วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 25, 2566

“เราไปถึงสวัสดิการที่ดีกว่านี้ได้” ขอแค่มีคนที่เก่งพอมาเป็นรัฐบาล และกล้าพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง


Nutchapakorn Nummueng
1d

“เราไปถึงสวัสดิการที่ดีกว่านี้ได้”
.
ปลายปี 2563 ไอลอว์ได้ริเริ่มโครงการๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นโครงการที่ผมรู้สึกภูมิใจมากที่ออฟฟิศมีสิ่งนี้ นั่นก็คือ “กองทุนสุขภาพ” กองทุนดังกล่าวจะทำหน้าที่ “ช่วยจ่าย” หากคนในออฟฟิศต้องการไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนหรือคลีนิคนอกเวลาของรัฐ ไม่ต่างจากคนที่ซื้อประกันสุขภาพเอกชน
.
ความคิดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าวมาจากมีคนในออฟฟิศต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนและมันต้องเสียเงินจำนวนมาก จนเขาคิดว่า ออฟฟิศน่าจะทำประกันสุขภาพเอกชนให้ทุกคน แต่บางคน (หนึ่งในนั้นคือผม) ก็ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่า โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมไม่ได้แย่จนเกินไป และการต้องเสียเงินหลักหมื่นให้เอกชนโดยที่บางครั้งก็ไม่ได้รักษาก็ดูจะไม่คุ้มค่าเท่าไร
.
สุดท้าย เราก็ได้ข้อสรุปว่า เราจะไม่ซื้อประกันสุขภาพเอกชน แต่เมื่อความกังวลใจก็ไม่หาย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่พึงพอใจกับโรงพยาบาลรัฐและประกันสังคม พี่เป๋าเลยมีไอเดียว่า งั้นเราลองทำระบบประกันสุขภาพกันเองได้ไหม หาเงินกองทุนมากองทุนหนึ่ง และตั้งกฎการเบิกจ่ายขึ้นมา เพราะแทนที่จะเอาเงินไปให้เอกชน ทำกองทุนกันเอง ถ้าเราไม่ได้ใช้ก็ยังเก็บทบไว้เรื่อยๆ ได้ เงินไม่ได้หายไปไหน
.
พอคิดว่าจะทำกองทุนสุขภาพของตัวเอง พี่เป๋า ทำหน้าที่ในการหาเงินตั้งต้น ส่วน ผม ฟ้า พี่เรียม และพี่แว่น เป็นคนคิดหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย เราก็เลยลองทำรีเสิร์ซว่า ประกันสุขภาพเอกชนจ่ายแบบไหน จ่ายกรณีอะไรบ้าง และเราก็ได้กรอบใหญ่ๆ ว่าจะจ่ายทุกกรณีตามประเภทการรักษา ได้แก่
.
๐ ผู้ป่วยใน [นอนโรงพยาบาล] (จ่ายตามจริงไม่เกินวันละ 6,000 บาท)
๐ ผู้ป่วยนอก [ไปเช้าเย็นกลับ] (จ่ายตามจริงไม่เกินวันละ 3,000 บาท)
๐ ผู้ป่วย ICU (จ่ายตามจริงไม่เกินวันละ 5,000 บาท)
๐ ผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ (จ่ายตามจริงไม่เกินครั้งละ 20,000 บาท)
๐ ค่าตรวจสุขภาพประจำปี (จ่ายตามจริงไม่เกินปีละ 3,000 บาท/คน)
.
แต่เนื่องจากเมื่อปี 2563 เรายังอยู่ในสถานการณ์โควิดระบาด เราจึงตกลงกันว่า ค่าตรวจสุขภาพขอเลื่อนออกไปก่อน และกันเป็นงบสำหรับค่าวัคซีนโควิด และค่าตรวจโควิด (RT-PCR) ในกรณีจำเป็น
.
