วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 04, 2566

ส.ส. อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล เสนอ ให้มีศาลระบบลูกขุน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชนเข้ามีส่วนร่วมไต่สวนพิจารณาคดีสำคัญด้วย


Amarat Chokepamitkul
18h
"ระบบลูกขุนผสมผสานแบบศาลญี่ปุ่น"
ดิฉันตั้งใจจะเสนอแนะให้มีศาลระบบลูกขุน เปิดโอกาสให้สามัญชนเข้ามีส่วนร่วมไต่สวนพิจารณาคดีสำคัญด้วย
เสียดายที่เสียสมาธิไปมากจากการขัดจังหวะของประธานสภาหลายครั้ง ทำให้อภิปรายช่วงนี้ไม่ละเอียดและกระจ่างเท่าที่ควร
https://youtu.be/Imhc2OZRBOk
#ตะวันแบม
#ยกเลิก112
.....
ระบบศาล Saiban-In ประเทศญี่ปุ่น โดย อรรถพล ใหญ่สว่าง

29 เมษายน 2559
มติชนออนไลน์
โดย อรรถพล ใหญ่สว่าง

ผู้เขียนในฐานะที่เป็นผู้ทำงานอยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยตรงเป็นอาจารย์ผู้บรรยายกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพยานหลักฐาน และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดก็ได้มีโอกาสนำคณะผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุดไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนทัศนคติจากนักกฎหมายฝ่ายตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ ในระบบศาล Saiban-In ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2557 ตามคำเชิญของอัยการสูงสุดประเทศญี่ปุ่นและศาลกรุงโตเกียวโดยตรง

ผู้เขียนจึงใคร่ขอถ่ายทอดประสบการณ์และข้อพิจารณาของระบบศาล Saiban-In ประเทศญี่ปุ่นดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพ เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้และรับผิดชอบต่อความเจริญ และการพัฒนาประเทศและสังคมโดยรวม ให้เป็นที่ยอมรับนับถือของสากลตามลำดับต่อไป

1.แนวคิดระบบศาล Saiban-In ในการพิจารณาคดีอาญาประเทศญี่ปุ่น

สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาไดเอท (The Japanese Diet) ของประเทศญี่ปุ่นได้ตรากฎหมายที่ชื่อว่า “กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาโดยใช้ระบบลูกขุน” (The Lay Assessor Act 2004) ออกมาบังคับใช้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ.2004 ซึ่งนำเอาระบบลูกขุนผสมแบบทางประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และแบบทางยุโรป อาทิ ประเทศฝรั่งเศส มาประยุกต์ใช้ในการพิจารณาคดีอาญาในความผิดร้ายแรงทุกคดี อาทิ ความผิดที่มีโทษประหารชีวิต หรือความผิดที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือความผิดประเภทที่ผู้เสียหายได้ถึงแก่ความตาย อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนา เช่น ความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ฆ่าผู้อื่น ฆ่าชิงทรัพย์ และข่มขืนกระทำชำเรา จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในประเทศญี่ปุ่นได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีอาญาที่สำคัญ และเข้าไปตรวจสอบและถ่วงดุลหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อาทิ พนักงานอัยการ ศาล เฉกเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ สหรัฐ และประเทศในทางยุโรป อาทิ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งที่สำคัญในการสะท้อนให้เห็นถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ก่อนที่สภาไดเอทจะได้มีการออกกฎหมายฉบับนี้นั้น ก็ปรากฏว่าได้มีการรายงานข่าวสารความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการและผู้พิพากษาอย่างชัดเจน คือคดีอาญาของนายโตชิกาสุ ซูกายา จำเลย ซึ่งถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก

