วันเสาร์, กันยายน 16, 2566

สิ่งที่ได้เรียนรู้มาเกี่ยวกับหนี้ครู ปัญหาหนี้ครู ไม่ได้เกิดจากครูอยากมี-อยากได้ไม่พอเพียง แต่มีปัญหาเชิงระบบซ่อนอยู่ด้วย


Nicha Pittayapongsakorn
Yesterday
·
[สิ่งที่ได้เรียนรู้มาเกี่ยวกับหนี้ครู]
1. ตอนแรกเข้าใจว่า สาเหตุต้นตอของหนี้ครู ก็น่าจะเหมือนหนี้ครัวเรือนอื่นๆ นั่นแหละ คือคนมันต้องซื้อรถ ซื้อบ้าน ซื้อของให้พ่อแม่ ฯลฯ ก็เลยสร้างหนี้ คนทุกอาชีพก็เป็นหนี้กันทั้งนั้น ทำไมเรื่องหนี้ครูถึงกลายเป็นประเด็นที่กระทรวงศึกษาต้องมาแก้ล่ะ ในเมื่อครูก็ก่อหนี้ขึ้นมาเอง ก็ใช้เอง เหมือนคนอาชีพอื่นๆ มั้ย
2. จนได้มาฟังอ.ขจร ธนแพสย์ และอ.มะปราง จากแบงค์ชาติ ผู้ศึกษาและหาทางออกเรื่องหนี้ต่างๆ ตั้งแต่หนี้รถ หนี้เกษตรกร หนี้ครู หนี้ตำรวจ จึงได้รู้ว่า เฮ้ย หนี้ครูกับหนี้คนทั่วไปแบบเรามันไม่เหมือนกันไง และที่หนี้มันก้อนใหญ่มหึมาขนาดนี้ มันไม่ใช่เพราะครูอยากมีอยากได้ไม่พอเพียง แต่มีปัญหาเชิงระบบซ่อนอยู่
3. ประเด็นแรกเลย คือหนี้ครูที่มีปัญหามากๆ คือหนี้จากสหกรณ์ครู ที่มีอยู่ทุกจังหวัด คนบริหารจัดการสหกรณ์ส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ เช่น ผอ. เขตพื้นที่การศึกษา และครูก็มาสมัครเป็นสมาชิก
4. ต้นตอหนึ่งของปัญหา คือความง่ายในการกู้ เวลาคนทั่วไปจะยืมเงินธนาคาร ธนาคารก็จะเช็กเครดิตบูโรก่อน ว่าเรามีหนี้สินอยู่มั้ย ถ้าดูแล้วจะไม่มีกำลังจ่ายเพิ่มก็จะไม่ให้กู้ แต่การกู้สหกรณ์ครูจะไม่ไปลิงค์กับข้อมูลเครดิตบูโร ก็ปล่อยกู้กันไป โดยไม่รู้ว่ามีกำลังจ่ายคืนไหม และเวลาเรากู้ธนาคารทั่วไป จะต้องมีคนค้ำหรือมีสินทรัพย์มาค้ำ แต่สำหรับครูก็ไม่ยาก ให้ผอ.เซ็นรับรอง ให้เพื่อนครูช่วยกันค้ำกันเอง เธอค้ำให้ฉัน ฉันค้ำให้เธอ
5. ในโลกปกติ ถ้าเราเป็นหัวหน้า เรารู้ว่าลูกน้องเงินเดือนไม่พอใช้ เราคงแนะนำไม่ให้ลูกน้องไปกู้ ถูกมั้ย แต่ในเมื่อรายได้จากสหกรณ์ (ก็เงินที่ครูเอามาผ่อนหนี้+ดอกเบี้ยนั่นแหละ) จะปันผลกลับไปให้ผู้บริหารสหกรณ์เป็นสัดส่วนใหญ่ จึงเป็น incentive ให้ผู้บริหารสหกรณ์อยากจะปล่อยกู้ให้ครู เกิดภาวะ "เจ้านาย = เจ้าหนี้"
6. ทำให้ปัญหาที่ตามมาคือ ครูโดนหักเงินผ่อนจากเงินเดือนจนแทบเหลือไม่พอใช้ในแต่ละเดือน กระทรวงศึกษาถึงกับต้องประกาศกฎกระทรวง [1] ว่าห้ามหักเงินเดือนจนเหลือต่ำกว่า 30% แต่สุดท้ายก็ยังหักเกินกันอยู่ดี เรื่องนี้เป็นมหากาพย์ขึ้นโรงขึ้นศาล มีครูไปฟ้องศาลปกครองว่า กระทรวงไม่ทำตามกฏที่ตัวเองตั้ง ศาลปกครองตัดสินแล้วว่าผิดจริง [2] แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้น
7. อีกปัญหาคือ ลำดับการตัดหนี้ ถ้าเรากู้ธนาคารแล้วผิดนัดชำระหนี้ ลำดับการตัดหนี้ จะตัดค่าปรับ->ดอกเบี้ย->เงินต้น แต่ถ้ากู้สหกรณ์ครู เขาจะตัดเงินค่าหุ้นสหกรณ์ก่อน แล้วค่อยไปตัดค่าปรับ ดอกเบี้ย แล้วถึงจะตัดเงินต้น แปลว่า บางเดือนที่จ่ายไป อาจจะไม่ได้ตัดไปถึงเงินต้นเลย ใช้หนี้ทุกเดือนแต่เงินต้นยังอาจเหลือเยอะเหมือนเดิม ทำให้ออกจากวังวนหนี้ไม่ได้ซักที
8. แทบทุกรัฐมนตรีเมื่อเข้ามาก็จะพูดถึงเรื่องประเด็นหนี้ครู เพราะมันเป็นประเด็นที่น่าจะซื้อใจครูได้และอีกส่วนหนึ่งก็จริงที่ครูจำนวนไม่น้อยเครียดกับภาวะหนี้สิน ถ้าจำไม่ผิดก็เคยเห็นมีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมาดูเรื่องนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นผลงานอะไรชัดเจน
การสนับสนุนให้ครูมี financial literacy ก็อาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่ดี อย่างน้อย ครูก็ควรจะรู้ว่ามีช่องทางอื่นให้กู้นอกจากสหกรณ์ครู เปรียบเทียบเลือกเรตดอกเบี้ยที่ดีกว่า หรือรู้ว่าตัวเองควรกู้ไม่เกินเท่าไหร่
แต่ถ้าไม่คิดแก้กฎกติกาที่ทำให้เกิดหนี้ง่ายและสลายภาวะ "เจ้านาย=เจ้าหนี้" เราคิดว่า เรื่องหนี้นี้ก็จะอยู่กับครูไทยไปอีกนาน
--
Credit รูปจาก อ.ขจร ธนแพสย์ กรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย