วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 23, 2566

“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ในรั้วโรงเรียนที่ให้อิสระทาง “ตัวตน” แก่ทุกเพศสภาพ “โรงเรียนควรที่จะให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียนเท่ากัน”


ศุภสิน อุทัยสาง (ขวา) และ ภานุศร พูลสวัสดิ์ (ซ้าย) นักเรียนมัธยมปลาย รร.มัธยมวัดธาตุทอง

“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ในรั้วโรงเรียนที่ให้อิสระทาง “ตัวตน” แก่ทุกเพศสภาพ

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
22 กุมภาพันธ์ 2023

เสียงเพลงชาติดังกังวานทั่วลานกว้างหน้าอาคารเรียน เด็กนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลาย ยืนต่อแถวเรียงรายเป็นระเบียบในชุดขาว กางเกง-กระโปรง สีกรมท่า บ้างใส่ชุดพละสีเหลือง กางเกงวอร์ม

แม้เครื่องแต่งกายจะเหมือนกัน แต่หากสังเกตให้ดี ทรงผมของนักเรียนแต่ละคนล้วนแตกต่าง ทั้งสั้นอย่างมีสไตล์ หรือยาวสลวย เหมือนเพิ่งออกมาจากร้านทำผม

นี่คือโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ใกล้รถไฟฟ้าสถานีเอกมัย ที่สังคมออนไลน์กำลังให้ความสนใจ หลังออกประกาศ “ระเบียบทรงผม” ที่ให้อิสระจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ รวมถึงไว้ทรงผมตามเพศสภาพของตนเอง จึงไม่แปลกใจนัก ที่เห็นเด็กในชุดนักเรียนหญิงไว้ผมสั้น หรือเด็กในชุดนักเรียนชายไว้ผมยาวเกือบถึงกลางหลัง

“โรงเรียนเราตัวแม่อยู่แล้ว” ลิปออย หรือ ศุภสิน อุทัยสาง นักเรียนชั้น ม.4 บอกกับบีบีซีไทย แม้เธอจะอยู่ในชุดนักเรียนชาย แต่ผมเธอยาวเกือบถึงบ่า

สำหรับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่าง ลิปออย ไม่เพียงแค่อิสระเรื่องทรงผม แต่โรงเรียนวัดในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการแห่งนี้ยังเปิดกว้างและยอมรับในความเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศของเธอ ทั้งตัวอาจารย์และเพื่อน ๆ

“ด้วยความที่โรงเรียนเข้าใจนักเรียนเพศที่สามมากอยู่แล้ว อาจารย์จะคอยให้คำปรึกษา... ถ้ามันฉูดฉาดเกินไป เขาก็ห้ามค่ะ เน้นให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด”

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการได้ลงนามว่าด้วย การยกเลิกระเบียบการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 โดยระบุว่านักเรียน “จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้” ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ คณาจารย์ของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ทางโรงเรียนผ่อนปรนเรื่องการไว้ทรงผมสั้นยาว การไว้ทรงผมตามเพศสภาพ และการอนุญาตให้นักเรียนแต่งหน้าได้มาตั้งแต่ปี 2563 แล้ว

และอีกก้าวสำคัญของทางโรงเรียน คือการอนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพได้ หากผู้ปกครองอนุญาต


โรงเรียนวัดแห่งนี้อนุญาตให้ไว้ผมยาวได้อิสระ เพียงแต่ไม่ย้อมสีผม และตัดผมเป็นลวดลาย

“จะใส่ชุดนักเรียนหญิง ไว้ผมยาวเลย จัดเต็ม” ลิปออย ประกาศถึงเครื่องแต่งกายที่จะสวมใส่เมื่อขึ้น ม.5 “มันคือช่วงสุดท้ายของชีวิต ม.ปลายแล้ว อยากทำให้เต็มที่ที่สุด”

บีบีซีไทยสังเกตการณ์และพูดคุยกับเหล่านักเรียน และอาจารย์ของโรงเรียนรัฐหัวก้าวหน้า ที่มอบเสรีภาพการเป็นตัวของตัวเองให้นักเรียน แทนการจับกรรไกร “กล้อนผม” ประจาน ด้วยความเชื่อว่า ระเบียบที่กดทับเด็ก คือการลิดรอน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

ประทินโฉมก่อนเข้าเรียน

หลังผ่านการสวดมนต์ยามเช้าหน้าเสาธง และข่าวประชาสัมพันธ์จากทางโรงเรียน, เหล่านักเรียนทยอยเดินขึ้นชั้นเรียน หรือไม่ก็ไปรวมกลุ่มกับอาจารย์ประจำชั้น

