วันเสาร์, พฤศจิกายน 14, 2563

‘สมีฟรีดอม’ อุตริใส่ 'Two Tones' ตัวสำคัญ ‘ยุ่งเหยิง’ การเมือง มหาเถรฯ ไม่รู้ไม่ชี้


สมีฟรีดอมสุวิทย์ ทองประเสริฐ นี่ อุตริ สิ้นดี มีการนุ่งขาวห่มเหลือง หัวโล้นโกนคิ้ว คิดจะสร้างสายพันธุ์ใหม่แบบ ‘Two Tones’ ขนสองสีละสิ สองสามวันก่อนไปร่วมกิจกรรมรวมพลังปกป้องสถาบันที่ร้อยเอ็ด ทำพิเรนทร์นั่งเป็นประธาน

เยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตยโพสต์เล่าความเรื่องวันที่ ๑๑ พ.ย. “เหตุการณ์พี้คตรงที่ มวลชนที่เตรียมไว้มาทราบตอนหลังว่า มีบุรุษผ้าเหลืองท่านหนึ่งมาร่วมด้วย ชื่อว่านายสุวิทย์ (บุดด้า ฟรีดอม) ทำให้พี่น้องชาวเกษตรวิสัยตัดสินใจไม่เข้าร่วมกิจกรรม”

เลยมีคนร่วมงานแค่พวกแกนนำราวยี่สิบกว่าๆ น่าบัดสีบัดเถลิงก็ตรงที่ฉากหลังเวทีขึ้นภาพสาทิสลักษณ์ในหลวงสองรัชกาล ฤๅสุวิทย์ต้องการสะท้อนจุดนั้นมิอาจรู้ได้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็สุวิทย์นี่แหละที่เป็นตัวสำคัญในการ ยุ่งเหยิง กับการเมืองทุกวันนี้

วันก่อน “มหาเถรสมาคมออกมติด่วนแจ้งวัดทั่วประเทศห้ามพระภิกษุ สามเณร ยุ่งกิจกรรมการเมือง ฝ่าฝืนให้เจ้าคณะปกครองพิจารณาทางพระธรรมวินัยตั้งแต่ตักเตือนจนถึงสึก” อันเนื่องมาแต่กระแส ปฏิรูปจากพระเณรรุ่น ก้าวหน้าทวงถาม “เอาคิ้วเราคืนมา”

สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติออกประกาศมหาเถรฯ เรื่องมีพระเณรไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก ชูสามนิ้ว ยกป้ายแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตย บ้างทวงคืนคิ้ว เพราะในพุทธบัญญัติไม่มีระเบียบให้พระสงฆ์โกนคิ้ว

นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรมนำเอาเนื้อหาในวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของศุภสิทธิ์ วนชยางค์กูล มาอธิบายธรรมเนียมการโกนคิ้วในสมัยอยุทธยา เพื่อให้เห็นความแตกต่างของสงฆ์ไทยกับพม่า เพราะยุคนั้นมีทหารพม่าปลอมเป็นพระเข้ามาหาข่าว

อีกเรื่องเล่าในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีการให้สงฆ์โกนคิ้วเพื่อจะได้ไม่ไปก้อร่อก้อติก ยุ่งเกี่ยวกับเหล่านางสนมในวังซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ชายนอกวังมักห่มเหลืองพรางตัวเป็นสงฆ์ จะได้ผ่านด่าน เข้าหาหญิงในวังได้อย่างสะดวก

คำสั่งมหาเถรฯ อ้างถึงเรื่องคิ้วสงฆ์ว่า “กฏบอกไว้ชัดเจนว่าต้องโกนคิ้ว หากยอมรับระเบียบไม่ได้ ก็แค่ลาสิกขาเพราะการบวชไม่ได้มีใครบังคับ มาบวชด้วยความสมัครใจ” ณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการ พศ.กล่าวถึงประเด็นนี้อย่างเหน็บแนม

