วันพฤหัสบดี, กันยายน 21, 2566

พายเรือในกะละมัง โครงการ 2 ล้านล้าน โขง-เลย-ชี-มูล แก้แล้งในอีสานแบบลิงแก้แห


พายเรือในกะละมัง โครงการ 2 ล้านล้าน โขง-เลย-ชี-มูล แก้แล้งในอีสานแบบลิงแก้แห

19 กันยายน, 2023
The Isaan Record

จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 8-9 กันยายน 2566 ซึ่งในวันที่ 8 กันยายน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมเขื่อนอุบลรัตน์และพบปะประชาชนอยู่ในพื้นที่ชลประทานและอยู่นอกพื้นที่ชลประทานเพื่อพูดคุยประเด็นปัญหาภัยแล้งผลกระทบจากเอลณีโญ่พื้นที่ทำกินและการบริหารจัดการน้ำ ทำให้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่ารัฐบาลนี้ต้องไม่ท่วม ไม่แล้ง เล็งผุดโครงการ โขง-เลย-ชี-มูล แก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน ในขณะที่เครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงได้ออกมาโต้และให้ความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีในกรณีแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอีสานจะต้องศึกษารอบด้านไม่ใช่ฟังแต่นักการเมืองและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้นำมาสู่นักวิชาการภาคอีสานที่ให้ความเห็นหนุนภาคประชาชนเพื่อหยุดเมกะโปรเจ็กต์ผันน้ำโขง เลย ชี มูน

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า นายกฯ เศรษฐา ไม่ควรด่วนตัดสินใจ หลังประกาศดันเมกะโปรเจ็กต์ผันน้ำโขง เลย ชี มูล มูลค่า 2.27 ล้านล้านบาท โดยเฟสแรกใช้เงิน 3 แสนล้าน เพื่อขุดลอก-ขยาย ปากแม่น้ำเลย-น้ำโขง เพื่อทำคลองผันน้ำเข้ามาแม่น้ำเลย และเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา วางท่อส่งน้ำ มายังลุ่มน้ำโมง อ.สุวรรณคูหา และเส้นทางหนึ่งก็ส่งน้ำไปยังเขื่อนอุบลรัตน์

ก่อนนี้ มีการก่อสร้างประตูน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มูลค่า 5 พันล้านบาท โดยไม่ได้ทำรายงาน EIA เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการเก็บกักน้ำไม่ถึงปริมาณที่กำหนดให้ต้องทำ EIA และกรมชลฯ ก็อ้างว่าไม่เกี่ยวกับโครงการผันน้ำ ทั้งๆ ที่ประตูน้ำศรีสองรักเป็นการดัดแปลงแม่น้ำเลยใหม่ มีการขุดคลองลัดแม่น้ำเลย ทำประตูน้ำขนาดใหญ่ในคลองลัดใหม่ 2 แห่ง และแทบจะเป็นจุดเดียวกันกับแม่น้ำเลยที่ต้องขุดลอกเพื่อรองรับการผันน้ำ และประตูน้ำย่อมมีส่วนสำคัญในการควบคุมระดับแม่น้ำเลยเชื่อมต่อกับระดับแม่น้ำโขงในจุดที่มีการผันน้ำ

ทั้งยังมีโครงการทำพนังกั้นน้ำในแม่น้ำเลยอีก โดยทำคันดินยกขอบพนังให้สูงขึ้นจากตลิ่งแม่น้ำเลย เพื่อให้เก็บน้ำในแม่น้ำเลยมากขึ้น และอาจจะสร้างผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในหลายชุมชนริมแม่น้ำเลยของ อ.เชียงคาน เป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งของชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากที่น้ำหลากจากภูเขาสูงไม่สามารถไหลลงแม่น้ำเลยได้เพราะมีพนังกั้นอยู่ น้ำก็จะย้อนมาท่วมชุมชนริมน้ำแน่นอน นับเป็นผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศอย่างมโหฬารอีกโครงการหนึ่ง

