วันพุธ, เมษายน 16, 2568

”จุดอ่อน“ และ วงจรอุบาทว์ของการรับเหมางานราชการ


หนุ่มเมืองจันท์
18 hours ago
·
กรณีอาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถล่ม
ตอนที่มีการพุ่งเป้าไปที่ “เหล็ก” ไม่ได้คุณภาพ
ผมจำได้ว่า “พี่ด้วง” ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง เคยตั้งข้อสังเกตไว้ประมาณ 10 วันที่ผ่านมา
เขาบอกว่าวงการสถาปนิกที่รับงานราชการรู้ว่า ”จุดอ่อน“ ของงานราชการคือ ”ผู้ควบคุมงาน“
และอธิบายวงจรอุบาทว์ของการรับเหมางานราชการมาเป็นฉากๆ
ตอนนั้นผมก็งงอยู่ว่า ”ผู้ควบคุมงาน“ จะมีผลมากขนาดนั้นจริงหรือ
จนวันนี้ชัดเจนแล้วว่ามีการแก้แบบก่อสร้าง
และปลอมลายเซ็น ”วิศวกรผู้ควบคุม“
(กรณี ”ปลอมลายเซ็น“ คงต้องดูดีๆ เพราะผู้เสียหายไม่แจ้งความเอาผิดบริษัทผู้รับเหมา เรื่องนี้อีกสักพักคงชัดเจนขึ้น)
เมื่อวาน เพิ่งโพสต์อีกครั้งว่าถ้าตามดีๆจะพบเรื่อง “เงินทอน 30%”
ต้นทางของกรณี “ตึกถล่ม” อยู่ตรงนี้
ก่อนจะตามกันต่อ ลองอ่านโพสต์เก่าของ “พี่ด้วง” เมื่อ 10 กว่าวันก่อนหน้านี้
ถ้าเป็น“ หมอดู”
ก็ต้องบอกว่า “แม่นจริงๆ”