นักเรียนหญิงกลุ่มหนึ่งที่คาบเช้ายังไม่เริ่ม ไปรวมกลุ่มกันบนม้านั่งหิน ควักกระเป๋าบรรจุเครื่องสำอาง แล้วเริ่มแต่งหน้าอย่างตั้งอกตั้งใจ อาจารย์ที่อยู่ใกล้เคียงพลางมองอย่างเอ็นดู

“โรงเรียนอื่นคิดว่าคงไม่น่าจะทำ (แต่งหน้า) ได้ แต่ถ้าได้ก็ไม่ขนาดนี้” เอิร์น เด็กหญิงที่อายุย่างเข้า 18 ปีในวันนี้ บอกกับบีบีซีไทย ที่ไปขอนั่งพูดคุยระหว่างเธอและเพื่อน ๆ กำลังขะมักเขม้นแต่งหน้า

เอิร์น อธิบายว่า เริ่มแต่งหน้าจากบ้าน หรือแต่งหน้าที่โรงเรียน ก่อนเข้าเรียนมาหลายปีแล้ว โดยอาจารย์อนุญาต หากเป็นการแต่งหน้าให้ “สวย” อย่างพองาม “ไม่ได้จัดเต็ม”


“โรงเรียนอื่นคิดว่าคงไม่น่าจะทำ (แต่งหน้า) ได้ แต่ถ้าได้ก็ไม่ขนาดนี้” เอิร์น

“บางครั้งอาจารย์เห็นเรานั่งแต่งหน้า เขาก็มาช่วยเราเขียนคิ้ว ชมว่าเราน่ารักดี” เอิร์น ยิ้ม พร้อมระบุว่า การได้สวยในแบบตัวเอง แต่งหน้าได้ระดับหนึ่ง ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ฟาติน-เพ็ญพิชชา ไทยเจริญ เพื่อนของเอิร์น พูดต่อขึ้นมาว่า “ผู้หญิงก็ชอบในความสวยอยู่แล้ว ก็มีความมั่นใจ กล้ามากขึ้นถ้าหน้าตาเราเป๊ะ”

ประเด็นนี้ บีบีซีไทยเข้าไปสอบถามอาจารย์สอนภาษาไทย อายุ 37 ปี อย่าง รสริน กล้าหาญ ถึงเรื่องการอนุญาตให้นักเรียนแต่งหน้า รวมถึงการไว้ทรงผมได้อย่างเสรี เธอยิ้มกว้าง ก่อนตอบว่า “รู้สึกว่าเขาน่ารักดี เขาเป็นตัวของตัวเอง... ถ้ามันเกินเลยไป เราก็แค่บอกเขาว่า แบบนี้น่ารักกว่าไหม”

อาจารย์ภาษาไทยที่ไฮไลท์สีผม และสวมชุดเดรสดำแบบแฟชัน อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลง และการ “กล้าทำ” ของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองว่า เริ่มเห็นชัดขึ้นในช่วงโควิดระบาด และนักเรียนต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้าน พวกเขาจึงไว้ผมยาว และใส่ใจกับความสวยความงามของตนมากขึ้น

เมื่อโควิดเริ่มคลี่คลาย ทางโรงเรียนให้นักเรียนกลับมาเรียนทางกายภาพ นักเรียนจำนวนมากเดินทางมาโรงเรียนในทรงผมที่พวกเขาไว้ในช่วงเรียนออนไลน์ ซึ่งเมื่อเหล่าอาจารย์ รวมถึง รสริน ได้เห็นก็มองว่า “เขาก็ไม่ได้แย่ ทรงผมก็ไม่ได้แย่ แล้วเราจะไปตัดผมเขาทำไม”

รสริน มองว่า การต้องระเบียบจัด คอยลงโทษนักเรียนด้วยการตัดผม หรือ กล้อนผม (การโกนผมหรือตัดผมจนสั้นติดหนังศีรษะ) เป็น “ภาระของอาจารย์” มากกว่า ทั้งที่ควรใช้เวลา จัดการเรียนการสอนให้น่าสนใจ และทำให้เด็กอยากมาโรงเรียนและเข้าเรียนในวิชาของตน

“สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องสอนเขาให้เกียรติตัวเองก่อน เขาสวยได้ ไว้ผมแต่งหน้าได้ เขาต้องให้เกียรติตัวเองโดยให้เขารู้ว่าเป็นนักเรียน ต้องเรียนหนังสือ วิชาการก็สำคัญ” เธอกล่าว


