วันเสาร์, กันยายน 09, 2566

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2566 จนถึงวันที่ 4 ก.ย. 2566 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำในคดีแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี พุ่งขึ้นเป็นอย่างน้อย 19 คน


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
16h ·

เปิดสถิติยื่นประกันตัว 19 ผู้ต้องขังคดีการเมืองระลอกใหม่ ก.พ.-ก.ย. 66 แม้มี 2 ผู้ต้องขังอดอาหารประท้วงอีกครั้ง #แต่ยังไม่มีใครได้รับสิทธิการประกันตัวเลย
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2566 จนถึงวันที่ 4 ก.ย. 2566 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำในคดีแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี พุ่งขึ้นเป็นอย่างน้อย 19 คน
.
ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2566 จะมีคดีมาตรา 112 ที่นัดฟังคำพิพากษาอีกจำนวน 7 คดี โดยหนึ่งในคดีที่น่าจับตา คือ คดีจากการปราศรัยในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ของอานนท์ นำภา ซึ่งนับเป็นคดีมาตรา 112 ของอานนท์คดีแรกที่ศาลจะมีคำพิพากษา ในวันที่ 26 ก.ย. 2566
.
จากสถานการณ์คดีมาตรา 112 รวมถึงคดีเกี่ยวกับระเบิดและเหตุการณ์ชุมนุมที่ดินแดง หลังศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา มีแนวโน้มว่าจำเลยจะไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิจารณาการปล่อยชั่วคราว โดยมีข้อน่าสังเกตว่า ในคำสั่งไม่ให้ประกันของทุกคดีดังกล่าว ศาลมักจะอ้างเหตุผลว่า ‘มีเหตุอันควรที่จะเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาต’ ทำให้น่ากังวลว่า จำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำจะเพิ่มขึ้นอีกในเดือนกันยายนนี้
.
ผู้ต้องขังคดีการเมืองรายใหม่ตั้งแต่ ก.พ. 2566 ในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิด – วางเพลิง รวม 8 ราย มี 2 ราย ไม่ได้ประกันนานกว่า 200 วันแล้ว อีก 3 ราย ถูกขังระหว่างพิจารณาคดี
.
ในปีนี้คดีเกี่ยวกับระเบิดและการวางเพลิงเผาทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องมาจากการชุมนุมเริ่มเข้าสู่ชั้นพิจารณาคดีและมีคำพิพากษามากขึ้น ซึ่งนอกจากศาลชั้นต้นจะมีแนวโน้มลงโทษจำคุก พ่วงมาด้วยคำสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวโดยศาลอุทธรณ์แล้ว คดีที่ถูกยื่นฟ้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลก็มีแนวโน้มที่จำเลยจะไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาเช่นเดียวกับมาร์ค โดยในเดือนสิงหาคม “ธีรภัทร – ปฐวีกานต์” ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว หลังอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาในข้อหาร่วมกันกระทําให้เกิดระเบิด และร่วมกันพยายามทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน จากการปาวัตถุคล้ายระเบิดใส่รถสายตรวจ ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส คืนวันที่ 31 ต.ค. 2564
.
ผู้ต้องขังคดี 112 จำนวน 7 ราย เป็นกรณีไม่ได้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ 5 ราย จน “วารุณี” – “เวหา” อดอาหารประท้วงร่างกายเข้าสู่วิกฤต ด้าน ‘เก็ท’ ถอนทนาย – ปฏิเสธกระบวนการศาล เรียกร้องคืนสิทธิประกันตัว
.
