วันพุธ, กรกฎาคม 15, 2563

เรื่องแปลกแปลก EP 4: อีกด้านหนึ่งของจอมพล ป. นายก ตลอดกาล







เรื่องแปลกแปลก EP 4: อีกด้านหนึ่งของจอมพล ป. นายก ตลอดกาล
.
คนเราในด้านหนึ่งอาจเคยทำคุณงามความดีแก่ประเทศ ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนในเรื่องต่างๆ นานา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจเคยทำสิ่งที่เลวร้าย ทิ้งบาดแผลที่ยากจะลืมเลือนเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์
.
คนอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เช่นเดียวกัน
.
เริ่มต้นด้วยตัวอย่างเล็กๆ เกี่ยวกับนโยบายด้านการเกษตร อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วใน EP ก่อนหน้านี้ว่าจอมพล ป. มีส่วนในการพัฒนาการเกษตรของประเทศอยู่ไม่น้อย ทว่าในนโยบายที่ออกมากลับปรากฎ พ.ร.บ.การสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน พ.ศ. 2482 รวมอยู่เป็นหนึ่งในนั้นด้วย มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ประชาชนในชนบทมีหน้าที่ปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ตามที่ภาครัฐกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับ 12 บาท
.
ปรากฏว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวประสบปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ เช่นบางคนปลูกพืชเฉพาะฤดู เมื่อหมดฤดูไปแล้วจึงปลูกไม่ได้ บางคนเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่แต่ถูกโรคระบาดตายไปหมด บางพื้นที่อยู่ห่างไกล ซื้อขายพันธุ์พืชลำบากจึงนำมาปลูกไม่ได้ และเมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจไม่พบก็ถูกปรับ ต่อมามีความพยายามแก้กฎหมายโดยเพิ่มโทษปรับเป็น 50 บาทและเกณฑ์มาทำงานโยธา กลายเป็นการซ้ำเติมประชาชนมากขึ้นไปอีก การแก้ไขดังกล่าวจึงไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา (ส่วนตัว พ.ร.บ. ภายหลังก็ไม่มีการบังคับใช้จริง และยกเลิกไปในปี 2546)
.
พ.ร.บ. ดังกล่าวสะท้อนถึงวิธีคิดในการปกครองของจอมพล ป. ที่มุ่งบังคับกะเกณฑ์ให้ประชาชนต้องมีบทบาทหน้าที่ต่างๆ ตามที่รัฐต้องการ โดยเอากฎหมายเป็นเครื่องมือกำหนดบทบาทหน้าที่นั้นๆ และคาดโทษกับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่สามารถปฏิบัติตามได้
.
วิธีคิดดังกล่าวของจอมพล ป. เห็นได้ชัดขึ้นผ่านนโยบาย “รัฐนิยม” ที่ในขณะที่มีความพยายามปรับปรุงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประชาชนให้ทันสมัยยิ่งขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นการเอาแนวคิดแบบ “ชาตินิยม” และ “เชื้อชาตินิยม” เข้ามาบังคับกับคนกลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย เช่นในรัฐนิยมฉบับที่ 1 เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยก็เพื่อให้สอดคล้องกับคนเชื้อชาติไทย ด้วยเกรงว่าหากยังคงชื่อสยามไว้ ภายหลังอาจมีชนชาติอื่นอพยพเข้ามามากขึ้นแล้วอ้างว่าประเทศนี้เป็นของตน รัฐนิยมฉบับที่ 3 ให้ใช้คำว่าชาวไทยเรียกประชาชนในประเทศโดยไม่มีแยกว่าเป็นเหนือ อีสาน ใต้ หรืออิสลาม หรือรัฐนิยมฉบับที่ 9 กำหนดให้ชาวไทยจะต้องยกย่อง เคารพ และนับถือภาษาไทย จะต้องศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติ อย่างน้อยให้อ่านออกเขียนได้ จะต้องไม่ถือเอาสถานที่กำเนิด ภูมิลำเนาที่อยู่ หรือสำเนียงแห่งภาษาพูดที่แปร่งไปตามท้องถิ่น เป็นเครื่องแสดงความแตกแยกกัน
.