โครงการประตูน้ำศรีสองรักกับโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูน จึงเป็นโครงการเดียวกัน แต่การแยกโครงการออกจากกัน ก็เป็นเหตุผลทางเทคนิคที่หลีกเลี่ยงการทำรายงาน EIA ให้โครงการประตูน้ำฯ ทำไปก่อน ส่วนโครงการผันน้ำฯ ก็จะทำทีหลัง

สันติภาพ ตั้งข้อสังเกตว่า มูลค่าโครงการเฟสแรก 3 แสนล้าน แต่ค่าชดเชยที่ดินที่เส้นท่อผันน้ำผ่านที่ดินชาวบ้าน จะจ่ายแค่ 1.3 พันล้าน เฉลี่ยไร่ละประมาณ 4 หมื่นบาท โครงการนี้ ผลักดันมาตั้งแต่สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อยู่ในโมดูลน้ำที่ศาลปกครองสั่งให้รับฟังความเห็นใหม่ ตอนหาเสียงปี 2566 พรรคเพื่อไทยก็ชูนโยบายนี้ และมี ส.ส. จ.เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น สนับสนุนเต็มที่ เนื่องจากมีงบประมาณมหาศาล

วันที่นายกฯ เศรษฐา มาลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ก็แถลงสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่ อ้างแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ตนจึงขอให้ข้อมูลด้วยเห็นว่า นายกฯ เป็นนักธุรกิจ น่าจะคำนึงเรื่องความคุ้มค่า และการสร้างประโยชน์ให้ประชาชนอย่างแท้จริง ต้องอย่าด่วนตัดสินใจ เพราะแค่ชื่อโครงการนายกฯ ยังเรียกผิดเป็น โครงการ โขง ชี มูน เลย แสดงว่าท่านมีข้อมูลเรื่องนี้น้อยมาก หากฟังแค่ ส.ส. กรมชลฯ หรือ สทนช. จับรายงานสรุปโครงการไม่กี่หน้ายัดใส่มือโดยท่านยังไม่ได้อ่านศึกษารายละเอียดและยังไม่ได้รับฟังเสียงของฝ่ายที่เห็นต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาจได้รับผลกระทบฯ และผู้ที่เคยได้รับผลกระทบแล้วจากโครงการ โขง ชี มูน เดิมที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งจากเขื่อน ประตูน้ำต่างๆ ในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูน

“อยากให้นายกฯ ฟังเสียงประชาชนก่อน เหมือนกับที่ท่านไม่เห็นด้วยกับการขอเพิ่มงบฯ งานพืชสวนโลกไปอีกเท่าตัวจาก 2.5 พันล้าน โดยไม่เป็นเหตุเป็นผล”

สันติภาพ กล่าวในฐานะภาควิชาการ และประชาชนที่ศึกษาติดตาม ปัญหาและผลกระทบจากการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานมานาน ตนอยากเห็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่านี้ ไม่เอาอนาคตและเงินจำนวนมหาศาลไปลงกับโครงการขนาดใหญ่ที่ผลกระทบรุนแรง เช่น โครงการผันน้ำ 2.27 ล้านนี้ รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่จะปลุกผีปัดฝุ่นของเก่าเอามาทำใหม่ในอนาคต เช่น โครงการผันน้ำยวมมาน้ำปิง และลงเขื่อนภูมิพล โครงการสร้างเขื่อนปากชม กั้นแม่น้ำโขง ที่ อ.ปากชม จ.เลย เพื่อดันน้ำไปถึงปากน้ำเลยรองรับการผันน้ำ ซึ่งต้องใช้งบอีกมหาศาล เป็นการปู้ยี่ปูยำกระทำชำเราแม่น้ำโขงจากการพัฒนาอีกคำรบใหญ่ โดยไม่สนใจเรื่องผลกระทบต่อชุมชน ความคุ้มค่า ระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ

ประชาชนอยากเห็นระบบการจัดการน้ำที่เข้าถึงเป้าหมายเชิงพื้นที่มากกว่า ไม่ไปดัดแปลงแม่น้ำ ลำน้ำ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำจนเกิดความเสียหายและขาดสมดุล ควรมุ่งจัดการแหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ร่วมกับท้องถิ่นและชุมชน โดยกระจายอำนาจและงบประมาณมายังจุดที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะท่วมหรือแล้ง ที่ตอบโจทย์ประชาชนในแต่ละภูมินิเวศที่แตกต่างหลากหลาย ใช้เงินน้อยและผลกระทบน้อยกว่าเมกกะโปรเจ็ก โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่นอกเขตฯ และอาศัยน้ำฝน ซึ่งไม่ว่าจะมีเมกะโปรเจ็กต์ใดน้ำก็ไปไม่ถึง ต้องเน้นสร้างแหล่งเก็บน้ำและระบบจัดการน้ำในไร่นา บูรการร่วมกับชุมชน ท้องถิ่น กรมพัฒนาที่ดิน หรือแม้แต่กรมชลฯ ก็มี สำนักจัดรูปที่ดินและระบบจัดการน้ำเพื่อเกษตรกรรม ที่สนับสนุนและพัฒนาระบบการจัดการน้ำในระดับไร่นา แต่กลับไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนภารกิจมากนัก ไม่เหมือนกับสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่

ตนจึงอยากให้รัฐบาลฯ โดยเฉพาะนายกฯ คนใหม่ที่อยากพิสูจน์ผลงานในมิติใหม่ฉีกแนวออกไปจากเดิม โดยไม่ฟังความข้างเดียวแล้วสร้างปัญหาซ้ำซ้อนตามมาอีกมากมาย โดยมีข้อเสนอในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) การทบทวนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดหนี้สาธารณะผูกพันในอนาคตที่สูงและเสี่ยงไม่คุ้มค่า มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพที่รุนแรงจนไม่อาจชดเชยความสูญเสียหรือลดผลกระทบได้ เช่น โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูน โครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง หรือเขื่อน ประตูน้ำ ในแม่น้ำสายหลักที่สำคัญ เช่น แม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นแรมซาร์ไซต์ (พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ) แห่งล่าสุด และเป็นแม่น้ำใหญ่สายเดียวที่ยังไม่มีเขื่อนปิดกันลำน้ำ

2) ปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) การประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ให้มีความเป็นอิสระในการพิจารณา มีความเป็นธรรม มีความน่าเชื่อถือในการพิจารณาและตรวจสอบ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาควิชาการที่หลากหลาย ภาคประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงตั้งแต่ขั้นริเริ่มโครงการ

นิรันดร คำนุ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า “วาทกรรมอีสานแล้ง” เป็นเสมือนเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองรุ่นเก่า ที่มักก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับคนทั่วไปเกี่ยวกับสภาพเชิงนิเวศของภาคอีสานว่าอีสานนั้นแห้งแล้งกันดารอยู่เสมอ ซึ่งในข้อเท็จจริงสภาพภูมิอากาศความร้อนแล้ง เป็นเพียงฤดูกาลหนึ่งของอีสานที่มีลักษณะเฉพาะเชิงนิเวศหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยน ทั้งฤดูร้อนที่แล้ง ฤดูหนาวที่เยือกเย็น และฤดูฝนที่มีน้ำท่วม-น้ำหลาก อยู่เป็นปกติแต่ไม่มีผลกระทบรุนแรงยาวนาน จากบทเรียนข้อสรุปในหลายเวทีของเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสานทุกลุ่มน้ำต่างยืนยันว่า สภาพปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ของภาคอีสานเป็น “ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำต้นทุน” ให้มีเพียงพอกับการใช้น้ำทั้งในการอุปโภค – บริโภค หรือในภาคเกษตรกรรมในแต่ละปี โดยสิ่งที่ยืนยันสมมุติฐานนี้คือข้อมูลเชิงประจักษ์ของปรากฏการณ์ผลกระทบภายหลังการก่อสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำทั้งในลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี ซึ่งพบว่า ในฤดูฝนภาคอีสานทั้งลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี เกิดสภาพน้ำท่วมตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำจนถึงท้ายน้ำ ในขณะที่พอถึงฤดูหนาว และฤดูร้อน อีสานกลับแล้งจนแม่น้ำบางจุดตื้นเขินเดินข้ามได้ ซึ่งยืนยันว่านี่คือปัญหาการบริหารจัดการน้ำ