ในคดีที่นายโตชิกาสุ ซูกายา ถูกกล่าวหาว่า ได้ฆ่าเด็กหญิงคนหนึ่ง เป็นเหตุให้ต้องถูกจำคุกที่เมือง Ashikaga จังหวัด Tochigi เป็นเวลานานถึง 17 ปี ซึ่งข้อเท็จจริงในทางคดีอาญา ได้ปรากฏว่าพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนได้บังคับให้นายโตชิกาสุ ซูกายา รับสารภาพทั้งๆ ที่มิได้กระทำความผิด จนต่อมาภายหลังจากที่นายโตชิกาสุ ซูกายา ได้รับอิสรภาพ หลังจากผลการตรวจดีเอ็นเออย่างละเอียดได้พบว่าไม่ใช่ดีเอ็นเอของนายโตชิกาสุ ซูกายา ที่พบที่ศพของเด็กสาวผู้เสียชีวิตนั้น เป็นเหตุให้กว่านายโตชิกาสุ ซูกายา ได้รับการปล่อยตัวออกจากการติดคุกโดยไม่มีความผิดนั้น ก็เมื่อเขาอายุได้กว่า 62 ปีแล้ว

นอกจากนี้ สภาไดเอทในประเทศญี่ปุ่นได้มีแนวคิดที่จะนำมาตรการตรวจสอบการทำงานของพนักงานอัยการและผู้พิพากษามาใช้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การสร้างคณะกรรมการทบทวนดุลพินิจของพนักงานอัยการ กล่าวคือ หากประชาชนผู้เสียหายไม่พอใจคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการญี่ปุ่น ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งไปยังคณะกรรมการตรวจสอบคำสั่งของพนักงานอัยการ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในทุกๆ สำนักงานอัยการจังหวัดได้ โดยคณะกรรมการดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งสภาไดเอทในเขตนั้น ที่จะถูกสุ่มคัดเลือกมาจำนวน 11 คน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาบันทึกคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการญี่ปุ่นว่า คำสั่งไม่ฟ้องนั้นมีเหตุผลตามพยานหลักฐานและมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร

หากเห็นว่า คำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง (ซึ่งต้องการคะแนนเสียงจำนวน 8 เสียง ใน 11 เสียง) คณะกรรมการทบทวนดุลพินิจของพนักงานอัยการ ก็จะเสนอความเห็นกลับไปยังสำนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาสั่งคดีนี้ใหม่อีกครั้ง โดยตรวจสอบพยานหลักฐานหรือเปิดการสอบสวนคดีอาญาขึ้นใหม่ หากพนักงานอัยการญี่ปุ่นยังคงยืนยันคำสั่งไม่ฟ้องตามเดิม คณะกรรมการก็มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองได้ โดยจะตั้งทนายความขึ้นมาดำเนินคดีอาญาในชั้นศาลเอง เป็นต้น

จึงกล่าวได้ว่า การที่สภาไดเอทได้ตัดสินใจในการนำระบบคณะลูกขุนมาใช้ ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในประเทศญี่ปุ่นได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีอาญาที่สำคัญและเป็นหนทางที่สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของพนักงานอัยการและผู้พิพากษาญี่ปุ่นได้อย่างแท้จริง

อนึ่ง โดยความหมายของ “ลูกขุน” ที่สภาไดเอทต้องการนั้น หมายถึง บุคคลซึ่งมีสัญชาติและมีภูมิลำเนาญี่ปุ่นทั่วไป ที่ไม่ใช่ผู้รู้กฎหมาย ไม่ใช่ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย หรือนักการเมือง และจะต้องไม่เป็นผู้ที่ต้องโทษจำคุกอยู่ แต่ต้องเป็นประชาชนญี่ปุ่นทั่วไปที่มีอายุ 25 ปีบริบูรณ์ จบการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความคิดเป็นปกติแบบคนทั่วไป

ที่สำคัญต้องมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาไดเอท ซึ่งตนเองอาจได้รับการสุ่มคัดเลือกเพื่อเข้ามาเป็นคณะลูกขุนในการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคดีอาญาเป็นรายคดีไป โดยคณะลูกขุนจะต้องร่วมกับผู้พิพากษาอาชีพ สำหรับการเป็นผู้พิจารณาทั้งในประเด็นข้อเท็จจริง ที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอาญาหรือไม่ อย่างไร โดยใช้สามัญสำนึกในการพิจารณา

ทั้งนี้ เนื่องจากการพิจารณาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดอาญาหรือไม่นั้น เป็นเรื่องสามัญสำนึกของคนทั่วไปที่สามารถตรึกตรองได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญกฎหมายแบบนักกฎหมายเลย แต่อย่างใด และหากคณะลูกขุนเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด ก็จะร่วมกับองค์คณะผู้พิพากษาในการพิพากษาและกำหนดโทษที่จะลงโทษแก่จำเลยต่อไป

