วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 21, 2566

จากประเทศ ‘คนทำงานหนักจนตาย’ ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ยุคทำงาน 4 วัน/สัปดาห์



ถ้าพูดถึงการทำงานของคนญี่ปุ่นขึ้นมา เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงวัฒนธรรมการโหมทำงานอย่างหนักของคนญี่ปุ่น

หนักที่ว่าไม่ใช่แค่ทำงานเยอะแล้วเหนื่อยหมดแรง

แต่คนญี่ปุ่นนั้นบ้างานขั้นสุดจน “ทำงานหนักจนตาย”

ซึ่งญี่ปุ่นเองก็เรียกภาวะที่คนทำงานหนักจนตายว่า “โรคคาโรชิ” (Karoshi) ซึ่งเกิดจากการทำงานหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด อ่อนเพลีย จนเกิดความผิดปกติต่อร่างกายและอารมณ์ นำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด

โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นข่าวโด่งดังว่ามีคนญี่ปุ่นตายจากการทำงานหนักหลายครั้งหลายคราว

ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ ‘มิวะ ซาโดะ’ นักข่าวช่อง NHK วัย 31 ปี ที่ทำงานล่วงเวลาไป 159 ชั่วโมง ทั้งเดือนหยุดแค่ 2 วัน จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในเดือน ก.ค. 2013

หรือกรณีของ ‘มัตสึริ ทากาฮาชิ’ พนักงาน Dentsu วัย 24 ปี ที่ฆ่าตัวตายในเดือน เม.ย. 2015 หลังทำงานล่วงเวลามากกว่า 100 ชั่วโมง หลายเดือนติดต่อกัน

แต่ถ้าย้อนดูจริงๆ โรคคาโรชิในญี่ปุ่นเกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว โดยหลังจากวิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1973 เกิดการปรับโครงสร้างการทำงานครั้งใหญ่ ธุรกิจในญี่ปุ่นขยายการเติบโต แรงกดดันการทำงานเพิ่มขึ้น ก็เริ่มมีรายงานการเสียชีวิตของพนักงาน

สาเหตุการตายส่วนใหญ่มักมาจากภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง หรือฆ่าตัวตาย โดยคนที่ตายส่วนใหญ่ทำงานเป็นเวลานานติดต่อกัน คือก่อนตาย บางคนทำงาน 60-70 ชั่วโมง/สัปดาห์ บางคนมากกว่านั้นอีก

จนในช่วงทศวรรษที่ 1990 แรงกดดันในการทำงานเพิ่มสูงกว่าเดิม พนักงาน full-time หลายคนรู้สึกว่าไม่สามารถลาออกได้ แม้ว่าจะมีเรื่องที่ทนไม่ได้แค่ไหนก็ตาม

และในช่วงทศวรรษนั้น ก็พบข่าวคราวนักธุรกิจวัยกลางคนจำนวนมากที่ทำงานหนักหลายชั่วโมงจนเสียชีวิตจากร่างกายล้มเหลว หรือไม่ก็ฆ่าตัวตาย

สาเหตุที่ทำให้โรคคาโรชิกลายเป็นโศกนาฏกรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นนั้น นอกจากจะมาจากวัฒนธรรมองค์กรบางแห่งที่มีสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ให้ทำโอทีแต่ไม่ให้เงินแล้ว

ชาวญี่ปุ่นเองก็มีทัศนคติที่ฝังรากลึกว่าต้องทำงานหนักเพื่อส่วนรวม ส่งผลให้คนญี่ปุ่นบ้างานและเครียดจากการทำงานนั่นเอง

โดยรัฐบาลยอมรับว่ามีคนญี่ปุ่นตายหรือบาดเจ็บจากโรคคาโรชิประมาณ 200 คน/ปี และในปี 2013 มีคดีฟ้องเรียกค่าชดเชยกรณีที่พนักงานเสียชีวิตจากการทำงานถึง 1,456 คดี