บทเรียน 30 ปี จากโครงการ โขง ชี มูล สะท้อนความไม่เข้าใจในบริบทเชิงนิเวศ และความหลากหลายของระบบลุ่มน้ำอีสาน ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำ สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และระบบความเชื่อ ซึ่งยึดโยงกันไว้ในฐานะฐานทรัพยากรที่เป็นหัวใจของระบบรวมทั้งหมดของชุมชนท้องถิ่น ในขณะที่โลกทัศน์ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำมักมอง “น้ำ” เป็นเพียงทรัพยากรที่ต้องจัดการและจัดเก็บ มองน้ำเสมือนทรัพยากรที่ต้องถูกกักเก็บในภาชนะกะละมังใบใหญ่ โดยลืมพิจารณาภาพความสัมพันธ์ของน้ำกับระบบนิเวศและผู้คนประชาชนในท้องถิ่น โลกทัศน์การมองน้ำแบบแยกส่วนของหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก่อให้เกิดโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่เกี่ยวกับการกักเก็บน้ำ และความพยายามในการผันน้ำโขงมาสู่ลุ่มน้ำในภาคอีสาน ในขณะที่วาทกรรมเรื่องอีสานแล้ง-ท่วม ก็กลายเป็นเครื่องมือการแสวงหาผลประโยชน์จากปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในภาคอีสานมายาวนานร่วม 30 ปี นับตั้งแต่เกิดโครงการโขง ชี มูล ขึ้นในภาคอีสาน และที่น่าเศร้าก็คือบรรดาโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะคลี่คลายปัญหาเรื่องน้ำ กลับยิ่งทำให้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง เกิดขึ้นหนักกว่าเดิมตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ​

นิรันดร กล่าวว่า ภาพการลงพื้นที่ภาคอีสานของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยมีการพูดคุยให้สัมภาษณ์ในทำนองที่จะฟื้นและพัฒนาต่อโครงการ โขง เลย ชี มูล ตามที่เสนอข่าวเมื่อช่วงวันที่ 8-9 กันยายน 2566 ที่ผ่านมานั้น คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะว่าในรัฐบาลที่ผ่านมาเมื่อครั้งพรรค​เพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ก็ปรากฏ​ความพยายามในการเสนอโครงการ​ โขง เลย ชี มูล ต่อรัฐบาล โดย ส.ส. อีสานจากพรรคเพื่อไทยในช่วงเวลานั้น ในขณะที่หากตัดภาพมายังปัจจุบัน สิ่งที่น่าสนใจและน่าตั้งคำถามมากที่สุด​ก็คือ เหตุใดพรรค​การเมือง​อย่างพรรคเพื่อไทยจึงสนใจที่จะผลักดัน และขับเคลื่อน โครงการ ​โขง เลย ชี มูล ทั้งๆ ที่ทราบข้อมูลจากผลการศึกษา​ และผลการวิจัย​หลายฉบับซึ่งชี้ชัดถึงปัญหาจากการดำเนินโครงการ โขง ชี มูล เช่น กรณี การศึกษา​ผลกระทบ​ทาง​สิ่งแวดล้อม​และ​ผลกระทบ​ทางสังคม กรณีเขื่อนราษีไศล​ และกรณีเขื่อนหัวนา ในแม่น้ำมูล รวมถึง กรณีเขื่อนร้อยเอ็ด กรณีเขื่อนยโสธร​-พนมไพร​ และกรณีเขื่อนธาตุน้อย ในแม่น้ำชี ซึ่งผลการศึกษาต่างก็ชี้ชัดว่า โครงการ​ โขง ชี มูล นั้นมีปัญหาทำให้เกิดผลกระทบ ถึงขั้นว่าต้องฟื้นฟูเยียวยาระบบนิเวศ และผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ในขณะที่การศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ รวมถึงข้อกังวลข้อคำถามถึงความคุ้มค่า คุ้มทุน หลักประกันความเสี่ยงและความสูญเสียทั้งในระยะสั้น และระยะยาวก็มิได้มีสิ่งยืนยันว่าจะเกิดผลดี ผลเสียอย่างชัดเจนหากดำเนินโครงการนี้ต่อไป

