วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 16, 2566

ประมวลกฎหมายอาญา "มาตรา ๗๔ เด็กอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปีกระทําการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอํานาจที่จะดําเนินการ ดังต่อไปนี้....."



สถาบันติวกฎหมาย Ohm's Law (โอห์ม ลอว์)
June 13, 2020 · Bangkok, Thailand ·

#เลคเชอร์กฎหมาย
#ประมวลกฎหมายอาญา
#เด็กกระทำความผิดอาญา

หากพิจารณาตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายอาญา คำว่า “ผู้ใด” หมายความถึงบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ซึ่งในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาก็ไม่ได้มีการกำหนดช่วงอายุไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีอายุเพียงใด หากได้กระทำการครบตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด ก็ย่อมถือว่าผู้นั้นมีความผิดแล้ว

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ได้มีการนิยามคำว่า “เด็ก” และ “เยาวชน” ไว้ในมาตรา 4 ดังนี้

“เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินกว่าอายุที่กำหนดไว้ตามมาตรา 73 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์

“เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์

ตามประมวลกฎหมายอาญา หากผู้ใดกระทำการที่ครบองค์ประกอบของความผิด แม้จะเป็นเด็กหรือเยาวชนก็ย่อมต้องถือว่ามีความผิด แต่ทั้งนี้จะต้องรับโทษหรือไม่ ต้องไปว่ากล่าวกันอีกเรื่อง

เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี (มาตรา 73)
ถ้าได้กระทำการครบองค์ประกอบของความผิด ก็ถือว่ามีความผิด แต่เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ

เด็กอายุเกินกว่า 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี (มาตรา 74)
ถ้าได้กระทำการครบองค์ประกอบของความผิด ก็ถือว่ามีความผิด แต่เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่อย่างไรก็ดี ศาลสามารถจัดการได้ดังต่อไปนี้

(1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้

(2) ศาลจะวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้องไม่เกินสามปีและกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น

(3) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น
โดยวิธีการตามมาตรา 56 อาทิ
- ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์
- ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
- ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย หรือห้ามเข้าในสถานที่ใดในระหว่างเวลาที่ศาลกำหนด ทั้งนี้ จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางด้วยก็ได้

(4) ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครอง

(5) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี

เด็กอายุเกินกว่า 15 ปี แต่ไม่ต่ำกว่า 18 ปี (มาตรา 75)
ถ้าได้กระทำการครบองค์ประกอบของความผิด ก็ถือว่ามีความผิด ให้ศาลพิจารณาความรู้ผิดชอบและเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับเด็กว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี
1. ศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษ(ไม่ต้องรับโทษ) ศาลสามารถจัดการตามมาตรา 74 ดังที่กล่าวไปข้างต้น
2. ศาลเห็นว่าสมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง

เด็กอายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี (มาตรา 76)
ถ้าได้กระทำการครบองค์ประกอบของความผิด ก็ถือว่ามีความผิด และต้องรับโทษ แต่ทั้งนี้ ศาลอาจลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้

#อย่าลืมกดไลก์ #กดแชร์ แบ่งปันความรู้ให้เพื่อน ๆ ด้วยนะครับ
.....
Prawais Prapanugoolkij 
15h ·
ประมวลกฎหมายอาญา "มาตรา ๗๔ เด็กอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปีกระทําการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอํานาจที่จะดําเนินการ ดังต่อไปนี้....."
ในแง่การเมือง ผมอยากเห็นอัยการสั่งฟ้องเด็กอายุ 14 ปี(อายุขณะเกิดเหตุ) เอาให้กระฉ่อนโลกเลยว่า กระบวนการยุติธรรมไทยฟ้องคดี 112 เด็กอายุ 14 ปี
แต่งานนี้คาดว่าไม่มีใครกล้าฟ้อง ขนาดตำรวจยังชิ่ง ให้ระดับร้อยตำรวจเอกทำคดี เอาแค่ออกหมายจับจะกล้าหรือเปล่าเหอะ