียน เหมือนกับเราเจอโลกที่เราหา ผมกำลังคิดถึงโลกที่เป็น Academic มีการอ่านหนังสือ ค้นคว้า ถกเถียง และมี Passion ในการเรียน ทุกอย่างฝ่าด้วยวินัยที่ติดตัวมา”
ความประทับใจแรกในการเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ โจเล่าว่าจะมีอาจารย์จะสอนว่ากฎหมายนั้นบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวกับการเมือง และยิ่งกฎหมายอาญาที่กำกับพฤติกรรมมนุษย์ ก็ไปกันได้กับวิชาทหารที่ควบคุมให้คนอยู่ในระเบียบวินัย ไล่ล่าความชั่วร้ายของคนอื่น หากมีการล่วงล้ำศีลธรรมของสังคม
แต่แล้วในทางหนึ่งสำหรับการศึกษากฎหมาย “เรามองแบบไม่รู้จุดเริ่มต้นที่มาและช่างแม่งจุดจบของผลทางกฎหมาย ยิ่งฉีดอีโก้เรื่องกฎหมายด้วย จนมาคิดได้ว่าถ้าเราแยกกฎหมายออกจากการเมือง เราจะแทบมองไม่เห็นความยุติธรรมในสังคมเลย แล้วเราจะไม่เชื่อเลยว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง ก็จะเดินไปตามกฎหมายอย่างเดียว พอมีความสนใจการเมืองช่วงหลัง ๆ ผมก็จะรื้อเอกสารกลับมาอ่านใหม่หมด เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ที่มาที่ไปมากขึ้น”
โจเริ่มมามีคำถามจริง ๆ ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ จากวันที่เคยเชื่อว่าทหารสามารถก่อรัฐประหารได้ แต่พอมาได้เรียนกลับพบว่า กฎหมายที่ให้อำนาจทำรัฐประหารมันไม่มี จึงเริ่มไม่เชื่อแนวคิดแบบทหาร “พอเราตื่นทางการเมือง เราก็รู้สึกได้ว่าทุกสิ่งอย่างมันคือการเมืองหมด ย้อนคิดว่าการเป็นทหารเกณฑ์ที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นการเมือง ตกผลึกว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทหารไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่ในพื้นที่นั้น”
โจกล่าวต่อไปว่า “พอเข้าใจเรื่องนี้ได้เลยตั้งข้อสงสัยกับศีลธรรมของวินัยทหาร จนถึงช่วงโควิดระบาดตั้งแต่ปี 2563 ที่เรากำลังถกเถียงเรื่องวัคซีนและคุณภาพชีวิต สิ่งที่ทหารทำคือกลับไปคิดถึงความมั่นคงเสียอย่างนั้น ผ่านการใช้ปฏิบัติการ IO (Information Operation) ในการสร้างสงครามข่าวสาร เข้าไปเจอคลังเอกสารของโรงเรียนนายร้อยตำรวจเรื่องสงครามข่าวสาร ประชาชนเป็นหน่วยหนึ่งของการปกครอง หากถูกครอบงำด้วยสิ่งอื่นจะทำให้ชาติสั่นคลอน ทหารต้องเข้าไปแทรกแซงประชาชน แบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม สื่อสารกับคนรักชาติให้ไปถล่มคนที่เป็นปฏิปักษ์กับชาติ”
อดีตคนรักในวิชาชีพทหาร โจเล่าถึงการค้นพบว่า สิ่งที่กองทัพทำคือพยายามเบี่ยงประเด็นสังคมเป็นว่า คนที่ตั้งคำถามกับหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำกับประชาชนคือคนที่ซ้ำเติมชาติ แนวคิดของไอโอ พวกสั่นคลอนชาติต้องถูกจำกัด
“ตอนนั้นผมนัดพบกับ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ เพื่อจะสื่อสารให้เขารู้ว่า เรื่องที่เขาสู้อยู่ เราเข้าใจ เลยขอแลกเปลี่ยนว่า ผมควรจะต้องรู้อะไรเพิ่มบ้าง ไผ่ให้เวลาผม 2 สัปดาห์ ให้หนังสือมาอ่าน เช่น คนนอก (อัลแบร์ กามูส์), ยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตย การวิเคราะห์บทบาททหารในการเมืองไทย (ชัยอนันต์ สมุทวณิช), ประชาธิปไตย (ไม่ใช่) ของเรา (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์) ให้เข้าไปนั่งเล่นในบ้านกลุ่มกิจกรรม และจัดวงคุยให้ผมได้สนทนากับคนอื่น ๆ พอผมค้นพบเรื่องไอโอ ความเชื่อเรื่องทหารมันพังทลายลงมาหมดเลย ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมมันมีการต่อสู้ในประเทศของเรา การตื่นวันนั้นทำให้รู้ว่ารัฐตอแหลชิบหาย”
จากนั้นโจกับนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ลงพื้นที่ที่โรงงานน้ำตาล อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ศึกษาการต่อสู้ของกลุ่ม ‘เปราะบาง’ พอได้เข้าใจเรื่องนี้ก็เริ่มเอาเรื่องที่อยู่ในพื้นที่มาถามคำถามในห้องเรียน ไปเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ก็เอาคำถามเหล่านี้ไปถามกับอาจารย์ จนเจออาจารย์พูดกลับมาว่า “คุณหมกหมุ่นกับกฎหมาย พูดถึงความเท่าเทียม พูดถึงนายทุน เรียกประเทศว่าเป็นรัฐ คุณเป็นคอมมิวนิสต์หรือเปล่า?”
ครั้งนั้นโจเกิดคำถามเรื่องนี้จึงไปศึกษาว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร ฝ่ายซ้ายคืออะไร มาร์กซิสคืออะไร จึงได้เข้าใจว่าอุดมการณ์การเมืองคืออะไร แล้วอาจารย์เป็นอะไร?
โจเล่าว่า พอศึกษาลึกลงไปทำให้ได้คำตอบว่า อุดมการณ์ที่เรียกว่าเป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ เป็นประชาธิปไตยอย่างหนึ่งที่เริ่มจากการตั้งคำถามว่าความเป็นธรรมคืออะไร สิ่งนี้มันสำคัญกับมนุษย์ทุกมิติ ที่ผ่านมาหากไม่มีใครตอบคำถามเหล่านี้ได้ แสดงว่าประเทศมันมีการกดขี่อยู่ ประเทศไหนที่ก้าวหน้าก็ต้องตอบคำถามเรื่องการกดขี่ได้ หรือไม่ก็ไม่ปิดปากผู้คนที่เสาะแสวงหาความเท่าเทียม
.
ในรั้วศาล : ตกเป็นจำเลยคดีการเมือง เหตุรับไม่ได้ เจ้าหน้าที่สลายชุมนุมรุนแรง
จากเรียนรู้กับไผ่ เริ่มมาเป็นสมาชิกกลุ่มกิจกรรม UNME of Anarchy โจเล่าว่ามันให้สำนึกใหม่ การอธิบายโลกใหม่ ทั้งเป็นส่วนประกอบในชีวิตมนุษย์ที่ดีขึ้น รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่เรียกขานอ้างอิงตัวเองกับกลุ่มนี้ได้
“ผมพยายามทำอะไรที่ทำได้ดี คือเรื่องเรียนและวิชาการ สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเพื่อน ๆ ด้วยชุดข้อมูลและการวิเคราะห์ เริ่มจากเขียนแถลงการณ์ต่อต้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) การทำโรงงานน้ำตาลที่หนองบัวแดง ตอนนั้นหาข้อมูลเตรียมแถลงการณ์ เสริมความรู้ทางด้านกฎหมาย หารายงานวิจัยมาอ้างอิง รวมถึงหากจะต่อสู้เรื่องไหนก็หางานวิชาการมาซัพพอร์ต ดีกว่าให้เพื่อนไปมือเปล่า ที่จะอันตรายเกินไปหากจะออกมาเคลื่อนไหว รัฐพร้อมจะปราบปรามตลอดเวลา”
โจบอกว่า ตอนทำงานในกลุ่มจะใช้หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายมหาชนทั่วไป แสดงให้รัฐเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือข้อเรียกร้องจากประชาชน และรัฐมีหน้าที่รับฟัง จะไม่ฟังก็ไม่ได้ ไม่ถูกใจก็ต้องฟัง เพราะเป็นรัฐ และอำนาจหน้าที่ถูกจำกัดโดยกฎหมาย สำหรับโจประโยคเรื่องความเป็นธรรมที่ซ่อนอยู่ในตัวบทกฎหมายต้องไม่ใช่ประโยคที่ใช้เฉพาะในหมู่นักกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจเพราะเป็นเรื่องหลักการพื้นฐาน เช่น การแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ การทำ EIA ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เอาหลักการให้ไปและพอทุกคนเข้าใจ เขาจะมีวิธีการอธิบายสังคมและคู่ขัดแย้งได้ด้วยตัวเอง
โจเล่าต่อว่า จะได้ลงข้อกฎหมายกันบ้างตอนปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ “ว่าเขาโควทประมวลเรื่องความผิดมา เราก็โควทกลับ คือปกติคุณโควทให้ประชาชนฟัง ผมอยากรู้เหมือนกันว่าถ้าเขาเจอคนที่รู้กฎหมายเหมือนกันจะเป็นยังไง เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้การตีกินเรื่องนี้มาตลอดชีวิตราชการ”
เช่น “การบุกบ้านที่ไม่รู้ข้อกฎหมายที่ตีความเองมันผิดอย่างไร หรือการชุมนุม ที่ตำรวจใช้ความคลุมเครือ ถ้าตำรวจอธิบายไม่ได้ว่าเขาทำผิดกฎหมายอย่างไร ความผิดซึ่งหน้าก็ไม่เกิด อำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐานก็ไม่เกิด แล้วการที่ตำรวจไล่ถ่ายภาพชาวบ้านที่ไปชุมนุมตามอำเภอใจแบบนี้ก็ดีแล้วที่เขาไม่ต่อยคุณ เพราะนั่นคือการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประชาชนก็มีอำนาจในการป้องกันตัว” โจเน้นย้ำการใช้ความรู้ทางกฎหมายเป็นอาวุธขจัดความคลุมเครือ
