เสียงบ่นกังวลเรื่อง ‘ประกันสังคม’ เตรียมปรับเพดานขั้นสูงของอัตราเงินเดือนที่ต้องส่งสมทบ จากที่เคยส่งสูงสุด ๗๕๐ บาท ต่อไปจะไม่ใช่แล้ว กฏกระทรวงใหม่ ม.๓๓ ซึ่งต้องเข้าสู่ประชาพิจารณ์ เปลี่ยนเป็น ๑,๑๕๐ บาท
ขึ้นเกือบเท่าตัว ก็โวยกันสิ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่วัยทำงานต่างพากันตั้งแง่ รายนี้ @Eaaaw ว่า “หลายคนน่าจะรู้แล้วว่าถ้าเราจ่ายเกิน ๑๕ ปี เราจะได้เงินบำนาญไว้ใช้ตอนแก่เดือนละ ๗,๕๐๐ บาท ซึ่งถึงตอนนั้นกะเพราไก่ไข่ดาวก็คงจานละ ๒๓๐ บาทแล้ว”
เขาพาดพิงถึงเรื่อง ‘inflation’ เงินเฟ้อ ว่าของจะแพงขึ้นเรื่อยๆ หากต้องมาจ่ายประกันสังคมเพิ่มในตอนนี้ เมื่อเกษียณหลังจากจ่ายเงินประกันสังคมไปเกิน ๑๕ ปี จะได้รับสวัสดิการบำนาญไม่เพียงพอกับการครองชีพ “ไม่ได้จะขู่ให้กลัว
แต่ต้องการจะบอกว่าเราต้องมีแผนสองให้กับชีวิตไว้ด้วย...ถ้ามันไม่เป็นไปตามแผนขึ้นมาระวังจะพังทลายจนรับไม่ได้ มองหาทางเลือกอื่นๆไว้ให้ชีวิตบ้าง ใครที่มีเงินมีรายได้ก็พยายามเก็บออมวางแผนดีๆ” เห็นได้ชัดว่าเขาไม่ไว้ใจประกันสังคม
ต่างกับประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐ (ใช้ตัวอย่างนี้เพราะคุ้นกว่าประเทศในสแกนดิเนเวีย ทีประกันสังคมของเขาสุดยอด) ซึ่งประชาชนเชื่อมั่นในระบบ Social Security มากถึงขนาด เมื่อประธานาธิบดีเอาไปพูดในการปราศรัยต่อรัฐสภา ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเต้น
‘ไบเด็น’ เอ่ยถึงสมาชิกสภาฯ ของพรรครีพับลิกันรายหนึ่ง ซึ่งประกาศว่าจะดำเนินการยกเลิกระบบประกันสังคม หาว่าสิ้นเปลืองมากไป เหตุหนึ่งจากที่มีการปรับเพิ่มเงินจ่ายรายเดือนประกันสังคมเกือบทุกปี เพื่อให้ไล่ทันกระแสเงินเฟ้อ
พวกรีพับลิกันขวาสุดโต่งบางคน เช่น ส.ส.มาจอรี่ เทเลอร์ กรีน ถึงกับตะโกนสวนแทรกการปราศรัยว่าไบเด็นโกหก (แม้นแท้ที่จริงไบเด็นพูดถูกต้อง) แสดงว่ารีพับลิกันเองยังไม่กล้าแตะระบบประกันสังคม ทว่าของไทยไหงกลับถูกเพ่งเล็ง
น่าจะเพราะ “ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” จริงดัง @Eaaaw ว่า “ในอีก ๒๐ ปีจะมีคนที่มาช่วยจ่ายเงินสมทบประกันสังคม” จำนวนน้อยลงไปอีกเยอะ แต่จะมีคนที่เริ่มเกษียณเพิ่มขึ้น “เต็มบ้านเต็มเมืองนอนรอเงินจากประกันสังคมกันเพียบ”
บางคนแนะว่าเอาเงินที่จ่ายประกันสังคม ไปซื้อประกันชีวิตแทน “ดูจะคุ้มค่ากว่าด้วยค่ะ” @horizon_orizein มองว่าการจ่ายเข้าสมทบประกันสังคม “ส่วนใหญ่แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันเลย รู้สึกเหมือนเป็นภาระอย่างหนึ่ง”
นั่นคงเป็นเพราะ การจ่ายบำนาญประกันสังคมไทยไม่ได้ปรับเพิ่มตามภาวะเงินเฟ้อแบบสหรัฐ ปรับเฉพาะรายรับจากผู้จ่ายสมทบเข้ากองทุน ดูแล้วไม่ต่างจากการ ‘ขูดเลือดขูดเนื้อ’ ของภาครัฐ ต่อประชาชน
(https://law.go.th/listeningDetail?survey_id และ https://money.kapook.com/view265392.html)