ตนเห็นว่า ถ้าหากตีความเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจจะดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ใดๆ ก็ตาม ในด้านลึก ก็อาจจะพบว่ามีนัยยะของความพยายาม ในการควบคุม จัดการ ฐานทรัพยากรสำคัญของชาติให้ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น น้ำ ไฟฟ้า หรือพลังงานต่างๆ ซึ่งเป็นเสมือนการคุมบังเหียนประเทศของนักปกครองที่ควบคู่กับการควบคุมบังเหียนทางรัฐศาสตร์+เศรษฐศาสตร์เชิงอรรถประโยชน์นิยมของชนชั้นนำ โดยอาจจะใช้กฎหมาย หรือยุทธศาสตร์ชาติต่างๆ เป็นเครื่องมือ ในขณะที่องค์ประกอบของระบบการเมืองเช่นนี้ มักจะมีสัดสวนของ 1) บรรดาพรรคการเมือง-นักการเมืองชั้นนำที่ดูแลกระทรวงนั้นๆ 2) ข้าราชการประจำเจ้ากระทรวง เจ้ากรม 3) ทุนใหญ่ในด้านพลังงานและการจัดการทรัพยากร+ธนาคารแหล่งทุน “อาจจะพากันดีลลับ” เพื่อร่วมกันกำหนดให้เกิดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่อาจจะมีธงอยู่แล้วว่า จะต้องดำเนินโครงการให้ได้ผ่านกลไกของรัฐ และระบบรัฐสภา เนื่องจากโครงการลักษณะใหญ่เช่นนี้หากมีการดำเนินการที่ไม่รัดกุม และหากไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน เม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากโครงการก็จะกลายเป็นสายธารผลประโยชน์ที่ไหลไปหล่อเลี้ยงธุรกิจ-กิจการของบรรดากลุ่มผลประโยชน์ และนักการเมืองที่รอฉวยโอกาสจากโครงการลักษณะเช่นนี้ ในขณะที่ประชาชนตาดำๆ ก็จะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และเผชิญชะตากรรมที่ต้องรอคอยการชดเชย เยียวยา และการแก้ไขปัญหาเป็นวงจรอยู่เช่นนี้

ท้ายที่สุด นิรันดร กล่าววว่า การประกาศตัวเป็นรัฐบาลประชาชนของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา นั้นมีความหมายอย่างยิ่งต่อวิถีปฏิบัติในทางการเมืองต่อจากนี้ไป ว่าสิ่งที่รัฐบาลจะพิจารณาดำเนินการนั้นจะต้องยึดโยงกับพี่น้องประชาชน ในขณะที่บทเรียนการล่มสลายของหลายพรรคการเมืองก็ควรเป็นแนวทางที่การเมืองใหม่ในปัจจุบันต้องเรียนรู้ และวิพากษ์ปัญหาการเมืองเก่าที่เน้นเฉพาะผลประโยชน์ของพรรคพวก และให้ข้าราชการประจำชี้นำนโยบายได้โดยไม่มีสมการของพี่น้องประชาชนอยู่ในสูตรของการตัดสินใจในการดำเนินนโยบาย หรือโครงการใดๆ ซึ่งน่าจะไปไม่รอด ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป หากรัฐบาลปัจจุบันตั้งมั่นจะเป็นรัฐบาลประชาชนอย่างแท้จริง จะต้องลงมือแก้สมการปัญหาให้ถูกที่ ถูกเวลา คือ การรับฟังพี่น้องประชาชนเจ้าของปัญหา รวมถึงการทบทวนบทเรียนปัญหาที่ผ่านมา การพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านอย่างหนักแน่น และการสร้างทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ทุนทางสังคม และผู้คน และต้องอย่ายอมให้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐกลายร่างเป็นปีศาจร้ายทำลายวิถีชีวิตของผู้คนลุ่มน้ำ รวมทั้งทำลายฐานทรัพยากรระบบนิเวศลุ่มน้ำที่หลากหลาย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตั้งสติเพื่อมอง “น้ำ” ให้เห็นชีวิต เห็นผู้คนประชาชน และเห็นระบบนิเวศที่สัมพันธ์กับสายน้ำ