จึงอาจกล่าวได้ว่า ในทางสากลนั้น ปัจจุบันการพิจารณาคดีโดยใช้คณะลูกขุนนั้นจะไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะประเทศในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ อาทิ ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เท่านั้น แม้แต่ประเทศในระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ดังเช่นประเทศญี่ปุ่นก็ได้นำแนวคิดของการใช้คณะลูกขุนในระบบคอมมอนลอว์มาประยุกต์ใช้สำหรับการพิจารณาคดีความผิดร้ายแรงเช่นเดียวกัน

2.ลูกขุนในระบบศาล Saiban-In ประเทศญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่นนั้นได้กำหนดองค์คณะของศาล Saiban-In สำหรับการพิจารณาคดีความผิดร้ายแรงไว้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบเต็มองค์คณะ ซึ่งจะประกอบด้วยคณะผู้พิพากษาอาชีพจำนวน 3 คน และกำหนดจำนวนคณะลูกขุนไว้จำนวน 6 คน รวมเป็นองค์คณะของศาล Saiban-In ทั้งหมดจำนวน 9 คน โดยรูปแบบองค์คณะแบบเต็มคณะนี้ จะเป็นรูปแบบหลักของการพิจารณาที่ต้องใช้ศาล Saiban-In ในกรณีที่จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องร้องคดีอาญาต่อศาลเสมอ

แต่ในทางกลับกัน ในกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพและไม่ประสงค์ที่จะต่อสู้คดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องร้องคดีอาญาต่อศาล เช่นนี้จะเป็นรูปแบบของศาล Saiban-In ไม่เต็มองค์คณะ ซึ่งจะประกอบด้วยผู้พิพากษาอาชีพ จำนวนเพียง 1 คน และกำหนดจำนวนคณะลูกขุนไว้เพียงจำนวน 4 คน รวมเป็นองค์คณะของศาล Saiban-In ทั้งหมด 5 คนเท่านั้น โดยในการคัดเลือกคณะลูกขุนในแต่ละการพิจารณาคดีอาญาร้ายแรงแบบเต็มองค์คณะดังกล่าวนั้น ศาลจะใช้ส่งหมายเรียกของศาล โดยวิธีสุ่มจากผู้มีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งสภาไดเอท ตามแต่ละเขตพื้นที่ จำนวน 45 คนให้มารอรับการคัดเลือกที่ศาลซึ่งจะมีการพิจารณาคดีในตอนเช้า แล้วสุ่มคัดเลือกคณะลูกขุนให้เหลือจำนวนเพียง 6 คน และสุ่มคัดเลือกคณะลูกขุนสำรองไว้กรณีฉุกเฉินอีก 2 คน ตามลำดับ

แต่หากบุคคลใดปฏิเสธหรือไม่มารอรับการคัดเลือก โดยไม่มีเหตุผลที่จะกล่าวอ้างได้ จะต้องถูกศาลออกหมายเรียกมาดำเนินคดีอาญาและมีโทษปรับอย่างต่ำ 500,000 เยน ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี คุณสมบัติประการสำคัญที่คณะลูกขุนในประเทศญี่ปุ่นต้องมีในการปฏิบัติหน้าที่คือ การเก็บรักษาความลับในกระบวนพิจารณา การพิจารณาพิพากษา และคำตัดสิน และการปราศจากอคติในการพิจารณาคดีโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ในระบบการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนญี่ปุ่นจึงได้มีการสร้างกลไกที่เรียกว่า “Voir Dire” (เป็นคำภาษาฝรั่งเศส หมายความว่า “พูดความจริง” ขึ้นมา เพื่อพิจารณาความปราศจากอคติของคณะลูกขุนญี่ปุ่นก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่ อาทิ ลูกขุนมีอคติ รู้จักคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทนายความ หรือพยานหรือไม่ หรือแม้กระทั่งการที่ลูกขุนไม่สามารถตอบคำถามหรือตอบคำถามผิดพลาด ไม่สาบานตน