จากการเก็บข้อมูลการยื่นประกันผู้ต้องขังคดีทางการเมืองซึ่งอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดี 7 ราย ได้แก่ วุฒิ, เวหา, ทีปกร, วารุณี, วัฒน์, โสภณ และอุดม ในจำนวนนี้ นอกจากวุฒิที่ไม่ได้ประกันยาวนานตั้งแต่อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล และอุดมที่ไม่ได้ประกันระหว่างฎีกา ที่เหลืออีก 5 ราย เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้น คือศาลอาญา ส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจะให้ประกันระหว่างอุทธรณ์หรือไม่ โดยมีข้อน่าสังเกตว่าในจำนวนทั้ง 5 ราย นี้ไม่มีรายใดที่ได้รับสิทธิประกันตัวจากศาลอุทธรณ์เลย แม้ว่าคดีจะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
.
ผู้ต้องขังคดีการเมือง 5 ราย ตัดสินใจยุติการสู้คดีในชั้นศาล หลังไม่เคยได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี
.
ทั้งนี้ ในปี 2566 มีผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ตัดสินใจยุติการสู้คดีในชั้นศาลอีก จำนวน 5 ราย ได้แก่ “คทาธร – คงเพชร”, “ทัตพงศ์”, “วัฒน์” และ “สุวิทย์” ทั้งหมดตัดสินใจยุติการยื่นคำร้องขอประกันตัว สืบเนื่องมาจากการที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพวกเขา ทำให้ทั้งหมดกลายเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาด และบางรายได้พ้นโทษออกไปแล้ว
.
ข้อน่าสังเกตในกรณีของผู้ต้องขังที่ตัดสินใจยุติการสู้คดี โดยให้คดีถึงที่สุด ส่วนมากก็เพราะพวกเขาไม่เคยได้รับการประกันตัวจากศาล หลายคนเคยต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำทั้งๆ ที่ยังไม่มีโอกาสได้สู้คดีในชั้นศาล หรือแม้แต่เมื่อมีคำพิพากษาแล้ว ก็ยังคงไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวมาสู้คดีต่อในระหว่างอุทธรณ์
.
สถานการณ์ช่นนี้ ทำให้ความหวังในการใช้ชีวิตข้างนอกของพวกเขาริบรี่ เพียงเพราะคำสั่งประกันเดิมๆ ของศาลที่ว่า ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ การตัดสินใจยอมรับคำตัดสินโทษจึงเป็นเพียงความหวังสุดท้ายที่พวกเขาจะได้กลับมามีอิสรภาพในชีวิตอีกครั้ง
.
ผู้ต้องขังคดีการเมืองข้ามปี 2565 หวนกลับเข้าเรือนจำอย่างต่อเนื่อง
.
ภายหลังที่คดีมีการสืบพยาน และศาลมีคำพิพากษาในวันที่ 30 ส.ค. 2566 ให้จำคุก วัชรพล, จตุพล และณัฐพล คนละ 3 ปี และจำคุกพลพล 1 ปี 4 เดือน ทำให้ทั้งสี่ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง และมีแนวโน้มว่าต้องรับโทษจนครบกำหนดโทษอีกด้วย ภายหลังศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์
.
ทั้ง ‘เวหา’ และ ‘เก็ท โสภณ’ ก็เป็นอีก 2 ผู้ต้องขังที่เคยไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดีในคดีเดียวกันกับคดีที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุกนี้ด้วย ทำให้จนถึงต้นเดือนกันยายน 2566 นี้ มีผู้ต้องขังที่ต้องหวนกลับเข้าเรือนจำเป็นจำนวน 6 รายแล้ว
.
เป็นที่น่าสังเกตว่า จำเลยอย่างน้อย 14 ราย ในทุกคดีข้างต้นนี้ ที่ศาลชั้นต้น (ทั้งหมดเป็นศาลอาญา) มีคำพิพากษาให้จำคุกทั้งในคดีมาตรา 112 หรือคดีครอบครองระเบิด ในช่วงตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2566 จนถึงวันที่ 4 ก.ย. 2566 และส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องขอประกัน ศาลอุทธรณ์ไม่เคยให้สิทธิประกันตัวให้กับจำเลยทั้ง 14 รายข้างต้นเลย
.
และแม้แต่เมื่อวารุณีและเวหาอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันของตนเองและผู้ต้องขังคดีทางการเมือง การยื่นประกันวารุณีหลังจากนั้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ยังคงไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราววารุณีเช่นเคย นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งไม่ให้ประกันเพิ่มในกรณีของเก็ท, อุดม รวมถึงวัชรพลกับเพื่อนอีก 3 คน ด้วย
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ : https://tlhr2014.com/archives/59336