วันพุธ, กันยายน 20, 2566

ชวนมองปรากฏการณ์ ‘แดงเทิร์นส้ม’ ผ่านบทสนทนากับ 3 หญิงคนเสื้อแดงขาประจำม็อบ เผยเหตุผลทำความรัก-ศรัทธาเสื่อมลง


“เมื่อรักและศรัทธาเสื่อมลง” เปิดใจ 3 ป้าแดงเทิร์นส้ม

เรื่อง: ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล
ภาพ: คชรักษ์ แก้วสุราช
กราฟิก: กิตติยา อรอินทร์
2023-09-19
ประชาไท

ชวนมองปรากฏการณ์ ‘แดงเทิร์นส้ม’ ผ่านบทสนทนากับ 3 หญิงคนเสื้อแดงขาประจำม็อบ เผยเหตุผลทำความรัก-ศรัทธาเสื่อมลง
  • ปรากฏการณ์ “แดงเทิร์นส้ม” หมายถึง คนเสื้อแดงหรือคนที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนใจมาเลือกพรรคอนาคตใหม่จนมาถึงก้าวไกล
  • ผลการเลือกตั้งปี 2566 สะท้อนปรากฏการณ์ดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น จังหวัดที่แต่ก่อนเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นนทบุรีส้มทั้งจังหวัด ปทุมธานีส้มเกือบหมด กระทั่งเชียงใหม่ บ้านเกิดของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ส้มกวาดไป 7 จากทั้งหมด 10 เขต
  • เนื่องในโอกาสครบรอบ 17 ปี รัฐประหาร คมช. ชวนมองปรากฏการณ์ “แดงเทิร์นส้ม” ผ่านบทสนทนากับ 3 หญิงคนเสื้อแดงขาประจำม็อบ ผู้ออกมาต้านรัฐประหารและเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่ในวันนี้เปลี่ยนใจมาเลือกพรรคส้ม ถึงเหตุผลและประสบการณ์ส่วนตัวที่ส่งผลกับการตัดสินใจ
เหตุเกิดในคลับเฮ้าส์

“ตอนนั้นท่านนายกทักษิณมาออกคลับเฮาส์ ใจนี่รักท่านมากนะ ปี 2551 ท่านกลับมา ตามท่านทุกงาน ถ่ายรูปกันท่านเป็น 10 ครั้ง วันนั้นท่านออกคลับเฮาส์พูดว่า (มาตรา) 112 ไม่มีปัญหา ฉันขอเถียงนะ ฉันจบแค่ ป.4 ขอเถียงท่าน (มาตรา) 112 มีปัญหาค่ะ เพราะอะไร เด็กๆ ลี้ภัยไปอยู่เมืองนอกกี่คนแล้ว ถามว่าร่วมร้อยมั้ยที่ลี้ภัยการเมือง (มาตรา) 112 จะโดนหนึ่งหรือสองคนก็คือปัญหา”

ป้านก – นภัสสร บุญรีย์ วัย 61 ปี อดีตช่างอัญมณีระดับหัวหน้า และหนึ่งในป้าเสื้อแดงที่ไปร่วมชุมนุมกับม็อบเยาวชนเป็นประจำ เล่าให้ประชาไทฟังในฐานะ “แดงเทิร์นส้ม” ถึงเหตุผลที่เปลี่ยนใจมาเลือกพรรคก้าวไกล เพราะนโยบายที่เปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ และการแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112


ป้านก – นภัสสร บุญรีย์

“นโยบายบางส่วนมันไม่เปิดให้เด็กไง สู้ไปกับกราบไปอันนี้ก็เรื่องจริง” เธอพูดถึงการที่พรรคเพื่อไทยประกาศไม่แก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมองว่า ม.112 มีปัญหาเนื่องจากถูกนำมาใช้โจมตีผู้เห็นต่างทางการเมือง

ป้านกมองว่าอย่างน้อยที่สุดก็ควรมีแก้ไขลดโทษให้ได้สัดส่วนกับความผิด หรือกำหนดให้แค่สำนักพระราชวังเท่านั้นที่ฟ้องได้

“นโยบายที่ป้านกชอบคือ เลิกเกณฑ์ทหาร เพราะลูกหลานเป็นผู้ชาย…เราก็ว่าเอาสมัครใจดีกว่า มีหลายคนพ่อแม่ติดเตียงต้องดูแล แต่จับได้ใบแดงทหาร เขาก็เป็นลม เพราะไม่อยากไปไง ใช่มะ เอาที่สมัครใจดีกว่า ให้เงินเดือนเยอะๆ สวัสดิการเยอะๆ เขาก็อยากจะไป” เธอยังพูดถึงนโยบายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร หนึ่งในข้อเสนอปฏิรูปกองทัพที่ก้าวไกลชูเป็นจุดขาย