หากทราบว่า ลูกขุนคนใดมีลักษณะดังกล่าวก็จะถูกกันไม่ให้มาทำหน้าที่ลูกขุน ทั้งนี้ โดยการให้ผู้พิพากษา พนักงานอัยการ ทนายความจำเลย และผู้มีส่วนได้เสียในคดีอาญาทั้งหมดได้เข้าตรวจสอบทัศนคติเบื้องต้นของผู้ที่จะทำหน้าที่ลูกขุนนั้นว่า จะมีคุณสมบัติและความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ลูกขุนหรือไม่ เพียงใด รวมทั้งการร้องขอต่อศาลให้ปฏิเสธหรือถอดถอนผู้ที่ทำหน้าที่ลูกขุนได้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า การคัดเลือกคณะลูกขุนเพื่อพิจารณาและพิพากษาคดีอาญานั้น ได้กระทำอย่างเป็นธรรมและปราศจากอคติอย่างแท้จริง

3.การพิจารณาและพิพากษาคดีอาญาในระบบศาล Saiban-In ประเทศญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่น ศาล Saiban-In จะใช้ระบบการพิจารณาคดีและการสู้ความแบบระบบกล่าวหา โดยการทำหน้าที่ขององค์คณะผู้พิพากษาหรือศาลที่นั่งพิจารณาจะทำหน้าที่เป็นคนกลางอย่างแท้จริง กล่าวคือ เมื่อศาลถามพยานแต่ละปากว่า เป็นใคร อยู่ที่ไหน เกี่ยวข้องกับคดีอาญาในฐานะใด และจะเบิกความในสาระสำคัญอย่างใดแล้ว ศาลจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการและทนายจำเลยในการซักถามพยาน ถามค้าน หรือถามติงแล้วแต่กรณี เพื่อค้นหาความจริงและรักษาประโยชน์ในทางรูปคดีภายใต้พยานหลักฐานของฝ่ายตนเองเหมือนกับในระบบศาลไทย โดยศาลอาจถามแทรกเข้ามาบ้างในระหว่างการสืบพยาน เพียงเพื่อให้ข้อเท็จจริงในทางคดีมีความกระจ่างและชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น

แต่ในทางตรงกันข้าม คณะลูกขุนญี่ปุ่นทุกคนมีสิทธิตั้งคำถามหรือถามพยาน ผู้เสียหาย และจำเลยเองได้โดยตรง เพื่อให้การวินิจฉัยคดีของตนเองเป็นไปอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในปัจจุบัน “กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาโดยใช้ระบบลูกขุนของญี่ปุ่น” ได้กำหนดไว้โดยชัดเจนว่า เมื่อคดีอาญาเสร็จสิ้นการพิจารณาและสืบพยานแล้ว รวมทั้งองค์คณะศาล Saiban-In ประสงค์ที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น จำเป็นที่คำวินิจฉัยขององค์คณะศาล Saiban-In ดังกล่าวจะต้องมีการลงมติโดยเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งต้องคำนวณจากเสียงของคณะผู้พิพากษาจำนวน 3 คน และเสียงของคณะลูกขุน Saiban-In จำนวน 6 คน ซึ่งมีเสียงทั้งสิ้นรวมจำนวน 9 เสียง ดังนั้น เสียงส่วนใหญ่ในจำนวน 9 เสียงนี้ก็คือ จำนวน 5 เสียง โดยในเสียงส่วนใหญ่จำนวน 5 เสียงนี้ก็จะต้องมีคะแนนเสียงของผู้พิพากษาอาชีพอย่างน้อยหนึ่งเสียง ที่เห็นชอบด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวด้วย คำพิพากษาขององค์คณะศาล Saiban-In จึงจะมีผลตามกฎหมายและสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปได้

อย่างไรก็ดี เมื่อศาล Saiban-In พิพากษาคดีแล้ว พนักงานอัยการญี่ปุ่นสามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้ ทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง ทำให้พนักงานอัยการญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะกลับคำพิพากษาของศาล Saiban-In ได้ ศาลอุทธรณ์ญี่ปุ่นซึ่งมีแต่เพียงผู้พิพากษาอาชีพจำนวน 3 คนเป็นองค์คณะ จึงสามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาและพิพากษายกหรือกลับคำพิพากษาของศาล Saiban-In ซึ่งมีคณะลูกขุนร่วมเป็นองค์คณะได้ตลอดเวลา