นโยบายชาตินิยมของจอมพล ป. ส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตประเทศประเทศไทยอย่างกว้างขวาง เช่นชาวจีนที่เข้ามาค้าขายจนร่ำรวยก็มักตกเป็นเป้าของการปลุกเร้าให้เกลียดชัง มีการปิดโรงเรียนจีน คนจีนจำนวนมากก็ต้องเปลี่ยนจากแซ่มาใช้นามสกุลไทย หรือชาวมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ถูกบังคับให้แต่งกายแบบชาวตะวันตก ห้ามใช้ภาษามลายูหรือใช้ชื่อภาษามลายูหรืออาหรับ ไปจนถึงการพยายามนำศาสนาพุทธเข้ามาแทนที่ศาสนาอิสลาม เหล่านี้เป็นสิ่งที่สั่งสมบ่มเพาะกันมาในประวัติศาสตร์จนกลายเป็นปมสำคัญของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน
.
และที่ขาดไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องราวด้านลบของจอมพล ป. คือการเข้าไปมีส่วนร่วมกับ “คณะทหารแห่งชาติ” โดยในภายหลังการรัฐประหารในปี 2490 (ซึ่งนับเป็นเรื่องตลกร้ายคือเป็นการรัฐประหารเพื่อโค้นล้มอำนาจของปรีดี พนมยงค์ เพื่อนผู้เคยร่วมอุดมการณ์กับจอมพล ป. ในคณะราษฎร) คณะรัฐประหารได้แต่งตั้งจอมพล ป. (ที่ขณะนั้นยุติบทบาททางการเมืองในช่วงสิ้นสุดสงครามโลก) ให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งชาติ และอีก 1 ปีต่อมาก็เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งแล้วแต่งตั้งจอมพล ป. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง ซึ่งจะดำรงตำแหน่งต่อไปอีกกว่า 9 ปี การรัฐประหารดังกล่าวได้กลายเป็นต้นแบบให้กับทหารรุ่นหลังในการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือน ฉีกรัฐธรรมนูญเดิมแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และสืบทอดอำนาจตัวเองในอีกหลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย
.
ในช่วงเวลากว่า 9 ของการดำรงตำแหน่งของจอมพล ป. ได้เกิดการปราบปรามและประทุษร้ายต่อบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับจอมพล ป. หลายกรณี กรณีที่สำคัญได้แก่การสังหาร 3 อดีตรัฐมนตรีอีสาน คือ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง และอีก 1 อดีตรัฐมนตรี คือ ทองเปลว ชลภูมิ อย่างโหดเหี้ยมกลางเมืองหลวงในคืนวันที่ 3 มีนาคม 2492 (โดยอ้างว่าเป็นฝีมือโจรมลายู) การสังหารเตียง ศิริขันธ์ อดีตรัฐมนตรีอีสานอีกคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2495 และการอุ้มหายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ผู้นำประชาชนชาวมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2497
.
และในช่วงปลายสมัยการดำรงตำแหน่งของจอมพล ป. ในปี 2500 ก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่งปรากฏว่าเกิดกรณีการทุจริตการเลือกตั้งขึ้นอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น การใช้ “ไพ่ไฟ” คือบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์กากบาทเบอร์ผู้สมัครไว้เรียบร้อยแล้ว การใช้ “พลร่ม” คือใช้กลุ่มบุคคลเวียนลงคะแนนให้พรรคของจอมพล ป. หลายรอบ การเปิด-ปิดหน่วยเลือกตั้งช้า การนำพวกอันธพาลเข้าก่อกวนหน่วยการเลือกตั้ง ฯลฯ จนการเลือกตั้งดังกล่าวถูกยกให้เป็นการเลือกตั้งที่ “สกปรก” ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
.
นักวิชาการมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า จอมพล ป. ไม่จำเป็นต้องโกงการเลือกตั้งก็สามารถชนะการเลือกตั้งได้ แต่เพราะ “ความกลัว” ของฝ่ายรัฐบาลที่ว่าพวกเขาไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดได้ว่าประชาชนจะลงคะแนนเลือกใคร จึงทำให้เกิดการโกงขึ้นมา ซึ่งผลของการโกงทำให้ความนิยมของจอมพล ป. ตกต่ำถึงขีดสุด เปิดช่องให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 16 กันยายน 2500 เป็นการปิดฉากอำนาจของจอมพล ป. อย่างถาวร
.
เย็นวันนี้ มาร่วมรำลึกมรดกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ซึ่งมีทั้งด้านดีและด้านร้ายให้ได้จดจำ ในกิจกรรม “HAPPY BIRTHDAY แบบแปลกแปลก” พบกัน ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 17.00 น.
.
https://www.silpa-mag.com/history/article_48247
https://www.silpa-mag.com/culture/article_2224
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/810.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/1281.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/A/151.PDF
https://mgronline.com/daily/detail/9570000046789
https://www.silpa-mag.com/history/article_29267
https://www.theisaander.com/post/200304ministersofisaan
https://www.silpa-mag.com/on-view/art-and-culture-club/article_28208