ในระหว่างที่คุยกัน ป้านกโชว์ “บัตรวีไอพี” บัตรแข็งที่ใช้แสดงตัวกับการ์ด นปช. ก่อนเข้าพื้นที่หลังเวที เครื่องยืนยันสายสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแกนนำ นปช. ที่บ้างก็เหลื่อมซ้อนกับคนในพรรคเพื่อไทย


บัตร 3 ใบของป้านก
(บนจากซ้าย) บัตรวีไอพี และบัตร นปช.
(ล่าง) บัตรสมาชิกสถานีโทรทัศน์ PTV ซึ่งเป็นของกลุ่มคนเสื้อแดง

“คนส่วนมากก็คิดว่าเสื้อแดงเป็นของเพื่อไทย เป็นของพรรค แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่”

เธอระบุว่าตัวเองเป็น “แดงทักษิณ” สมาชิกพรรคการเมืองในเครือทักษิณมาตลอด ไล่มาตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย เมื่อว่างจากการทำงานก็มักไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่าตนเองทำอะไรได้ก็พร้อมที่จะทำ อยากมีส่วนช่วยผลักดันให้สังคมได้ประโยชน์

“เกิดมากี่ปียังไม่เคยเจอนายกฯ ที่ดีเท่าทักษิณ”

ป้านกเล่าว่าเธอเป็นคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อสู้เพราะเห็นว่าทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม นโยบายในยุคนั้นทำให้คนรากหญ้าลืมตาอ้าปากได้ แต่นายกฯ ที่ชนะเลือกตั้งมากลับถูกยึดอำนาจและโดนคดีความที่เป็นผลพวงรัฐประหาร

ในช่วงปี 2561 ที่มีการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีเด็กวัยรุ่นที่บริษัทไปฟังปราศรัยแล้วชอบก็เลยมาเล่าให้ฟัง ทำให้เธอรู้สึกตื่นเต้นและเดินทางไปฟังบ้าง และเริ่มเป็นแฟนคลับพรรคส้มตั้งแต่นั้น

แต่ชะตากรรมของพรรคฝั่งประชาธิปไตยก็เหมือนกับหนังวนซ้ำ “พรรคถูกกระทำเหมือนตอนทักษิณ” จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ สืบเนื่องจากการกู้เงินจาก ธนาธร หัวหน้าพรรคฯ

ส่วนการที่ฝ่ายขวาออกมาเปิดแนวรบสกัดก้าวไกลจนไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ แม้มี สส.มากเป็นอันดับ 1 ก็ “ไม่ต่างจากเพื่อไทยที่โดนมา เปลี่ยนจากธนาธรมาเป็นพิธา”


(คนขวา) ป้านกชุมนุม #คาร์ม็อบ16กรกฎา66 "Respect My Vote"
ป้ายข้อความระบุ สว. สส. กกต. อย่าทำลายความรู้สึก 14 ล้านเสียงของประชาชนที่มอบให้กับพรรคก้าวไกล
ภาพโดย: Zee Faozee

สำหรับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ป้านกยอมรับว่าในช่วงตัดสินใจ แม้ใจจะอยู่ที่ก้าวไกลแล้ว แต่ยังคงมีความลังเลที่จะเลือกเพื่อไทย เพราะหวังแลนด์สไลด์ ไม่ต้องการให้ 2 ลุงกลับมามีอำนาจอีก

“นายกทักษิณเราก็รัก แต่มาถึงจุดหนึ่ง เราไปม็อบเด็กแล้วหูตามันสว่างไปหมดแล้ว…เราต้องเดินหน้า ไม่ใช่มาถอยหลัง”

กลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ป้านกเผยภาพ “วันนี้ที่รอคอย” เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เธอและเพื่อนเสื้อแดงไปต้อนรับอดีตนายก ทักษิณ กลับมาเมืองไทยเป็นครั้งแรก หลังจากถูกรัฐประหารปี 2549 แต่คราวนี้เธอยืนยันว่าไม่ได้ไปรับ



ที่มาภาพ: นภัสสร บุญรีย์

“ทุกคนเปลี่ยนใจได้ พอพรรคเขาประกาศว่าเชิญพรรคลุงมา 2 พรรคเข้ามาที่เพื่อไทย พวกแดงเพื่อนๆ นะ เขาก็รับไม่ได้ ทยอยลาออก เอาของออกมาทิ้งกัน…

