วันพุธ, กุมภาพันธ์ 22, 2566

อาซิซ อับดุลลาห์ ผู้ขอลี้ภัยชาวอุยกูร์ เสียชีวิตในศูนย์กักกันคนต่างชาติที่กทม. “สถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งนี้ มันเลวร้ายยิ่งกว่าคุกไทยทั่วไปเสียอีก”



อุยกูร์ : วิบากกรรมผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ถูกไทยคุมขังไร้กำหนด จนป่วยตายไร้การรักษา

โดย โจนาธาน เฮด
ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
21 กุมภาพันธ์ 2023


อะซิซ อับดุลเลาะห์ (ขวา) และครอบครัว ก่อนจะเดินทางมาไทย

การเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์วัย 49 ปี ในประเทศไทย ส่งผลให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหาแนวทางที่เป็นมนุษยธรรมมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ยากของชายชาวอุยกูร์กว่า 50 คน ที่ถูกควบคุมตัวในไทยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา

อะซิซ อับดุลเลาะห์ เสียชีวิต หลังหมดสติในสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในกรุงเทพฯ ที่เขาถูกควบคุมตัวอยู่มาอย่างยาวนาน

อับดุลเลาะห์เป็นหนึ่งในคลื่นผู้ลี้ภัยชาวอุยกุร์กว่า 350 คนที่หนีเข้ามาในประเทศไทยจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในจีน เมื่อปี 2556 ก่อนถูกทางการไทยควบคุมตัว

รัฐบาลจีนปฏิเสธว่า ไม่ได้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในซินเจียง แต่กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า มีชนกลุ่มน้อยกว่า 1 ล้านคนที่ถูกทางการจีนควบคุมตัวในเครือข่าย “ค่ายปรับทัศนคติ” ขนาดใหญ่ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อะซิซ อับดุลเลาะห์ เป็นผู้นำชาวมุสลิมในพื้นที่ห่างไกลในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ก่อนจะเดินทางถึงประเทศไทยพร้อมภรรยาที่ตั้งครรภ์อยู่ พี่ชาย และลูกอีก 7 คน ในช่วงปลายปี 2556

นักเคลื่อนไหวที่ติดต่อกับเหล่าชาวอุยกูร์ที่ถูกคุมขังที่สถานกักกันฯ มาตลอด เปิดเผยว่า อับดุลเลาะห์ป่วยหนักตลอดช่วงกว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ทางการไทยปฏิเสธไม่ยอมส่งเขาไปโรงพยาบาล จนเขาล้มหมดสติไป

“เขาไอและอาเจียนเป็นเลือด ทานอะไรไม่ได้เลย” โพลัต ซายิม ผู้อำนวยการศูนย์ผู้ลี้ภัยแห่งคองเกรสอุยกูร์โลกในออสเตรเลียระบุ

“แพทย์ของสถานกักกันฯ ได้เข้าตรวจเขา แล้วบอกว่า มันไม่ใช่อาการป่วยจริง และเขายังเป็นปกติ”

หลังล้มหมดสติ อับดุลเลาะห์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ก่อนที่แพทย์จะประกาศว่าเขาเสียชีวิตในเวลาต่อมาเพียงไม่นาน โดยโรงพยาบาลออกใบมรณบัตรระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตคือการติดเชื้อในปอด


ไทยบังคับส่งชาวอุยกูร์ 109 คนกลับจีนในปี 2558

เหล่านักเคลื่อนไหวระบุว่า ครอบครัวของอับดุลเลาะห์เข้าไทยมา เพื่อหวังเดินทางต่อไปมาเลเซีย โดยมีจุดหมายปลายทางที่ตุรกี แต่ถูกทางการไทยควบคุมตัวระหว่างเดินทางอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้

ในเวลานั้น ชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่มักอ้างตนกับทางการว่าเป็นชาวตุรกี เพื่อหลีกเลี่ยงถูกส่งตัวกลับไปจีน อีกทั้ง รัฐบาลตุรกียังมอบสัญชาติให้ชาวอุยกูร์บางคนอีกด้วย โดยในช่วงต้นเดือน ก.ค. 2558 ทางการไทยอนุญาตให้ชาวอุยกูร์ 173 คน รวมถึงภรรยาของอับดุลเลาะห์ และลูก ๆ ของเขา เดินทางด้วยเครื่องบินไปตุรกี

อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนออกมาต่อต้านการตัดสินใจดังกล่าวของไทย พร้อมกล่าวหาตุรกีว่า กำลังแทรกแซงปัญหาทวิภาคี และ “สมคบคิดในการลักลอบนำผู้อพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย”

รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยบางคน เดินทางเข้าเยี่ยมและตรวจสอบผู้ขอลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ถูกควบคุมตัว ก่อนที่ในวันที่ 8 ก.ค. 2558 รัฐบาลไทยบังคับส่งตัวชายชาวอุยกูร์อย่างน้อย 109 คนกลับไปจีน โดยจับใส่กุญแจมือ สวมผ้าคลุมศีรษะ และนำขึ้นเครื่องบิน แม้ว่ารัฐบาลหลายชาติ รวมถึงสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ จะออกมาเรียกร้องไทยให้อย่ากระทำเช่นนั้นก็ตาม

