เมื่อค่านิยม การกดดันให้คนทำงานหนัก กำลังทำให้ไทยล้าหลัง | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2566
18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566
ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้มีข่าวรายงานถึงบุคลากรด้านสื่อโทรทัศน์ ที่เสียชีวิตระหว่างการทำงาน
เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับการทำงานหนักและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ไม่ใช่กรณีแรกสำหรับประเทศไทยที่มีการเสียชีวิตจากการทำงานหนัก
การทำงานหนักที่นำสู่การเสียชีวิต เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
เกิดขึ้นตั้งแต่แรงงานอิสระที่ไม่มีค่าจ้างประจำคนรับจ้างทั่วไป ผู้ประกอบการรายย่อย-คนเข็นลูกชิ้นปิ้งขาย คนขายข้าวมันไก่ พนักงานประจำ
ข่าวคราวการทำงานหนักของคนไทยที่นำสู่การเสียชีวิตเกิดขึ้นเป็นประจำหากไม่ด้วยสุขภาพ ก็ความเครียด หรือความจน
จนน่าตั้งคำถามว่าหากคนไทยทำงานหนักขนาดนี้ คนทำงานไทยน่าจะร่ำรวยที่สุดในโลก
แต่ความจริงกลับสวนทาง การทำงานหนักของคนไทยกลับไม่ได้ทำให้รายได้โดยรวมของคนไทยดูสูงขึ้น
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น แม้ในกลุ่มที่หาเงินได้ดูจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย รายได้กลับหมดไปกับค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ค่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ค่าบ้าน หนี้สินทั้งในและนอกระบบ ไม่มีเวลาแม้แต่จะมีความสุข
การทำงานเป็นเพียงแค่กลไกหนึ่งในการดันตัวเองกลับมา กินข้าว หลับนอน และตื่นขึ้นมาทำงานใหม่
นี่คือวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ในวัยทำงาน ไม่ว่าจะมีนายจ้างหรือเป็นแรงงานอิสระ อยู่ภาครัฐหรือภาคเอกชน อยู่ธุรกิจเล็กหรือธุรกิจใหญ่ ก็ล้วนดูมีชะตากรรมไม่ต่างกันนัก
แน่นอนว่ามีคนที่สามารถบริหารจัดการหรือมีชีวิตรอดจากการทำงานหนักได้
แต่คนส่วนใหญ่ล้วนมีชีวิตการทำงานที่ย่ำแย่ไร้อำนาจต่อรอง และเปราะบางทางเศรษฐกิจ
จนเราควรตั้งคำถามว่าเรามีความเข้าใจผิดอะไรที่เกี่ยวข้องกับ “การทำงาน” ทั้งในมุมของเจ้าของกิจการ หัวหน้างาน และตัวคนทำงานเอง
ผลสำรวจจาก World Values Survey and European Values Survey ซึ่งเก็บข้อมูลระหว่างปี 2017-2020 ได้เก็บข้อมูลผ่านการตั้งคำถามถึงคุณค่าที่ประเทศต่างๆ ให้คุณค่าว่า “สิ่งที่เด็กควรเรียนรู้” ซึ่งเป็นการสำรวจค่านิยมต่างๆ
ซึ่งพบความน่าสนใจเมื่อนำคะแนนค่านิยมที่ควรปลูกฝังของประเทศต่างๆ ว่าด้วย “การทำงานหนัก” และการใช้ “จินตนาการ” มาเปรียบเทียบความสัมพันธ์
พบว่า ประเทศนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่ให้คุณค่าแก่การใช้จินตนาการว่ามีความสำคัญมากกว่าการทำงานหนัก
โดยประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ มีเสรีภาพ ผู้คนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่เมื่อย้อนมาดูกลุ่มประเทศที่ให้คุณค่ากับการทำงานหนักมากกว่าการส่งเสริมให้เด็กใช้จินตนาการอย่างเด่นชัดประกอบด้วย ซิมบับเว ไนจีเรีย กรีซ ไทย จีน ยูเครน อียิปต์ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่คุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชนไม่ได้ดีนัก และมีความเหลื่อมล้ำในสังคมสูง
เราอาจยังไม่พบความสัมพันธ์โดยตรงว่า “ประเทศแย่” เลยต้องส่งเสริมให้คน “ทำงานหนัก” หรือเพราะการส่งเสริมให้ “คนทำงานหนัก” ทำให้ประเทศ “แย่”
แต่ไม่ว่าอะไรจะเป็นเหตุเป็นผลก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก
