วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 18, 2566

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ บรรยายความรู้สึกครั้งเข้าร่วมการพิจารณา #คดีสวรรคต ณ ศาลอาญา พ.ศ. 2491 โดยบอกเล่าสิ่งที่ตนสัมผัสได้ คือ ความสุขุม ความสงบ และความไม่หวั่นเกรงต่อภัยใดๆ เพราะทั้งสามนั้นเชื่อมั่นในความยุติธรรมและความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างแน่นหนัก



สัจจะเป็นอมตะ ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ประวัติศาสตร์ย่อมให้ความกระจ่างในที่สุด

17 กุมภาพันธ์ 2566
สถาบัน ปรีดี พนมยงค์
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ข้าพเจ้าจำได้ว่าพบ คุณชูเชื้อ สิงหเสนี ครั้งแรกในห้องพิจารณาคดี ศาลอาญา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ในการพิจารณาคคีสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่ง คุณชิต สิงหเสนี เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทม ในหลวงรัชกาลที่ ๘

คุณชิต สามีคุณชูเชื้อ ตกเป็นผู้ต้องหาปลงพระชนม์ร่วมกับ คุณเฉลียว ปทุมรส อดีตราชเลขานุการในพระองค์ฯ และ คุณบุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กท้องพระบรรทม

ข้าพเจ้านั่งแถวหน้าบัลลังก์พิจารณาคดี สังเกตเห็นผู้ต้องหาทั้งสามอยู่ในความสงบ สุขุม และไม่ประหวั่นพรั่นพรึง เพราะเชื่อในความบริสุทธิ์ของตน เชื่อในความยุติธรรมของศาล ทั้งๆ ที่อัยการฝ่ายโจทก์ สร้างหลักฐานเท็จ พยานเท็จ ใส่ร้ายกล่าวโทษ

การพิจารณาคดีสวรรคต ได้ยืดเยื้อมาอีกหลายปีในช่วงนั้น ข้าพเจ้าเองก็ถูกมรสุมการเมือง รุมกระหน่ำ ถูกจับกุมในคดี “กบฏสันติภาพ” ด้วยข้อกล่าวหา “กบฏภายใน และภายนอกราชอาณาจักร” เมื่อได้รับอิสรภาพหลังจากถูกคุมขัง เป็นเวลา ๘๔ วันแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อร่วมทุกข์ และเป็นกำลังใจให้นายปรีดี พนมยงค์ สามีข้าพเจ้า ซึ่งลี้ภัยการเมืองในประเทศจีน

นายปรีดี กับข้าพเจ้า ติดตามข่าวการพิจารณาคดีสวรรคตอยู่เสมอ นายปรีดีเชื่อในความบริสุทธิ์ของคุณเฉลียว คุณชิต และคุณบุศย์ เช่นเดียวกับเชื่อในความบริสุทธิ์ของตน ที่มิได้มีส่วนพัวพันในกรณีสวรรคต ส่งใจช่วย และภาวนาขอให้ผู้บริสุทธิ์ทั้งสามได้รับอิสรภาพโดยเร็ววัน

แต่แล้วเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗ ศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสามคน ซึ่งต่อมาในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ จำเลยทั้งสาม ได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ฎีกาได้ตกไปในที่สุด

นายปรีดีกับข้าพเจ้าตกใจยิ่งกับข่าวการประหารชีวิตของผู้บริสุทธิ์ทั้งสามในเช้ามืด วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ นายปรีดีกับข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก เห็นใจอย่างสุดซึ้ง ต่อครอบครัวเหยื่อความอยุติธรมทั้งสามที่ประสบความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง และขาดเสาหลักของครอบครัว คุณชูเชื้อ สิงหเสนี เป็นภรรยาที่เข้มแข็ง เป็นกำลังใจให้สามี ในขณะถูกจองจำเป็นเวลากว่า ๗ ปี เป็นมารดาที่ประเสริฐ แบกรับหน้าที่ เป็นทั้งพ่อ และแม่ในการดูแลลูกๆ ทั้ง ๖ คน

หลังจากที่ข้าพเจ้ากลับมาอยู่เมืองไทยเป็นการถาวรแล้ว ทุกวันขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าจะมีกระถางกล้วยไม้ ประดับข้างบันไดขึ้นบ้านเป็นของขวัญปีใหม่จากคุณชูเชื้อ นำความสดชื่นมาสู่ข้าพเจ้า และผู้พบเห็น

๒ - ๓ ปีมานี้ ข้าพเจ้าไม่ได้พบคุณชูเชื้อ ทราบว่าสุขภาพของเธอไม่ค่อยแข็งแรงนัก และแล้วคุณชูเชื้อก็ได้ลาจากโลกนี้ไป ตามกฎวัฏสังขาร ยังความเสียใจสู่ลูก หลาน และญาติมิตร

ขอให้กรรมดีนานาประการจงนำคุณชูเชื้อ สิงหเสนี ไปสู่สุคติในสัมปรายภพทุกเมื่อเทอญ

ข้าพเจ้าเชื่อกฎแห่งกรรมในพระพุทธศาสนา บรรดาผู้ที่สร้างหลักฐานเท็จ พยานเท็จในกรณีสวรรคต มาบัดนี้ ลูกหลานของเขาต้องรับกรรม และชดใช้กรรม รวมทั้งกรรมใหม่ที่ก่อขึ้นเอง ต่างกรรม ต่างวาระ ดังนั้น จึงเป็นที่สังวร แก่ทุกผู้ทุกคนว่า จงทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ทำความดี ผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม และความถูกต้อง

สัจจะเป็นอมตะ
ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
ประวัติศาสตร์ย่อมให้ความกระจ่างในที่สุด

(ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์)
๙ มกราคม ๒๕๔๙

ที่มา : พูนศุข พนมยงค์, ระลึกถึง คุณชูเชื้อ (วลี) สิงหเสนี, ใน, ชูเชื้อ สิงหเสนี, (ม.ป.ท. อาร์ต กราฟิค, 2549), หน้า 34-35.

หมายเหตุ : ตั้งชื่อบทความโดยกองบรรณาธิการ