"ทำให้เขามาโรงเรียนอย่างภาคภูมิใจได้ ไม่ต้องกลัวเรา” รสริน กล่าว

“แทนที่จะผลักเขาออกไปด้วยการตัดผม หรือกล้อนผม... สิ่งนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้เขามาโรงเรียนอย่างภาคภูมิใจได้ ไม่ต้องกลัวเรา”

เมื่ออาจารย์ส่วนใหญ่ เห็นพ้องกันเช่นนี้ จึงประชุมร่วมกับตัวแทนผู้ปกครอง นักเรียน และผู้บริหารโรงเรียน ตัดสินใจผ่อนปรนการไว้ทรงผมได้อย่างมีอิสระมากขึ้น อย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน เนื่องจากในเวลานั้น กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วย “ระเบียบทรงผม”

ความหลากหลายทางเพศในรั้วโรงเรียน

ณ โรงยิมบนชั้น 4 เหนืออาคารโรงอาหาร นักเรียนในชุดพละ กำลังแข่งวอลเลย์บอล โดยมีอาจารย์เป็นกรรมการ

เสียง “กรี๊ด” ดังขึ้นเป็นครั้งคราว หลังลูกวอลเลย์พุ่งเข้าหา เสียงนั้นมาจากนักเรียนผมยาวสลวย ในชุดนักเรียนชาย แต่สำหรับนักเรียนคนอื่น ๆ ยิ้มเป็นเรื่องปกติ

ภาพลักษณะนี้ การปฏิสัมพันธ์อย่างน่ารัก และ “เข้าใจ” ในเพศสภาพ เป็นสิ่งที่ทีมข่าวบีบีซีไทยเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะในชั้นเรียนไหน ตลอดช่วง 1 วันที่ขออนุญาตทางโรงเรียนเข้าสังเกตการณ์

สำหรับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ การไว้ผมยาว การได้แต่งหน้า และอนาคตที่จะได้สวมเครื่องแต่งกายตามเพศสภาพ เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะเป็นตัวตนของพวกเขานอกรั้วโรงเรียนอยู่แล้ว


การแข่งขันวอลเลย์บอลเป็นไปอย่างสนุกสนาน และเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ


ผมยาว จัดทรงได้ตามความชอบของนักเรียน

“โรงเรียนควรที่จะให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียนเท่ากัน” ณุ หรือ ภานุศร พูลสวัสดิ์ นักเรียนชั้น ม.4 บอกกับบีบีซีไทย โดยมีกลุ่มเพื่อน ๆ นั่งมองให้กำลังใจอยู่ไม่ห่าง ระหว่างการสัมภาษณ์

สิ่งที่พวกเธอทำได้เหล่านี้ ทำให้ “หนูมีความกล้ามากขึ้น กล้าแสดงออก... เมื่อโรงเรียนเปิดพื้นที่ให้หนูแต่งหน้าทำผม หนูสามารถแสดงออกทางความคิด ทางความรู้สึก ทางคำพูด และกิริยาได้อย่างเต็มที่”

และเช่นเดียวกับ ลิปออย, ณุ ปรึกษาพ่อแม่แล้วว่า ตั้งแต่ชั้น ม.5 เป็นต้นไป เธอจะ “แต่งชุดนักเรียนผู้หญิง”

ความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองในรั้วโรงเรียน สำหรับ ลิปออย แล้ว มีความหมายมากกว่าชีวิตในโรงเรียน แต่รวมไปถึงการเปิดใจยอมรับความเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศของเธอที่บ้านด้วย

จากเดิมที่ “คุณแม่พยายามคะยั้นคะยอให้เราไปตัดผม คุณลุงก็มีเชื้อสายจีน เลยจริงจังเรื่องนี้” ปัจจุบัน “ทางบ้านซึมซับความเป็นตัวของเรามากขึ้น... คุณพ่อและคุณลุงเปิดรับตัวเรามากขึ้น”

การแต่งกายตามเพศวิถีของนักเรียน ไม่ได้อยู่ในประกาศของทางโรงเรียน หลังมีการยกเลิกกฎกระทรวงเรื่อง “ระเบียบทรงผม” แต่ ดร.วรพงษ์ เถาว์ชาลี รองผู้อำนวยการโรงเรียน ยืนกรานกับบีบีซีไทยว่า สามารถทำได้ เริ่มตั้งแต่นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 แต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการของทางโรงเรียน

นั่นคือ “คณะกรรมการของโรงเรียนจะสอบถามนักเรียนว่า อยากแต่งกายแบบที่ต้องการจริงหรือเปล่า และจะคุยกับผู้ปกครองว่า จะมีค่าใช้จ่ายแบบนี้ ถ้าผู้ปกครองตกลง คณะกรรมการจะคุยกับผู้บริหาร” เพื่ออนุมัติเป็นรายบุคคล