โจปราศรัยครั้งแรกที่สวนเรืองแสง ในตัวเมืองขอนแก่น พูดเรื่อง EIA และอุปสรรคในการต่อสู้เป็นอีกมุมหนึ่งที่ชาวเมืองไม่ได้รู้มาก่อน โจสะท้อนความรู้สึกครั้งนั้นว่าเรียนรู้ไปด้วยกัน เติบโตไปด้วยกัน และสู้ไปด้วยกัน แม้จะทำกิจกรรม แต่โจก็ไม่ลืมว่ามีภารกิจเรื่องการเรียนเป็นหลัก ต้องม้วนเดียวจบ
“จากทหารคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในรัฐ จนตอนนี้ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่าผมไม่ได้สมาทานการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม แต่กลายเป็นคนที่เชื่อในสังคมนิยมประชาธิปไตย ภาคการเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจต้องเท่าเทียม วัฒนธรรมขอให้เป็นพหุวัฒนธรรม ซึ่งแนวคิดแบบนี้ขัดแย้งกับรัฐแน่ ๆ”
สำหรับคดีที่ต่อสู้ โจถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 “จำได้ว่าเพื่อนเราถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่กรุงเทพฯ เรารับไม่ได้ จึงเข้าร่วมชุมนุมคู่ขนานกันที่คอมเพล็กซ์ ม.ขอนแก่น และเคลื่อนขบวนไป สภ.ย่อย มข. เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่องค์กรของพวกเขาทำ หากรับไม่ได้ก็เอาเรื่องนี้ไปเถียงในองค์กรคุณว่า มีประชาชนเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่รัฐ”
วันนั้นโจเป็นหนึ่งในคนปราศรัย พูดเรื่องความรุนแรงโดยรัฐ เนื่องจากเป็นพลเมืองที่มีส่วนได้เสียกับการกระทำของรัฐ จึงใช้เสรีภาพตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ก่อนจะต่อสู้คดีว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม การรวมตัวของนักศึกษาไร้การจัดตั้ง ไม่มีใครนำใครได้ แค่อยู่ร่วมในเหตุการณ์และไมค์ว่างทุกคนมีเสรีภาพที่จะพูด ถึงที่สุดคดีดังกล่าวศาลแขวงขอนแก่นพิพากษายกฟ้องโจและนักศึกษานักกิจกรรมคนอื่นรวม 9 คน
นอกจากนั้นตำรวจ สภ.ภูเขียว เคยออกหมายเรียกให้โจเข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีจากเหตุชุมนุมวันที่ 1 ก.พ. 2564 อีกด้วย แต่วันนั้นโจไม่ได้เดินทางไป อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพราะอยู่ระหว่างอ่านหนังสือสอบ พนักงานสอบสวนจึงตรวจสอบข้อมูลในเอกสารและภาพถ่ายที่บันทึกเกี่ยวกับการชุมนุม ก่อนพบว่าไม่มีโจอยู่ในเหตุการณ์จริง ๆ จึงถอนหมายเรียกผู้ต้องหาในภายหลัง
เมื่อถามถึงครอบครัว โจเล่าว่าที่บ้านทางภาคใต้ก็จะเป็นห่วงเรื่องคดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ส่วนการเคลื่อนไหว ถึงตอนนี้แม้ครอบครัวไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด แต่ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องการกำหนดชะตาชีวิต ว่าควรจะเป็นเรื่องของคนรุ่นหลัง ถึงไม่เห็นด้วยก็ไม่ขวาง
“ผมมองว่าเป็นเพราะคิดฝันเรื่องเสรีภาพ ชีวิตเลยเปลี่ยนไปได้ ถึงที่สุดคุณอาจจะไม่ได้เคลื่อนการเมืองแต่การมีเสรีภาพทางความคิด จะทำให้มีไอเดียดี ๆ ในการพัฒนาชีวิตแน่นอน มันเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นแน่ ๆ หากยังอยู่ในค่ายทหาร” โจกล่าวไว้อีกตอนหนึ่ง
.