คุณต้องปรับปรุงตัวมั้ย คุณต้องเอาไปวิเคราะห์ว่าทำไมคนเสื้อแดงที่รักเขามากๆ ซื้อของสะสมเยอะๆ ถึงทำแบบนั้นกับเขา”


ป้านก ร่วมชุมนุมคาร์ม็อบไปที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2566

ข้อความในป้ายระบุ “อย่าเสียสัตย์” ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าพรรคเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว

“ศรัทธาไม่มีสต็อก”
ความโกรธของคนเคยอภัย


“ไม่โอเคกับการที่พวกมึงหลอกประชาชนแบบนี้ กูไม่โอเค…เสียใจที่ว่าพรรคที่เรามอบหัวใจให้ เราเคยคิดว่าเขายึดหลักการประชาธิปไตย แต่มันไม่ใช่ไง ถ้าเขาชัดเจนตรงไปตรงมาตอนหาเสียงว่าเขาจะร่วมกับคนพวกนี้ ประชาชนจะได้ตัดสินใจไม่เลือกไง… ศรัทธาของประชาชนไม่มีเป็นสต็อกนะคะคุณพี่ หมดแล้วหมดเลย ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้”

หญิงเสื้อแดงคนหนึ่ง ตะโกนหน้าพรรคเพื่อไทยด้วยความโกรธ หลังมีกระแสข่าวลือว่าเพื่อไทยจะจับมือตั้งรัฐบาลร่วมกับภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ

ย้อนไปเมื่อต้นเดือน ก.ค. 2566 ศึกชิงประธานสภาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย คือหนึ่งในเหตุการณ์ที่ฉุดเพื่อไทยสู่วิกฤตศรัทธานำมาซึ่งเสียงวิจารณ์และปรากฏการณ์ “เผาเสื้อ-เทของ” จากโหวตเตอร์พรรคจำนวนหนึ่ง

ปรากฏคลิปวิดีโอไวรัล หญิงเสื้อแดงคนเดียวกันนี้เอง นำของสะสมที่มีสัญลักษณ์ของ นปช. เทออกจากกระเป๋าที่หน้าโรงแรมแลงคาสเตอร์ หลังจากการแถลงข่าวบทสรุปศึกชิงประธานสภา แต่กลับมีแฟนคลับพรรคเพื่อไทยคนอื่นมารุมด่าทอต่อว่า เธอจึงควักบัตร นปช. ออกมาโชว์



“เขาด่าเราหยาบคาย มึงเป็นใคร เป็นเสื้อแดงตัวจริงหรอ

มึงทำทำไม ทำไมมึงกล่าวร้ายท่านนายกทักษิณ”

คำด่าคือสิ่งที่ “ลัดดา” ได้รับจากการตัดใจนำของสะสมของตนเองออกมาทิ้ง ของเหล่านี้มีตั้งแต่เสื้อยืดรายการความจริงวันนี้ รูปอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และหนังสืออดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ปลายเดือน ส.ค. ข่าวลือรัฐบาลข้ามขั้วกลายเป็นเรื่องจริง เพื่อไทยประกาศตั้งรัฐบาลร่วมกัน 11 พรรค รวม 314 เสียง ไม่แก้มาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล พร้อมมีมติร่วมเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ

ประชาไทนัดคุยกับลัดดาที่บ้านย่านทุ่งครุ ฟังเรื่องราวจากของสะสมหลายลัง และเหตุผลที่ศรัทธาหมดลง

“พี่ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล ไม่ยึดติดกับพรรคการเมือง เมื่อไหร่ที่พรรคการเมืองไม่ยึดหลักการตรงนี้ ไม่ปกป้องผลประโยชน์ประชาชนตรงนี้ พี่ก็ไม่สนับสนุน เมื่อก่อนพี่อาจจะบ้า รักบุคคลคนหนึ่งอย่างท่วมท้นในหัวใจอย่างที่สุด ใครแตะไม่ได้ เราใส่ โดยไม่ได้ฟังเหตุผลเลย แต่ตอนนี้ไม่ใช่”



ลัดดา แจ่มจ่าย หญิงคนเสื้อแดง และเจ้าของโรงงานเย็บกระเป๋าวัย 55 ปี เล่าย้อนถึงเส้นทางการต่อสู้ ระบุตนเองเป็น “แดง นปช.” ที่ออกมาต่อต้านเผด็จการ เข้าร่วมแทบทุกการชุมนุมเสื้อแดง รวมถึงที่จัดนอกประเทศอย่างฟุตบอลกระชับมิตรเสื้อแดง-กัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ

“พี่รู้สึกว่าคนเสื้อแดงแม่งโคตรต่ำต้อยเลยนะ แม้แต่เป็นคนเสื้อแดงยังต้องเอาของเหลือ เอามาการันตีว่าเป็นคนเสื้อแดงนะ เราออกไปสู้นะ เราไปทำจริงนะ”

เธอเสียงสั่นเครือขณะพูดถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553

“เมื่อไหร่ที่เพลงนักสู้ธุลีดินขึ้น หมายถึงมีคนตาย ทุกครั้งที่เพลงขึ้นคือมันมีคนตาย แล้วเราก็ยืนสงบนิ่งอยู่อย่างนั้น วันที่ เสธ.แดงตาย มีเพลงประมาณ 5 ครั้งได้มั้ง แล้วคุณจะให้ประชาชนลืม คือคุณไม่ได้อยู่ตรงนั้นไง ถ้าคุณอยู่ตรงนั้น คุณจะไม่สามารถลืมได้”



นอกจากนี้เธอตั้งคำถามถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อกระบวนการยุติธรรมและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสังหารหมู่ในปี 2553 เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง และการไม่ให้สัตยาบันในกฎหมาย ICC ทำให้ไทยไม่สามารถนำเรื่องการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ICC ได้

“เราเลือกเพื่อไทยมาหลายครั้งแล้ว แล้วเพื่อไทยก็ไม่เอาไอ้กฎหมาย ICC ลง คุณเมิน คุณไม่ทำ นิ่งเฉย ไม่พูดถึง สุดท้ายแล้วก็วนกลับมาประชาชนถูกทำร้าย ถูกปราบอยู่เหมือนเดิม มันไม่โอเคสำหรับเรานะ”
‘โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม-นันทิดา รักวงษ์’ อดีตทีมกฎหมายเสื้อแดง เล่ากระบวนการให้สัตยาบัน ICC หลังปี 53

กระนั้นในเลือกตั้งปี 2562 เธอยังคงเป็นโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทย แต่ครั้งล่าสุด เปลี่ยนใจมาเชียร์ก้าวไกล ด้วยเหตุผลที่ว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องการจับขั้วตั้งรัฐบาลว่าจะจับมือกับ 2 ลุงหรือไม่ มีการประกาศช่วงหาเสียงโค้งสุดท้ายซึ่งเธอไม่เชื่อแล้ว ขณะที่ก้าวไกลประกาศชัดตั้งแต่ช่วงแรกๆ “มีลุง ไม่มีเรา”

“ไม่มีประชาชนคนไหนที่จะทำลายพรรคการเมืองได้ มีแต่พรรคการเมืองจะทำลายตัวเองด้วยการไม่ยึดหลัก ไม่ยึดอุดมการณ์ ไม่ยึดสัจจะวาจาตัวเอง”

สำหรับลัดดา การร่วมรัฐบาลกับ 2 พรรคทหารจำแลงโดยอ้าง “ปรองดอง-สลายสีเสื้อ” เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น เธอมองว่าความขัดแย้งสีเสื้อได้สลายไปแล้ว เห็นได้จากผลเลือกตั้งที่ฝั่งประชาธิปไตยชนะแบบแลนสไลด์ นั่นหมายถึงมติมหาชนที่ต้องการยุติการสืบทอดของเผด็จการ“ให้คนที่เขาลี้ภัยได้กลับมาด้วย ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเขา นี่แหละคือการปรองดองของพี่”

เธอบอกด้วยว่า เส้นทางสู่ประชาธิปไตยต่อจากนี้คงไม่ง่าย “เพราะเขาแลกเป็นผลประโยชน์ตรงนี้ไปแล้ว”



มองแดง-ส้ม ไม่ใช่ศัตรู

“พอเราเข้าไปเป็นเสื้อแดงแล้ว ตอนนั้นมีคณะนิติราษฎร์เกิดขึ้น เราก็ไปร่วมงานเสวนาของพวกอาจารย์ เราจะไปทุกครั้งและก็จะได้รับความรู้มากมาย ตอนนั้นก็มีความคิดว่าอยากจะให้นักวิชาการด้านกฎหมายสักคนหนึ่งเข้ามาเป็น สส.ในสภา เวลาพูดในสภาเกี่ยวกับกฎหมายให้ประชาชนได้เข้าใจได้ง่ายๆ ตรงไปตรงมา พอดีอาจารย์ปิยบุตรมาตั้งพรรคอนาคตใหม่ เราก็ดูนโยบายแล้วเราก็มีความหวัง…เราก็เลยหันมาทางอนาคตใหม่”