“เราเปรียบโรงเรียนของเราให้เป็นสนามเด็กเล่น" รอง ผอ. กล่าว

รอง ผอ. ที่เข้ามาประจำที่โรงเรียนแห่งนี้เมื่อ 2 ปีก่อน อธิบายถึงนโยบายของทางโรงเรียนว่า เป็นการให้เสรีภาพเพื่อ “ให้ทันยุคสมัย ทันการเปลี่ยนแปลง... ทำอย่างไร ให้นักเรียนมาโรงเรียนอย่างมีความสุข และสนุกกับการเรียน”

“เราเปรียบโรงเรียนของเราให้เป็นสนามเด็กเล่น ให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพออกมาได้มากที่สุด”

ดร.วรพงษ์ ไม่ยืนยันว่า โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองเป็นแห่งแรกที่ดำเนินนโยบายเช่นนี้ เพราะเขาเชื่อว่า โรงเรียนอีกหลายแห่งก็ทำเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์เป็นวงกว้าง

วางกรรไกร ใช้สองมือโอบกอด

รสริน อาจารย์ภาษาไทย ยอมรับว่า แม้จะไม่ได้เป็นคนจับกรรไกร ตัดผมนักเรียนตาม “ระเบียบทรงผม” เก่า แต่เธอเคยเป็นคนนำนักเรียน “ผมยาว” ไปส่งห้องปกครอง เพื่อลงโทษ

“หากย้อนกลับไปได้ ก็ขำตัวเองว่า ทำอะไรอยู่ แต่มันเป็นกฎที่ยาวนานมาก กว่าจะคิดว่ามันต้องเปลี่ยนได้แล้ว”

เมื่อทางโรงเรียนให้อิสระนักเรียนได้ไว้ทรงผม แต่งหน้า และแต่งกายตามเพศสภาพ รสริน อธิบายถึงมาตรการรับมือกับนักเรียนที่เปลี่ยนจาก “ลงโทษ” เป็น “พูดคุย”

“เวลามีอะไรเราต้องคุยกับเด็ก โดยที่ไม่ทำให้เขาอับอายขายหน้า เวลาถ้าเขาทำตัวไม่น่ารัก ก็เรียกมาคุยตามปกติ” เธอยังอธิบายว่า เด็กส่วนใหญ่ที่โรงเรียน มาจากพื้นฐานครอบครัวที่หลากหลาย อาจารย์จึงไม่ใช่แค่ครู แต่เป็น “ที่ปรึกษา” และ “พื้นที่ปลอดภัย” ของพวกเขา


“จากมือที่เราถือกรรไกร...เป็นมือที่ดึงเขากลับมา และโอบอุ้มเขา" รสริน

“จากมือที่เราถือกรรไกรไปกล้อนผมหรือตัดผมเขา เปลี่ยนมือของเรา เป็นมือที่ดึงเขากลับมา และโอบอุ้มเขา สอนเขา ให้เขาให้เกียรติตนเอง และให้เกียรติคนอื่น”

บีบีซีไทยถาม ลิปออย ว่า หากวันนี้ อยู่ที่โรงเรียนที่ไม่ได้ผ่อนปรนเหมือน รร.มัธยมวัดธาตุทอง เธอจะรู้สึกอย่างไร

“ถ้าเขาปิดกั้นเรา เราก็ไม่มีความกล้าแสดงออก ปิดกั้นตัวตน ทำให้เราไม่กล้าเข้าสังคม” ลิปออย ตอบอย่างฉะฉาน และหวังว่า การที่โรงเรียนกลายเป็นที่พูดถึง จะไม่ใช่แค่กระแสจากการประชาสัมพันธ์ที่ไวรัล แต่เป็นสารตั้งต้น ให้โรงเรียนแห่งอื่น ๆ เห็นเป็นตัวอย่างที่ดี และทำตามมากขึ้น

เพราะ “ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าเราเป็นแบบไหน อย่างหนูเลือกที่จะเป็นแบบนี้ ปลดปล่อยเต็มที่ พยายามดึงจุดเด่นของตัวเองออกมาให้มากที่สุด เพื่อให้คนในโรงเรียนรับรู้ว่า นี่ฉันเป็นแบบนี้นะ”


“ถ้าเขาปิดกั้นเรา เราก็ไม่มีความกล้าแสดงออก ปิดกั้นตัวตน" ลิปออย


“โรงเรียนควรที่จะให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียนเท่ากัน” ณุ

“เธอจะชอบฉันไม่ชอบฉัน ก็แล้วแต่”