วันพุธ, กุมภาพันธ์ 22, 2566

ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ได้กลับไปเยือนกรุงลอนดอนอีกครั้ง เรียนรู้อะไรหลายอย่าง


พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu

6d

[ ข้อสังเกต จากการกลับไปเยือนกรุงลอนดอนครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี ]
.
เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ถูกรับเชิญไปแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาไทยที่สหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการศึกษาและอนาคตประเทศในงานประจำปีของสามัคคีสมาคม จึงได้มีโอกาสกลับไปที่อังกฤษแบบจริงๆจังๆครั้งแรกหลังจากเรียนจบมาเกือบ 10 ปีที่แล้ว
.
แม้จะได้ใช้เวลาอยู่แค่ไม่กี่วัน แต่อยากแชร์ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากการกลับไปอังกฤษครั้งนี้ (เนื้อหาของการบรรยาย จะมาแชร์ละเอียดในอีก post)
.
1. ขนส่งสาธารณะ ที่น่าประทับใจเหมือนเดิม
- การมีระบบขนส่งที่เข้าถึงทุกพื้นที่ ตรงเวลา ใช้บัตรโดยสารเดียว (Oyster Card หรือ contactless) ที่เชื่อมโยงทุกระบบทั้งรถเมล์-รถไฟใต้ดิน-รถราง ทำให้เราวางแผนชีวิตได้ง่ายขึ้นและทำอะไรได้หลายอย่างใน 1 วัน
- แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของความสำเร็จ มาจากการที่ระบบขนส่งสาธารณะในลอนดอนทั้งหมด ถูกบริหารจัดการอย่างบูรณาการภายใต้ Transport for London ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของนายกฯลอนดอน
.
2. สังคมไร้เงินสด (cashless society)
- ครั้งนี้เห็นได้ชัดถึงความพยายามในการลดการใช้เงินสดในกรุงลอนดอน
- หลายร้านอาหารที่ไปไม่รับเงินสดเลย / หลายร้านค้าลดจำนวนเคาน์เตอร์เก็บเงินที่รับเงินสด
- แม้แต่นักดนตรีที่เล่นตามท้องถนน หลายคนไม่มีการวางหมวกเพื่อขอเงินสดแล้ว แต่มีให้แตะบัตร (ดูได้จากภาพใน album)
- แม้สถิติของปี 2021 ระบุว่าคนสหราชอาณาจักรกว่า 23 ล้านคน (34%) แทบไม่ใช้เงินสดเลย แต่ทุกฝ่ายยังคงกังวลถึงผลกระทบต่อคนที่เข้าไม่ถึงช่องทางการจ่ายเงินออนไลน์ หากช่องทางการใช้เงินสดหายไปหมด
.
3. พื้นที่สีเขียว + อากาศบริสุทธิ์ = วิธีผ่อนคลายจากความเครียดที่ดี
- ผมอาจจะโชคดีด้วยที่พักอยู่ใกล้ๆสวนสาธารณะขนาดใหญ่ แต่สังเกตได้ว่าแทบทุกย่านพักอาศัยมักจะมีพื้นที่สีเขียวที่เดินถึงได้ (แม้บางแห่งอาจเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่มาก)
- เจออะไรเครียดๆ แวบไปพักเดินเล่นสัก 15 นาที ก็พร้อมกลับมาลุยงานต่อได้
.
4. สิทธิในการประท้วงหยุดงาน
- ช่วงที่ผมไปตรงกับช่วงที่มีคนประท้วงหยุดงานหลายแสนคน (ครู อาจารย์ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่รัฐ) สาเหตุเพราะค่าแรงที่ขึ้นน้อย เมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเกือบ 10% ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
- แม้ผลสำรวจของสำนักโพล Ipsos สะท้อนว่าสาธารณะมีมุมมองต่อเหตุการณ์ที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่สิทธิในการประท้วงหยุดงานเป็นสิ่งที่สังคมอังกฤษยอมรับ ในฐานะกลไกที่สำคัญของสหภาพแรงงานในการเจรจา-ต่อรองเพื่อสิทธิและความเป็นอยู่ของแรงงาน
.
5. การเมืองผันผวน / 3 นายกฯใน 1 ปี
- ตอนผมถามคนอังกฤษที่พบเจอว่าคิดยังไงกับการบริหารประเทศของนายกฯปัจจุบัน (ริชิ ซูนัค) คำตอบติดตลกที่คนนึงให้กลับมาคือ “นายกฯเปลี่ยนบ่อย จนจำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นนายกฯตอนนี้”
- ปีที่แล้วเป็นปีที่การเมืองสหราชอาณาจักรมีความผันผวนและมีนายกฯถึง 3 คน สืบเนื่องมาจากทั้งประเด็นทางธรรมาภิบาลและความผิดพลาดในการบริหารประเทศของ บอริส จอห์นสัน และ ลิซ ทรัสส์
- การที่ทั้งสองคนต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการเมืองที่สร้างบรรทัดฐานให้ผู้นำจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง เมื่อขาดความไว้วางใจจากสังคมในภาพรวม
.
6. เลือกตั้งใหญ่ที่สหราชอาณาจักร 2025
- เมื่อผมถาม ส.ส. อังกฤษ คนหนึ่งที่ไปเจอมา ว่าประเด็นอะไรที่จะสำคัญสำหรับการเลือกตั้งครั้งถัดไป คำตอบที่ได้คือ “Economy - Immigration - NHS” หรือ “เศรษฐกิจ-การเข้าเมือง-ระบบสาธารณสุข”
- เรื่องเศรษฐกิจกับเรื่องสาธารณสุขคงมีลักษณะของปัญหาที่ไม่ต่างจากเรามาก (แม้ขนาดของปัญหาอาจต่าง) แต่เรื่องการเข้าเมือง เป็นประเด็นที่แบ่งสังคมอังกฤษมาตลอดช่วงที่ผ่านมา และส่งผลต่อประชามติ Brexit ที่คนสหราชอาณาจักรเกินครึ่งโหวตสนับสนุนการถอนตัวจากสหภาพยุโรป
- น่าสนใจว่าประเด็นอะไรจะเป็นประเด็นชี้ขาดสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ที่ไทยในปี 2023
.
7. สิทธิเลือกตั้งของนักศึกษาไทยในอังกฤษ
- นักศึกษาไทยหลายคนที่ได้คุยกันนอกรอบเห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้งที่จะมาถึง และบอกว่าจะใช้สิทธิแน่นอน แม้ต้องเดินทางเข้ามา (หลายคนจะได้ใช้สิทธิครั้งแรก)
- บางคนที่ติดตามการเมืองใกล้ชิด ก็ถามด้วยความกังวลว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยปี 62 ไหมที่บัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ไม่ถูกนับรวมผล
- เป็นเรื่องน่าบังเอิญว่าหลังคุยกัน 1 วัน ก็มีข่าวเกี่ยวกับ มติ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง อดีตรองเลขาธิการ กกต. เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว
.
.
ขอบคุณสามัคคีสมาคมที่ให้เกียรติเชิญไปพูด
ขอบคุณนักศีกษาจากหลายเมืองที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง
ขอบคุณเพื่อนร่วมเดินทาง และมิตรสหายที่อังกฤษที่สละเวลามาเจอกัน