Yingcheep Atchanont
18h
·
การเลื่อนบังคับใช้พ.ร.บ.ต่อต้านการทรมานฯ ไม่เหมือนกับการเลื่อนพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มันเลวร้ายกว่ามากนะ
.
เมื่อปี 2562 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านสนช. มาแบบฉิวเฉียดช่วงโค้งสุดท้าย แต่พอจะบังคับใช้มีการ "เลื่อน" ออกไปหนึ่งปี แล้วก็ "เลื่อน" ออกไปอีกที จนมาใช้จริงในปี 2565 ซึ่งวิธีการที่เขาใช้ถ้าอธิบายทาง "เทคนิค" และไม่ใช่การเลื่อนใช้กฎหมาย แต่มันมีมาตราที่กำหนดข้อยกเว้นว่า กฎหมายจะไม่ใช้กับใครบ้าง และให้อำนาจครม.ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดองค์กรที่ได้รับการยกเว้นได้
พอไม่อยากจะใช้กฎหมาย สิ่งที่ครม. ทำ คือ ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดประเภทองค์กรที่จะไม่ถูกบังคับใช้มา 22 ประเภท อ่านดูแล้วครอบคลุมทุกกิจการที่มีอยู่ คือ ไม่มีองค์กรไหนเลยที่ไม่ถูกยกเว้น นี่กลายเป็น "เทคนิค" ที่เลวร้ายในทางหลักการเพื่อให้กฎหมายไม่มีที่บังคับใช้ แต่ในทางทฤษฎี กฎหมายมันก็บังคับใช้ไปตามกำหนด แค่ยกเว้นให้กับทุกคนเลยขยายสองรอบเป็นเวลาสองปี https://ilaw.or.th/node/5869
โดยหลักการแล้ว "แย่" แต่โดยวิธีการแล้ว "ไม่ผิด"
.
แต่พ.ร.บ.ต่อต้านการทรมานและการอุ้มหาย ไม่เหมือนกัน เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดว่าจะมีผลบังคับใช้แล้ว และไม่ได้เปิดช่องให้เกิดการยกเว้นกับบางกรณี หรือบางประเด็น หรือบางมาตราได้ จึงไม่มีช่องทางตามกฎหมายที่จะเลื่อนการบังคับใช้ได้ ทางเดียวก็คือต้องออกกฎหมายใหม่มาอีกหนึ่งฉบับเพื่อแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เดิมเรื่องเวลาการบังคับใช้
และกฎหมายเดิมเป็น พ.ร.บ. การจะออกกฎหมายมาแก้ไข พ.ร.บ. ก็ต้องออกเป็น พ.ร.บ. จะใช้กฎหมายระดับต่ำกว่านั้นไม่ได้ ไม่เหมือนกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เปิดช่องไว้ให้อำนาจ ครม. ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ได้ ดังนั้น หากจะแก้ไขเรื่องเวลาบังคับใช้จริงๆ ก็ต้องเสนอร่างพ.ร.บ. อีกฉบับมาแก้ไขฉบับเดิม และส่งเข้าสภา ผ่านทั้ง ส.ส. ส.ว. ใช้เวลาอีกมาก แต่ถ้าเห็นตรงกันหมอ ทำสามวาระรวดทั้งสองสภา สัก 1-2 เดือนก็เป็นไปได้ ทำนองแบบพ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ไม่มีเสียงค้าน
แต่เราก็รู้ว่า สภาตอนนี้ไม่ทำงาน ทั้งส.ส. และส.ว. นั่นแหละ เสนออะไรเข้าไปก็ล่มหมด ดังนั้นการออกพ.ร.บ.ใหม่เพื่อมาเลื่อนการบังคับใช้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้
สิ่งที่ ครม. กำลังจะทำ คือ การออกเป็นพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก. ซึ่งมีศักดิ์เท่ากับพ.ร.บ.แต่เป็นอำนาจที่ ครม. ออกได้เลย เฉพาะในกรณีจำเป็นเร่งด่วน เช่น เกิดสงคราม หรือเกิดภัยพิบัติ ที่ไม่อาจเสนอพ.ร.บ. เข้าสภาได้ทันก็ให้ทำเฉพาะหน้าไปก่อน แต่ตอนนี้ปัญหาไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแบบนั้นและไม่ใช่เสนอสภาไม่ทัน แต่สภาดันไม่ทำงาน และรัฐบาลก็คุมเสียงในสภาไม่ได้ ส.ส. ของตัวเองก็ทยอยย้ายพรรคออกไปกันเยอะแล้ว https://ilaw.or.th/node/6346
ดังนั้น ครม. จึงกำลังจะใช้อำนาจอีกครั้งเพื่อออกพระราชกำหนด
ทั้งที่ไม่เข้าเงื่อนไขให้ครม. ออกพระราชกำหนดได้
เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้
ซึ่งเรื่องนี้โดยเนื้อหา โดยหลักการก็เป็นเรื่องที่ "แย่"
และในทางกระบวนการ เป็นการใช้อำนาจที่ "ผิด" ไม่สามารถทำได้
คนที่จะมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจแบบนี้ ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพวกเขาก็เลือกมาเอง เละไปหมดครับ