อ๋อย–อาภรณ์รัตน์ บุญไชย หญิงเสื้อแดงจากปทุมธานี เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เปลี่ยนใจมาเลือกพรรคก้าวไกล ระบุว่าชื่นชอบใน

แนวทางที่ชัดเจนมาตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ อาภรณ์รัตน์
ที่มาภาพ: อาภรณ์รัตน์ บุญไชย


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ อาภรณ์รัตน์
ที่มาภาพ: อาภรณ์รัตน์ บุญไชย

เธอมองว่าข้อเรียกร้องทั้งฝั่งแดงและส้มมีจุดร่วมกันอยู่ จึงไม่น่าจะใช่เรื่องแปลกกับการเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่นในวันที่ตัวเลือกหลากหลายขึ้น ตราบใดที่ยังอยู่ในสเปกตรัมของประชาธิปไตย

และแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพใหญ่ที่สุดของคนเสื้อแดงคือ ผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย แต่มวลชนคนเสื้อแดงก็ไม่ได้เป็นก้อนเดียวกันทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรแปะป้ายเหมารวมคนที่เปลี่ยนใจว่าเป็น “แดงปลอม”



“ตอนหลังนี่ที่เขาพูดว่ามันเป็นพวกส้มเอาไปพูด แต่จริงๆ แล้วมันมาตั้งแต่ยุคราชประสงค์แล้วนะ ตั้งแต่ตอนที่เราไปรำลึกทุกวันที่ 10 (เมษา) 19 (พฤษภา) มันเป็นเสื้อแดงนี่แหละที่พูดกันเอง “สู้ไปกราบไป” “ไอ้เหี้ยสั่งฆ่า ไอ้ห่าสั่งยิง” แบบนี้มาตั้งแต่เสื้อแดง ไม่ใช่ด้อมส้มเอามาพูด เพราะเวทีเสื้อแดงมันมีหลายเวที เวทีเล็กก็ด่าทักษิณเหมือนกัน”

อาภรณ์รัตน์ ระบุขอเรียกตนเองว่าเป็น “แดงอิสระ” ที่ออกมาสู้กับความไม่ยุติธรรม “เราไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรเลย เราให้ใจหมดเลย ไปด้วยความคิดของเรา” ไม่ได้ยึดติดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง “แม้แต่ส้มเองถ้าอยู่ไปแล้วทำไม่ถูก เราก็ไม่อยู่ ถ้าไม่ทำตามที่พูดไว้ เราก็จะเลิกเลย”

“รู้สึกโกรธอยู่นะ กูเป็นเสื้อแดง เข้าไปเป็นเอง ไม่ได้มีใครมาบังคับ ไม่ได้ไปสมัครกับมึงนะ กูไปด้วยตัวเอง เราเห็นความไม่ยุติธรรม ไปต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง เราก็เลยไปต่อสู้ ไม่ต้องลาออกหรอก เราก็ยังเป็นแดงได้อยู่”

ในช่วงการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อปี 2553 เธอไปม็อบตัวเดียวและมักอยู่เวทีเล็กๆ “ขอให้ได้ไป อยู่ตรงจุดไหนก็ได้” จากนั้นก็เริ่มมีเพื่อน

หลังช่วงล้อมปราบเสื้อแดง บรรยากาศบ้านเมืองอึมครึมไปด้วยความกลัว เธอยังคงเข้าร่วมกิจกรรมผูกผ้าแดง นำโดย บก.ลายจุด หนึ่งในแกนนำที่ต้องการสร้างบรรยากาศแห่งความหวัง

“เราจะมีรำลึกทุกวันที่ 10 เมษา 19 พฤษภา เราก็จะนัดกันเพื่อที่จะเป็นคนดูแลคนที่มาจากต่างหวัด มาจากอีสาน พวกพี่ๆ ก็จะเป็นคนดูแลหาข้าวอะไรให้กิน”

เธอพูดถึงบทบาทในฐานะทีมซัพพอร์ตที่ทำมาหลายปี จนกระทั่งปัจจุบันที่การต่อสู้ได้ส่งต่อมายังรุ่นลูกอย่างม็อบเยาวชน