เพราะที่แน่นอนที่สุด “การทำงานหนัก” ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดการเป็นสังคมที่มีคุณภาพที่ดีแน่นอน
เราจำเป็นต้องแยกการทำงานหนักออกจากการตั้งใจทำงาน หรือการทำงานที่มีประสิทธิภาพ การที่คนต้องทำงานหนักเกินไปเป็นภาพสะท้อนปัญหา 3 ประการ
ประกอบด้วย
1. ค่าจ้าง สวัสดิการ และรายได้ของผู้คนน้อยเกินไป จึงต้องทำงานเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เป็นปัญหาทั้งระบบสวัสดิการในระดับประเทศ และระบบค่าจ้าง-สวัสดิการในระดับองค์กร
2. การบริหารงาน การมอบหมายงานไม่เป็นระบบ ไม่มีการวางแผน คนจึงต้องทำงานหนัก บางงานอาจเป็นแค่บางช่วงเวลา แต่ในหลากหลายองค์กรสิ่งเหล่านี้กลับถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน
ซ้ำร้ายกว่านั้น ผู้บริหารส่วนหนึ่งยังมีค่านิยมที่ว่าการทำงานดึกดื่น การทำงานวันหยุด หรือการสั่งงานยามค่ำคืน เป็นการแสดงถึงสปิริตการทำงานหนักและอุทิศต่อองค์กร ที่คาดหวังให้ทุกคนมองว่าเป็นมาตรฐานการทำงาน
ทั้งๆ ที่เป็นภาพสะท้อนการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพและละเมิดสิทธิแรงงาน
3. การไร้อำนาจต่อรอง แรงงานไทยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานน้อยกว่า 5 แสนคนจากประชากรในวัยแรงงานกว่า 38 ล้านคน
ไม่น่าแปลกที่เมื่อเกิดข้อพิพาทด้านการทำงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือนายจ้าง จะโยนเรื่องราวทั้งหมดให้กลายเป็นเรื่องปัญหาส่วนตัวของแต่ละคน
คนที่เรียกร้องมากเกินไปถูกจั่วหัวว่าเป็น “ตัวปัญหา” หรือหากทำงานไม่หนักเพียงพอ ไม่รักองค์กรมากพอ
หรือกลายเป็น “คนขี้แพ้” ไม่รับผิดชอบ
ทั้งๆ ที่ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงแค่เราไร้อำนาจต่อรอง ในการบอกว่าอะไรคือสิ่งที่พึงเป็นในการจัดการบริหารงานขององค์กรต่างๆ
ดังนั้น ขณะที่คนส่วนใหญ่มองว่าการทำงานหนัก เป็นการ “อวยยศ” เป็นเรื่องดีที่น่าชื่นชมน่าภูมิใจ
เราควรเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า เราจะทำอย่างไรให้สังคมนี้ผู้คนมีชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม พร้อมกับการได้รับค่าจ้างรวมถึงสวัสดิการที่ดี พร้อมๆ กับการมีอำนาจต่อรองในการบอกว่าการทำงานที่ดีสำหรับมนุษย์คนหนึ่งควรเป็นอย่างไร
เรามักคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็น “สัจนิยมของทุน” พร้อมกับชุดคำอธิบายต่างๆ ว่า “ถ้าไม่พอใจก็ลาออกไปตั้งบริษัทเอง” “ที่นี่บริษัทของเขา เขาจะทำอะไรก็ได้”
ล้วนเป็นถ้อยคำที่ผิดเพี้ยนและขัดกับหลักสากลที่พึงเป็น
เพราะในหลายประเทศการที่ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้อาจไม่ได้สร้างกำไรสูงสุดให้แก่เจ้าของกิจการ
แต่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เพิ่มการแข่งขันระยะยาว ลดความขัดแย้งในองค์กรที่อาจทำให้เกิดต้นทุนที่คาดเดาไม่ได้ตามมาภายหลัง
และทำให้มีบุคลากรที่มีความหลากหลายเข้ามาทำงานในองค์กรมากขึ้นไปพร้อมกัน
เราจำเป็นต้องล้างมายาคติใหม่ว่า “การทำงานหนัก” เป็นเงื่อนไขเดียวสำหรับการมีชีวิตที่ดี หรือประสบความสำเร็จ
การต่อสู้เรียกร้องเพื่อสร้างสังคมที่เสมอภาค ล้วนเป็นหนทางสำคัญในการยกระดับชีวิตของผู้คนทั้งสังคมได้ไปพร้อมกัน
และสำหรับผู้ประกอบการ หรือเจ้าของกิจการก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า หากแรงงานอยู่ได้ มีชีวิตที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้รับการคุ้มครอง ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ดีกับองค์กรธุรกิจ และสังคมเช่นเดียวกัน