หนึ่งในชายชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับจีน คือพี่ชายของอับดุลเลาะห์ด้วย

สื่อของรัฐบาลจีนระบุว่า ชาวอุยกูร์เหล่านี้เป็นสมาชิกของแก๊งลักลอบค้ามนุษย์ โดยบางคนยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายด้วย

จนถึงปัจจุบัน ไม่มีข้อมูลถึงชะตากรรมของชาวอุยกูร์เหล่านี้ ที่ถูกส่งตัวกลับจีนจากประเทศไทย


ระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ

รัฐบาลไทยออกมาอ้างความชอบธรรมต่อการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนว่า รัฐบาลจีนได้ร้องขอให้ไทยส่งตัวชายอุยกูร์ทั้งหมดกลับจีน แต่รัฐบาลไทยยินยอมเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น

6 สัปดาห์ต่อมา เกิดเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

รัฐบาลไทยยืนยันว่า เหตุระเบิดดังกล่าวมีต้นตอจากความบาดหมางระหว่างกลุ่มค้ามนุษย์ แต่หลักฐานที่ปรากฏชี้ชัดว่า มีกลุ่มติดอาวุธชาวอุยกูร์เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

ชายชาวอุยกูร์ 2 คน ถูกควบคุมตัวในเวลาต่อมา และถูกตั้งข้อหาวางระเบิด โดยหนึ่งในผู้ต้องหายืนยันว่า เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และเป็นไปได้ว่า เขาเป็นเพียงหนึ่งในผู้หวังขอลี้ภัยที่ถูกตำรวจไทยจับกุม ระหว่างบุกค้นบ้านที่เชื่อว่ามือผลิตระเบิดเคยใช้

การตัดสินคดีผู้ต้องหาชาวอุยกูร์ทั้งสองคน ถูกเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง แม้ว่าพวกเขาจะถูกจับกุมมานานกว่า 8 ปีแล้วก็ตาม ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลไทยไม่รีบที่จะเร่งรัดคดีนี้ ทำให้ผู้ต้องหาทั้งสองคน ยังคงถูกควบคุมตัวโดยยังไม่ได้ถูกศาลตัดสินลงโทษ

จนถึงเมื่อปีที่แล้ว มีชาวอุยกูร์ราว 50 คน ที่ถูกควบคุมตัวในสถานกักกันในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย แต่ภายหลังชาวอุยกูร์ 3 คน แอบหนีออกมาได้ ทำให้ทางการไทยย้ายชาวอุยกูร์ทั้งหมด ไปยังสถานกักกันของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพฯ ที่แออัดอย่างมาก


ผู้ต้องหาชาวอุยกูร์ เหตุระเบิดราชประสงค์

นักเคลื่อนไหวที่พยายามช่วยพวกเขาเหล่านี้ระบุว่า สภาพความเป็นอยู่ของพวกเขาเลวร้ายมาก ทางการไทยแยกชาวอุยกูร์ออกจากกัน และพวกเขาถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

“สถานกักกันฯ นี้ มันเลวร้ายยิ่งกว่าคุกไทยปกติเสียอีก” ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ จากมูลนิธิศักยภาพชุมชน ที่พยายามเรียกร้องการปฏิบัติกับชาวอุยกูร์ให้ดีขึ้น กล่าว

“มันแออัดมาก ขาดแคลนอาหาร อาหารที่ให้ก็ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีอาหารฮาลาลสำหรับผู้ถูกคุมขังชาวมุสลิมด้วย เครื่องดื่มก็ไม่สะอาด พวกเขาต้องดื่มน้ำประปา ระบบสุขภาพแทบไม่มี ถ้าพวกเขาป่วย ก็ได้แค่ทานยาแก้ปวด หรือยาอื่น ๆ ที่คล้ายกัน”

ฟิล โรเบิร์ตสัน จากฮิวแมน ไรท์ส์ วอช ระบุว่า “การเสียชีวิต (ของอับดุลเลาะห์) เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้จากการตัดสินใจเชิงนโยบายของไทย ที่จะจับขังชาวอุยกูร์ แล้วโยนกุญแจห้องขังทิ้งไป”

“ชัดเจนว่า ทางการไทยไม่ได้คำนึงถึงปัญหาสุขภาพของการที่ต้องถูกคุมขังในพื้นที่แออัดอย่างไร้กำหนด ต้องอยู่ในห้องขังที่ไร้ความสะอาด”

ทีมข่าวบีบีซีพยายามติดต่อโฆษกสถานกักกันของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ ขณะที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ

สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าหาผู้ถูกคุมขัง ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย พยายามขออนุญาตเข้าเยี่ยมชายอุยกูร์ที่สถานกักกันมานานหลายเดือนแล้ว

จนในที่สุด ทางคณะกรรมการได้รับกำหนดเข้าเยี่ยมแล้ว โดยจะไปเยี่ยมชายอุยกูร์ในสัปดาห์นี้

สำหรับร่างของ อะซิซ อับดุลเลาะห์ จะส่งมอบให้กับสมาชิกชุมชนมุสลิมในไทย เพื่อนำไปประกอบพิธีฝังที่มัสยิดใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ในกรุงเทพฯ ต่อไป