ในรั้วโรงเรียนนิติศาสตร์ : กฎหมายต้องรับใช้อุดมคติ
ในฐานะนักกฎหมายโจมองว่า จากอดีตนักกฎหมายอาจเป็นมือเป็นตีนให้กับกษัตริย์ คอยเป็นคนทำภารกิจยิ่งใหญ่ให้สถาบันหลัก จึงเป็นการเติมอีโก้ให้นักกฎหมายมากขึ้น และเวลามีข้อพิพาทมักกลับไปหาตัวบทกฎหมายมากกว่าบริบทแวดล้อมอื่น เพราะฉะนั้นนักกฎหมายที่เอาตัวรอดด้วยการกลับไปหาตัวบทกฎหมาย จึงตอบปัญหาได้ไม่หมด
โจกล่าวถึงศาสตร์อย่าง นิติศาสตร์ว่า ไม่ควรเป็นองค์ประธานทางสังคมศาสตร์อย่างที่นักกฎหมายบางคนเข้าใจ ควรสืบย้อนว่ากฎหมายเกี่ยวข้องกับใครบ้าง วิชาพื้นฐานที่ต้องเรียนอย่างปรัชญา “ถ้าได้เรียนเพิ่มขึ้นเราจะมีสำนึกของนักกฎหมายที่ถูกครอบงำโดยรัฐน้อยลง ถ้าเรียนปรัชญาเราจะได้รู้ถึงสาระสำคัญของสิ่งที่เราเรียน จุดกำเนิด เป้าหมาย และวิธีการคืออะไรในการจะเป็นนักกฎหมาย นักกฎหมายจะต้องวางการตรวจสอบความคิดภายในเป็นสำคัญ เพราะคุณเป็นคนตีความกฎหมาย”
กับการศึกษากฎหมายปัจจุบัน โจเน้นหนักไปทางนิติปรัชญา ทั้งสำนักกฎหมายบ้านเมือง สำนักกฎหมายธรรมชาติ และสำนักกฎหมายสังคมนิยม สิ่งที่อยากเห็นในระบบกฎหมายไทยคือ มีนักกฎหมายและกฎหมายที่รับใช้อุดมคติได้บ้าง “ทุกวันนี้กฎหมายมันศักดิ์สิทธิ์และแตะต้องไม่ได้เลย กฎหมายถูกวางให้เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ห้ามขัดแย้งกับมัน ทั้งที่กฎหมายต้องถูกโต้เถียงและปรับปรุงแก้ไขได้ กฎหมายต้องเปิดพื้นที่ให้มีคนเข้ามาแสดงความเห็นใหม่ ๆ แม้แต่คำถามที่โง่ที่สุดยังจำเป็นที่จะต้องมีคำตอบให้”
ก่อนที่จะอธิบายต่อว่า “ในทางรูปธรรมนักกฎหมายต้องรู้ว่ากำลังปกป้องอะไรอยู่ โดยเฉพาะเสรีภาพของประชาชน คนเราจะได้โต คนเราจะได้ไม่ติดหล่มกับความมั่นคงและล่มสลาย และต้องเลิกผลิตซ้ำเรื่องราวเหล่านั้น การค้นพบเรื่องใหม่ ๆ เช่น การปกครองตนเอง คนอยากแยกประเทศ ข้อเรียกร้องเหล่านี้ต้องถูกรับฟังโดยที่รัฐไม่ต้องไปกล่าวหาว่ากระทำผิด พอยอมรับเรื่องนี้ได้ เราจะได้ไม่ต้องไปเถียงเรื่องนี้อีก”
โจกล่าวด้วยว่า ไม่มองกฎหมายให้เป็นธรรมนูญชีวิต ทุกวันนี้ความผิดอาจมีสองประเภท คือ ความผิดต่อศีลธรรม กับความผิดต่อรัฐ ที่เป็นปัญหาเร่งด่วน คือ ความผิดที่รัฐกำหนดขึ้น อย่างเช่นที่เขาเผชิญในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเรื่องที่สมมติขึ้นมา แสดงว่าเจรจาต่อรองได้ ในห้วงหนึ่งมันอาจจะเป็นความผิด
“แต่อีกขณะหนึ่งพอเราทำความเข้าใจอาจเป็นเรื่องเล็กจ้อย ถ้าเราหาคำตอบใหม่ ๆ ได้ อาจจะไม่ใช่ความผิด การนิรโทษกรรมเป็นเรื่องปกติได้ ไม่เกี่ยวกับความชั่วดี อยู่ที่การยอมรับ และการย้อนตรวจสอบความผิดกันและกัน ก่อนหน้าเคยเป็นอาชญากร ตอนนี้อาจจะเป็นผู้มาก่อนกาลก็ได้” โจกล่าวทิ้งท้าย