แม้นว่าในถ้อยคำสั่งดั้งเดิม (เมื่อมกรา ๒๕๓๘) ระบุว่า “ธุรกิจฝ่ายบ้านเมือง เป็นหน้าที่ของฆราวาสผู้มีสิทธิตามกฎหมายโดยเฉพาะ ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษูสามเณร ผู้อยู่นอกเหนือการเมือง” และว่าการเข้าไปเกี่ยวข้อง “ย่อมเป็นการประพฤติผิดวิสัยของสมณะบรรพชิต”

นายณรงค์ยังพาดพิงไม่ตรงแก่นแท้ของความจริงนักว่า พระภิกษุสามเณรที่ไปร่วมการชุมนุม “กระทำผิดทางพระธรรมวินัย...ให้อยู่กับการพิจารณของเจ้าคณะผู้ปกครอง ตั้งแต่ว่ากล่าวการตักเตือน และให้สึก” ในเมื่อคำสั่งอย่างนี้ไม่ใช่พระธรรมวินัย


พระที่ออกไปร่วมชุมนุมกับคณะราษฎรรูปหนึ่ง (ประชาไทสัมภาษณ์โดยใช้นามสมมุติว่า 'พระนพ') กล่าวถึงคำสั่งมหาเถรฯ ปี ๓๘ “นั้นเป็นคำสั่งทางการเมือง...และเป็นการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของคณะสงฆ์ แต่เป็นการเมืองระบอบแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจฝ่ายฆราวาส”

นอกจากนั้นมัน “คือคำสั่งห้ามพระเป็นหัวคะแนน...ไม่ใช่คำสั่งห้ามพระไปม็อบ ห้ามพระแสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาบ้านเมือง ฯลฯ” Atukkit Sawangsuk วิพากษ์โต้แย้งจากข้อมูลที่ “พูติกาล ศายษีมา อุตส่าห์ไปขุดมา”

'พระเอิร์ท' อีกรูปหนึ่งซึ่งไปร่วมการชุมนุมคณะราษฎร ๖๓ เช่นกัน วิจารณ์กรณีที่คำสั่งมหาเถรฯ ว่า “นี่คือเครื่องมือทางการเมืองในการจับพระผู้เห็นต่าง” ท่านยังเปรียบเปรยว่า “ท้ายที่สุดแล้วสงฆ์ไม่อาจตัดขาดจากประชาชนทั่วไปได้

เพราะหากท้องของประชาชนไม่อิ่ม ท้องพระก็คงจะไม่อิ่มแน่นอน” พระเอิร์ทยกตัวอย่างพระสงฆ์ที่เข้าไปยุ่งเหยิงการเมืองในทางร้าย “กิตติวุฑโฒ ภิกขุ กับวาทกรรม ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ถูกนำไปตีความเพื่อสนับสนุนการสังหารหมู่ในเหตุการณ์ ๖ ต.ค. ๒๕๑๙”

ต่อประเด็นความไม่เป็นประชาธิปไตยในพุทธจักรไทย พระเอิร์ทบอกว่าสงฆ์ทั่วประเทศ “ถูกปกครองด้วยสงฆ์จำนวนไม่กี่รูปที่ได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราช ผ่านอำนาจในการแต่งตั้งมหาเถรสมาคม” และ “เหตุใดจึงไม่กลับไปใช้ระบบสังฆสภา”

ท่านว่าสังฆสภาจะทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ เปรียบดังรัฐสภาของราชอาณาจักร เช่นนี้ “ให้ดอกไม้แห่งประชาธิปไตยของสงฆ์ไทยกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ให้สงฆ์ทุกรูปมีอำนาจในการแต่งตั้งกฎของตัวเอง ปกครองตนเอง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยเดียวกัน”

(https://www.voicetv.co.th/read/FdodDdHg8_C56I, https://prachatai.com/journal/2020/11/90374, https://prachatai.com/journal/2020/11/90374 และ https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_5318425)