หลังจากเริ่มกองทุนในปี 2563 เราค่อนข้างประสบความสำเร็จในการบริหารความเสี่ยง เพราะในความเป็นจริง ปีปีหนึ่งมีคนใช้จริงไม่ถึง 50% ของเงินกองทุน เมื่อเงินเก่าไม่หมด และมีเงินใหม่มาเติมเรื่อยๆ จนวันนี้ ถ้าทุกคนในออฟฟิศไอลอว์ป่วยอย่างเข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชนกันปีละ 2-3 ครั้ง ก็ไม่ได้ทำให้กองทุนล่มจมอะไร และหากเป็นแบบนี้ต่อไป เราจะมีระบบรองรับสำหรับการป่วยทุกรูปแบบของทุกคน ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี
.
ต้องย้ำว่า ในออฟฟิศไอลอว์ไม่มีใครเรียนจบคณิตศาสตร์ประกันภัย เราประเมินความเสี่ยงจากสถิติการป่วยและการเบิกจ่ายในแต่ละปี เราก็พบว่า ระบบกองทุนนี้ยังทำงานได้ดี ทำให้บางคนกล้าตัดสินใจไปฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ทำให้บางคนกล้าที่จะไปโรงพยาบาลเอกชนหรือคลีนิกนอกเวลาบ้าง ไม่ต้องกลัวว่าจะเข้าเนื้อ
.
ผมเชื่อว่า ถ้าเราทำข้อมูลการป่วย การเบิกจ่าย ให้ดีและเป็นระบบมากกว่านี้ เราจะบริหารความเสี่ยงของกองทุนได้ดีกว่านี้มาก หรือ ถ้าเราได้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาช่วยคิด ก็จะยิ่งดีไปใหญ่ ซึ่งที่เล่ามานี้ ไม่ได้จะมาอวดว่า ออฟฟิศฉันดีกว่าใคร แต่อยากให้เห็นว่า เราสามารถฝันและไปถึงระบบสวัสดิการในที่ทำงานที่ดีกว่านี้ได้ และอยากให้หลายองค์กรที่ลังเลว่าจะซื้อระบบประกันสุขภาพเอกชนดีมั้ย ได้ทบทวนดู
.
มองไปไกลกว่านั้น ไอลอว์เป็นองค์กรเล็กๆ แม้มีรายรับสม่ำเสมอ แต่ก็มีรายรับที่จำกัด นั้นทำให้กองทุนของเราไม่ใหญ่ และยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่ประเทศไทย หรือ รัฐบาลไทยมีรายรับที่มหาศาลต่อปี การจะสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่แข็งแรง มั่นคง ครอบคลุม คงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป แต่ปัญหาของประเทศไทย คือ นโยบายหลักประกันสุขภาพมักถูกจ้องบ่อนทำลายอยู่เสมอ
.
ผมว่ามันไม่ยากเกินไปที่จะหาคนที่เก่งที่สุดแต่ละด้านมาช่วยกันสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแบบระบบเดียว ไม่ต้องแยก ของข้าราชการ ของคนทำงาน ของคนธรรมดา แต่เป็นระบบสุขภาพสำหรับทุกคน และเอาเงินจากความเหลี่ยมล้ำในการดูแลแต่ละระบบไปเสริมสวัสดิการอื่นๆ เช่น เพิ่มงบเงินเดือนค่าราชการ เพิ่มงบการศึกษา เพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุเป็นบำนาญถ้วนหน้า เพิ่มงบดูแลเด็กเล็ก เพิ่มงบประกันสังคมสำหรับคนว่างงาน คนลาคลอด และอื่นๆ อีกมากมายที่ควรจะจ่ายให้คุณภาพชีวิตของคนดีมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน
.
จากสิ่งเล็กๆ ที่องค์กรของผมทำ มันทำให้ผมเชื่อว่าเราฝันถึงสิ่งที่ใหญ่กว่านี้ได้ ขอแค่มีคนที่เก่งพอมาเป็นรัฐบาล และกล้าพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง เราไปถึงสวัสดิการที่ดีกว่านี้ได้