และแม้รัฐบาลจะพยายามหาทางแก้ไข แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะไม่ได้แก้ได้ง่ายๆ

เพราะในปีงบประมาณ 2020 ที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2021 มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโรคคาโรชิมากกว่า 2,800 รายการ เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว

แต่เมื่อเทรนด์ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น จากสถานการณ์โรคระบาดที่พลิกโฉมการทำงานของเราไปอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งทำให้หลายบริษัทพบว่าการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Work from Home หรือทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ นอกจากทำให้พนักงานสุขภาพจิตดีแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิผลการทำงานได้มากกว่าเดิมด้วย

ญี่ปุ่นเองก็เริ่มให้ความสนใจกับเทรนด์ทำงาน 4 วันเหมือนกัน เพราะตั้งแต่โควิด ญี่ปุ่นเองก็ต้องให้ทำงานแบบยืดหยุ่นขึ้น ทั้งเรื่องชั่วโมงทำงานและการทำงานจากระยะไกลได้

ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มวิเคราะห์ว่ารูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปนี้ส่งผลต่อความสุขของพนักงานอย่างไรบ้าง

จนช่วงกลางปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นได้เผยถึงนโยบายเศรษฐกิจประจำปี แนะนำให้บริษัทเอกชนอนุญาตให้พนักงานเลือกทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ได้

เพื่อรักษาพนักงานเก่งๆ ไว้ไม่ให้ต้องลาออกไปดูแลครอบครัวหรือผู้สูงอายุ

รัฐบาลบอกอีกว่าการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ยังเป็นการส่งเสริมให้พนักงานมีเวลาไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือรับงานเสริมอื่นได้

และสิ่งที่สำคัญที่สุด การมีวันหยุดเพิ่มก็จะส่งเสริมให้คนออกไปใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้นั่นเอง

นอกจากนี้ การมีวันหยุดเพิ่มยังทำให้หนุ่มสาวได้มีเวลาพบปะ ไปเดต ที่จะนำไปสู่การแต่งงาน มีลูก ซึ่งท้ายที่สุดก็ช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดลดลงได้นั่นเอง

เมื่อรัฐบาลไฟเขียวขนาดนี้ หลายบริษัทก็เริ่มทดลองใช้นโยบายนี้แล้ว เช่น

-กลุ่มฮิตาชิ ที่ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ประกาศให้พนักงานราว 15,000 คน ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ในปีงบฯ 2022 นี้

-ในเดือนเดียวกัน บริษัท Game Freak ผู้พัฒนาเกมยอดฮิตพวกซีรีส์โปเกมอน ก็ให้พนักงานบางส่วนทำงาน 4 วันแล้ว

-ล่าสุดคือ พานาโซนิค โฮลดิ้งส์ ที่เพิ่งประกาศ ว่าจะให้พนักงานที่สนใจ ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ได้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทที่ให้ความสนใจ และเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ หรืออย่าง Microsoft Japan เองก็เคยทดลองให้ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์มาแล้วในปี 2019

ซึ่งนอกจากพนักงานส่วนใหญ่ (90%) จะชื่นชอบแล้ว การทำงาน 4 วันยังช่วยให้ Productivity พุ่งกว่า 40% อีกด้วย

ฮิโรมิ มูราตะ นักวิจัยอาวุโสของ Recruit Works Institute บอกว่า บริษัทต่างๆ มองว่าการทำงานสี่วันต่อสัปดาห์เป็นวิธีรักษาพนักงานที่มีทักษะไว้ได้ เพราะการจ้างคนใหม่และฝึกให้มีทักษะเท่าคนเก่านั้นใช้เวลามากกว่าเยอะ

“แรงงานมีทักษะจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงแรงงานกลุ่มที่เป็นแม่และกำลังมีลูกเล็ก ไม่สามารถทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ได้ การนำเสนอว่าให้ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ก็จะช่วยให้บริษัทมีโอกาสรับคนเก่งๆ ได้มากกว่า” มูราตะ กล่าวเสริม