ในส่วนนี้ จึงมีนักวิชาการทางกฎหมายหลายท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ระบบศาล Saiban-In ของญี่ปุ่นได้กำหนดให้คะแนนเสียงหนึ่งของผู้พิพากษาอาชีพ เป็นเงื่อนไขสำคัญของการพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญา ซึ่งหากไม่มีคะแนนเสียงหนึ่งเสียงของผู้พิพากษาอาชีพแล้ว คำพิพากษาลงโทษแก่จำเลยนั้นก็ไม่อาจกระทำได้นั้น

แสดงให้เห็นว่า ประเทศญี่ปุ่นยังคงรักษาความสำคัญและบทบาทของผู้พิพากษาอาชีพไว้ เหนือกว่าคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของลูกขุนอยู่นั่นเอง

4.บทบาทของพนักงานอัยการญี่ปุ่นกับการใช้ศาล Saiban-In ประเทศญี่ปุ่น

บทบาทของพนักงานอัยการญี่ปุ่นได้ปรากฏชัดอยู่ในมาตรา 4 แห่งกฎหมายสำนักงานอัยการสูงสุดประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้บัญญัติว่า “ในคดีอาญา พนักงานอัยการต้องดำเนินการฟ้องร้องคดี ร้องขอให้ศาลปรับใช้กฎหมายให้ถูกต้อง และกำกับดูแลการบังคับตามคำพิพากษาในคดีอื่นๆ กรณีที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับหน้าที่ราชการ พนักงานอัยการอาจร้องขอข้อมูลหรือแสดงความเห็นต่อศาล และปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยเป็นตัวแทนของประโยชน์สาธารณะ”

และมาตรา 6 วรรคแรก ได้บัญญัติว่า “พนักงานอัยการอาจสอบสวนคดีอาญาใดก็ได้” ซึ่งในฐานะตัวแทนประโยชน์สาธารณะของประเทศญี่ปุ่นนั้น พนักงานอัยการญี่ปุ่นจะมีปรัชญาในการทำหน้าที่ทนายความแผ่นดินประเทศญี่ปุ่นว่า “ต้องทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและต้องทำหน้าที่ในการขอให้ศาลลงโทษจำเลยอย่างถูกต้องเป็นธรรม โดยจะต้องไม่มีผู้บริสุทธิ์คนใดถูกลงโทษ และกระบวนพิจารณาต้องเป็นไปโดยถูกต้อง” เนื่องมาจากพนักงานอัยการญี่ปุ่นเป็นตัวแทนประโยชน์สาธารณะ สาธารณชนให้ความเชื่อมั่นต่อพนักงานอัยการญี่ปุ่นมาก พนักงานอัยการญี่ปุ่นจึงต้องเข้าไปมีบทบาทในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีอำนาจเต็มที่ในการสอบสวนคดีอาญาทุกคดี มีอำนาจแต่ผู้เดียวในการสั่งคดีอาญา โดยมีดุลพินิจที่กว้างขวาง และมีอำนาจเป็นตัวแทนของรัฐในการดำเนินคดีอาญาในศาลแต่ผู้เดียว (ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาเองได้อย่างประเทศไทย) และมีอำนาจกำกับดูแลการบังคับตามคำพิพากษาให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ตามลำดับ

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการญี่ปุ่นคือ จะต้องมีพยานหลักฐานแน่นหนาที่เชื่อถือได้อย่างปราศจากข้อสงสัยว่า ศาลจะตัดสินให้จำเลยมีความผิด ดังนั้น หากพนักงานอัยการญี่ปุ่นไม่มั่นใจว่าศาลจะตัดสินให้จำเลยผิด เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ พนักงานอัยการญี่ปุ่นก็จะสั่งไม่ฟ้องทันที (พนักงานอัยการญี่ปุ่นใช้มาตรฐานเดียวกับศาลในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน) อย่างไรก็ดี ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เหตุผลสำคัญประการหนึ่งของการตั้งศาล Saiban-In ขึ้นมานั้นก็เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในการพิจารณาพิพากษาคดีร่วมกับศาลและเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนญี่ปุ่นเข้ามาถ่วงดุลการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการญี่ปุ่น ทั้งนี้ เนื่องจากความน่าเชื่อถือของศาลญี่ปุ่นต่อการฟ้องร้องและการดำเนินคดีอาญาในชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการญี่ปุ่นนั้นจะอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก

กล่าวคือ ก่อนหน้าปี ค.ศ.2009 ศาลญี่ปุ่นมักจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการญี่ปุ่น โดยอยู่ในอัตราสูงมากถึงร้อยละ 99 จนถึงกับมีคำกล่าวกันในนักวิชาการทางกฎหมายว่า ศาลญี่ปุ่นมีบทบาทเพียงรับรองความชอบธรรมในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการญี่ปุ่นเท่านั้น จนต่อมาได้เกิดความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการและผู้พิพากษาญี่ปุ่น คือคดีของนายโตชิกาสุ ซูกายา จำเลยซึ่งถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าได้ฆ่าเด็กหญิงคนหนึ่ง เป็นเหตุให้ต้องถูกจำคุกที่เมือง Ashikaga จังหวัด Tochigi เป็นเวลานานถึง 17 ปี

ซึ่งข้อเท็จจริงในทางคดีอาญา ปรากฏว่า พนักงานอัยการญี่ปุ่นได้บังคับให้รับสารภาพ ทั้งๆ ที่มิได้กระทำความผิด จนต่อมาได้รับอิสรภาพ หลังจากผลการตรวจดีเอ็นเออย่างละเอียดพบว่าไม่ใช่ดีเอ็นเอที่พบที่ศพของเด็กสาวผู้เสียชีวิตนั้น เป็นเหตุให้กว่าที่นายโตชิกาสุ ซูกายา จะได้รับการปล่อยตัวออกจากคุกนั้นก็เมื่อเขาอายุได้ 62 ปีแล้ว

ด้วยเหตุนี้ การที่สภาไดเอทได้สร้างระบบศาล Saiban-In ขึ้นมานั้น ด้วยมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า จะช่วยก่อให้เกิดเสียงสะท้อนของความโปร่งใส และก่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

หากพิจารณาในแง่มุมของการพัฒนาและการยกระดับของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย ผ่านจากการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อนำไปใช้กับประชาชนทั้งประเทศ โดยยึดตามกรอบที่กำหนดไว้ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 และภายใต้หลักการและแนวความคิดในส่วนที่ว่า ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับนับถือของสากล แต่ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหา ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประเทศและคนไทย ที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ และต้องการให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้ รวมทั้งต้องการให้มีการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้และรับผิดชอบต่อความเจริญและการพัฒนาประเทศและสังคมนั้น

ดังนั้น เมื่อมีการพิจารณาเปรียบเทียบภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของระบบศาล Saiban-In ประเทศญี่ปุ่น ในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะเห็นได้โดยชัดเจนว่า การที่สภาไดเอทญี่ปุ่นได้ตัดสินใจในการนำระบบลูกขุนมาใช้ ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในประเทศญี่ปุ่นได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีอาญาที่สำคัญ และเป็นหนทางที่สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของพนักงานอัยการและผู้พิพากษาได้อย่างแท้จริง เฉกเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ สหรัฐ และประเทศในทางยุโรป อาทิ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งที่สำคัญในการสะท้อนให้เห็นถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เช่นนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบจากประสบการณ์ แนวความคิด และข้อพิจารณาของระบบศาล Saiban-In ประเทศญี่ปุ่นดังกล่าวนั้น เห็นว่าเป็นมาตรฐาน แบบอย่าง และสะท้อนแนวความคิดที่ดีในกระบวนการยุติธรรมทางอาญารูปแบบหนึ่ง

ประเทศไทยน่าจะศึกษาและพิจารณาว่าควรนำมาปรับใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลไทยหรือไม่ ในการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพ เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้และรับผิดชอบต่อความเจริญ และการพัฒนาประเทศและสังคมโดยรวม ให้เป็นที่ยอมรับนับถือของสากลอย่างแท้จริงต่อไป