วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 02, 2566
✊🏻ครบรอบ 2 ปี รัฐประหาร ชาวเมียนมาเชื่อปีนี้คือปีสุดท้ายของการต่อสู้
iLaw
14h
ครบรอบ 2 ปี รัฐประหาร ชาวเมียนมาเชื่อปีนี้คือปีสุดท้ายของการต่อสู้
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 น. ที่หน้าสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย กลุ่ม Bright Future นัดรวมตัวกันทำกิจกรรมครบรอบ 2 ปี รัฐประหารในประเทศเมียนมาที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย
การชุมนุมในวันนี้ ชาวพม่าในประเทศไทยมากกว่า 500 คน รวมตัวกันบริเวณฟุตบาทหน้าประตูสถานทูตเมียนมาและมีบางส่วนอยู่บนถนนสาทรหนึ่งเลน โดยระหว่างกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกรวยและแผงเหล็กมาตั้งป้องกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและรถยนต์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
ส่วนรูปแบบกิจกรรมผู้เข้าร่วมชุมนุมจะสลับกันขึ้นตะโกนวลีเป็นภาษาพม่าแล้วให้ผู้เข้าร่วมคนอื่นตะโกนตาม โดยวลีดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยจะมีความหมายว่า "การได้มาซึ่งประชาธิปไตย คือจุดประสงค์ของเรา ความพินาศของเผด็จการคือจุดประสงค์ของเรา" ต่อมามีการสลับกันขึ้นต่อปราศรัย การแสดงโชว์ทหารเมียนมาทำร้ายผู้ชุมนุม และสุดท้ายคือการอ่านแถลงการณ์ในภาษาเมียนมาและภาษาไทย โดยกิจกรรมยุติในเวลา 14.00 น.
สุรัช แกนนำกลุ่ม Bright Future ให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายของเราคือการพิชิตประชาธิปไตยอันเป็นของเราตั้งแต่แรก สุรัชเชื่อว่าในปีน้ีจะเป็นปีสุดท้ายของการต่อสู้ เนื่องจากทางทหารของ มิน อ่อง หล่าย บางส่วนวางอาวุธ หนีทหาร เสียชีวิต แตกคอกันเอง และเข้า CDM หรือขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement) เป็นจำนวนมาก ส่วนเรื่องกำลังใจพวกเราไม่เคยหมดหวัง เราจะต้องสู้ให้เต็มที่ และสาเหตุที่ชาวเมียนมาออกมารวมตัวกันในวันนี้ก็เพื่อให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่า ชาวเมียนมาต่อสู้มาตลอดในเวลา 2 ปีนี้เพื่อประชาธิปไตยเต็มใบไม่ใช่แค่ครึ่งใบ
“ทาง มิน อ่อง หล่าย เขาฆ่าคนไปเป็นหมื่นกว่าคนแล้ว อาจจะเป็นหลักแสนแล้วตอนนี้ แต่แน่นอนว่าประชาธิปไตยมันแลกมาด้วยเลือดเนื้อ พี่น้องที่สูญเสียเราก็เสียใจ แต่อยากให้เขารู้ว่าเราจะสู้เต็มที่ เราต้องได้ประชาธิปไตยแล้วพวกเขาจะหลับสบาย”
“ในประเทศ [เมียนมา] จัด Silent Strike หรือการประท้วงเงียบ เพราะถ้าเขาจัดกิจกรรมแบบนี้โดนยิงทิ้ง ทหารพม่าโหดมาก มันไม่มีความเป็นมนุษย์ ทางผม [ในประเทศไทย] จึงมาจัดกิจกรรมแบบกลางแจ้งแทนเขา แน่นอนคนที่อยู่นอกประเทศเราจะสู้เคียงข้างคนที่อยู่ในประเทศ”
ย้อนไปเมื่อสองปีที่แล้ว ในวันนี้ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจาก ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย โดยอ้างว่า “พบความผิดปกติในการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป” โดยหลังการรัฐประหารในวันนั้นมีการใช้กระสุนปืน แอร์สไตรก์ และกฎหมายปิดปากผู้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองเมียนมา หรือ AAPP รายงานล่าสุด (31 มกราคม 66) มีประชาชนเสียชีวิตแล้ว 2,940 คน มีเยาวชนเสียชีวิต 285 คน ถูกจับกุม 17,572 คน อีกทั้งหน่วยงานของสหประชาชาติ เคยระบุว่ามีประชาชนราว 1.2 ล้านคนต้องพลัดถิ่น และในจำนวนนั้นกว่า 70,000 คนได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว
Photos : Chanakarn Laosarakham