โดยในปีที่แล้ว จากการสำรวจบริษัทในญี่ปุ่น 4,000 แห่ง โดยกระทรวงแรงงาน พบว่ามีบริษัทราว 8.5% ที่ให้วันหยุดเพิ่ม และไม่ได้ให้ทำงาน 5 วัน/สัปดาห์

แม้จะไม่ถึง 10% เพราะหลายบริษัทในญี่ปุ่นเองมักผูกค่าแรงไว้กับจำนวนวันที่ทำงาน และคนทำงานเองก็ไม่อยากหยุดพักผ่อน เพราะกลัวโยนภาระไปให้เพื่อน

แต่ทิศทางปีนี้ก็ดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ซึ่งไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ตอนนี้ประเทศแถบเอเชียก็เริ่มให้ความสนใจกับเทรนด์นี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น

-อินโดนีเซีย บริษัท Alami ผู้ให้กู้แบบ peer-to-peer เริ่มให้พนักงานทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

-อินเดีย กำลังเตรียมบังคับใช้ประมวลกฎหมายแรงงาน 4 ฉบับในปีนี้ ที่มีหลักเกณฑ์ให้คนงานเลือกทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ได้ แต่จำนวนชั่วโมงทำงานทั้งสัปดาห์ยังเท่าเดิม คือประมาณ 48 ชั่วโมง

-เกาหลีใต้ ที่ได้ชื่อว่าทำงานหนักโหดพอกัน คือในปี 2020 ชาวเกาหลีทำงานเฉลี่ย 1,908 ชั่วโมง สูงสุดในเอเชีย แต่ก็เริ่มมีบริษัทสนใจเทรนด์ใหม่นี้แล้ว คือ บริษัทการศึกษาอย่าง Eduwill ก็นำระบบนี้มาใช้ตั้งแต่ปี 2019 ถือเป็นรายแรกๆ ในอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม แม้หลายบริษัทจะเริ่มเข้าสู่เทรนด์ดังกล่าวแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ในทางปฏิบัติก็ยังมีความท้าทายมากมาย

-พนักงานหรือผู้บริหารบางคน มีจำนวนงานลดลงอย่างมาก

-การจัดการเรื่องการเข้างานซับซ้อนกว่าเดิมมาก

-การคำนวณค่าจ้างยากกว่าเดิม

ซึ่งเรื่องนี้ ‘เคียวโกะ คิดะ’ บรรณาธิการใหญ่ของเว็บไซต์หางานในญี่ปุ่นอย่าง Doda บอกว่า บริษัทต่างๆ ที่จะนำนโยบายทำงาน 4 วัน/สัปดาห์มาใช้ ต้องเตรียมพร้อมให้ดี เพราะไม่อย่างนั้นก็อาจจะ “ล้มเหลว” กว่าเดิมได้

อ้างอิง:

https://asia.nikkei.com/Business/Business-trends/From-Japan-to-Indonesia-Asia-weighs-four-day-workweeks

https://www.wired.co.uk/article/karoshi-japan-overwork-culture

https://japantoday.com/category/features/kuchikomi/beware-your-job-may-be-killing-you

https://www.theguardian.com/world/2017/oct/05/japanese-woman-dies-overwork-159-hours-overtime

https://www.theguardian.com/technology/2019/nov/04/microsoft-japan-four-day-work-week-productivity

https://www.cnbc.com/2022/03/02/is-a-four-day-work-week-catching-on-in-asia-it-depends-on-the-country.html

https://www.japantimes.co.jp/news/2022/05/03/business/four-day-working-week-japan/

https://www.dw.com/en/japan-work-life-balance/a-57989053

https://workpointtoday.com/panasonic-japan-4-days-work-week/

https://chobrod.com/tips-car-care/%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%B5-1973-4552

ที่มา Work Point Today
7 พ.ค. 2565
โดย Kanokwan Makmek