”ในกรณีที่อาคารโดยทั่วไปเกิดปัญหาวิบัติในทางโครงสร้าง ความรับผิดชอบแรกจะต้องพุ่งไปที่ “ผู้ควบคุมงาน” หรือที่เราเรียกว่า CM หรือ Construction Management ครับ
กฎหมายกำหนดให้การก่อสร้างอาคารทุกแห่งต้องมีผู้ควบคุมงานที่มีใบประกอบวิชาชีพ เพื่อควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ
เพื่อนฝูงที่เป็นสถาปนิกแล้วรับงานราชการ จะรู้กันดีว่าจุดอ่อนสำหรับการคอรัปชั่นอยู่ตรงนี้เลย เพราะ“ผู้ควบคุมงาน”จะต้องดูแลให้การก่อสร้างนั้นเป็นไปตามแบบที่ออกไว้
ผู้รับเหมาที่มีเจตนาจะเอาเปรียบ ก็จะพยายามสร้างให้ไม่ตรงแบบ พยายามจะลดข้อกำหนดคุณภาพของวัสดุ (specification) หรือวิธีการก่อสร้าง เพื่อลดปริมาณงานลงเพื่อให้ได้กำไรมากที่สุด
ในกรณีของงานราชการ วงจรอุบาทว์จะเริ่มต้นจากการที่ผู้บริหารของหน่วยงาน มีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้รับเหมาที่จะได้งาน
ในสมัยรัฐบาล คสช. เป็นยุคที่การเรียกรับผลประโยชน์ หรือ “เงินทอน” นี้ เบ่งบานที่สุด ไม่มีหน่วยงานของรัฐหน่วยใดเลยที่มีการก่อสร้างแล้วไม่มีระบบเงินทอน ต้องทอนกันทุกงาน
เมื่อเป็นรัฐบาลทหารที่ไม่มีการตรวจสอบ จึงเป็นโอกาสที่หน่วยงานราชการจะทำงบก่อสร้างกันอย่างเพลิดเพลิน เพราะการจ่ายเงินทอนนี้ ทำได้ง่ายดายเหลือเกิน
ในบางโครงการก็ย่ามใจมาก จากที่เรียกกัน 10% บางทีสูงไปถึง 30% ก็มี ผู้รับเหมาที่อยากได้งานก็จำเป็นต้องรับงานกันไปทั้งๆที่รู้ว่าสร้างไม่จบแน่ เพราะเงินโดนหักไปแล้ว 30% ก็ต้องไปจบที่การทิ้งงาน
จึงเห็นเป็นตึกราชการที่สร้างไม่เสร็จให้เราเห็นโดยทั่วไป
ผู้รับเหมาที่ทิ้งงานแล้วก็จะถูก black list กลับมารับงานไม่ได้อีก ถ้าอยากรับงานราชการงานอื่น ก็ต้องไปตั้งบริษัทใหม่ แต่งตัวกันเข้ามาใหม่
บริษัทที่ไม่อยากติด black list ก็ต้องพยายามสร้างงานให้จบ โดยพยายามลดต้นทุนให้มากที่สุด
ซึ่งการลดต้นทุน ผู้ควบคุมงานก็จะเป็นคนที่เซ็นอนุมัติหรือไม่เซ็นให้ ผู้ควบคุมงานจึงเป็น factor สำคัญมาก
เจ้าของโครงการที่เป็นหน่วยงานราชการรู้ความจริงข้อนี้ดี จึงต้องเลือกจ้างผู้ควบคุมงานที่ตนกำกับดูแลได้ สมยอมกับผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้ลดงานก่อสร้างลงไปจากแบบ
หรือจัดทำ shop drawing ที่แตกต่างไปจากแบบที่ออกไว้ เพื่อให้ผู้ควบคุมงานอนุมัติ และสามารถก่อสร้างไปได้โดยมีสัดส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้น เพื่อมาชดเชยกับ “เงินทอน” ที่ต้องจ่ายไป
ในกรณีของผู้รับเหมาบางกลุ่มจากต่างประเทศ ก็จะเข้ามาทำสัญญาในลักษณะที่มี +F คือมี “package ของการกู้เงิน” เข้ามาด้วย
ทำให้ผู้รับเหมาหลายคนที่รับงานราชการมักจะทำงานร่วมกันกับผู้รับเหมาจากต่างประเทศเหล่านี้
เพราะเขาจะมาสร้างให้ก่อน จ่ายเงินทีหลัง ซึ่งทำให้สามารถหมุนเวียนกระแสเงินได้ดีขึ้น
บางทีก็ต้องไปรับงานราชการอื่นอันใหม่เพื่อเอาเงินมาโปะงานเก่า หมุนเวียนไปเช่นนี้เป็นวงจรอุบาทว์
ทั้งหมดนี้ เริ่มต้นมาจากที่มีคนเรียกรับเงินทอนคนแรกครับ มันไม่ได้ผิดที่คนออกแบบเลย ผิดที่ “คนคุมงาน” ที่น่าจะสนิทสนมกับ “คนที่เรียกรับเงิน” อันนี้น่าสืบต่อไปได้ ไม่ยากเท่าไหร่
เรื่อง “ก่อสร้างผิดจากแบบ” เป็นความผิดของผู้ควบคุมงานโดยตรง ความผิดถัดมาก็ผู้รับเหมา ที่จะเป็นจำเลยสังคมต่อไป
จะวิเคราะห์เรื่องการออกแบบ specification ของเหล็กเส้น คนที่อยู่ในวงการก่อสร้างเราก็ออกจะขำ เพราะเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นไปจากต้นเหตุคือการคอรัปชั่นอย่างไม่ต้องสงสัย
ในกรณีนี้ ผู้ออกแบบทั้งสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ต้องนับได้ว่าซวย เพราะในงานราชการ จะไม่อนุญาตให้ผู้ออกแบบเข้าไปตรวจสอบเลย
ราชการเขากำหนดเรื่องนี้ไว้โดยมีวัตถุประสงค์ให้การตรวจสอบอยู่ในมือผู้ควบคุมงานอย่างเดียว จะได้จัดการเบ็ดเสร็จทั้งต้นน้ำปลายน้ำได้ง่าย
มันก็เป็นเช่นนี้มาช้านาน ผมถึงไม่ค่อยได้งานราชการ เพราะจะเข้าไปจับผิดเขาอยู่เรื่อย
ยิ่งอาคารราชการส่วนใหญ่ กฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องยื่นขออนุญาตก่อสร้างเสียด้วย ท้องถิ่นหรือ กทม. ก็ไม่มีโอกาสได้เข้าไปตรวจสอบเลย ก็เลยทำให้อาคารราชการต่างๆ เป็นแหล่งรายได้หลักในการคอรัปชั่น โดยที่ระบบราชการเองก็ถูกออกแบบไว้ให้การคอรัปชั่นนั้นราบรื่นและเป็นระบบที่สุด
ผลกระทบคือ อาคารราชการทุกแห่งที่ประมูลไว้ด้วยราคากลางที่ใกล้เคียงราคาตลาด ออกแบบไว้อย่างมีคุณภาพ แต่พอสร้างเสร็จก็จะกลายเป็นเรื่องเศร้าทุกที ก็เพราะเหตุนี้
สมัย คสช. คือเป็นยุคที่การคอรัปชั่นในลักษณะนี้มีมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะข้าราชการมีอำนาจเต็ม และตึกที่เกิดปัญหาก็เป็นตึกของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเสียด้วยสิ
ผมว่าผลกระทบที่เห็นมันก็น่าจะชัดเจน เวรกรรมมีจริงแหละ หน่วยงานตรวจสอบถ้าคอรัปชั่นเอง ก็ไม่มีใครตรวจสอบได้อีก ก็สันนิษฐานไว้ตามนั้นครับ
เรื่องนี้ สถาปนิกที่รับงานราชการเป็นประจำ เขาก็ไม่กล้าเล่าหรอกนะครับ เขาก็หลับตากันไปเดี๋ยวกลัวไม่ได้งาน
คนพูดความจริงอย่างผม ที่ควรจะได้งานเขาก็เลยไม่ให้ ก็ไม่แปลกใจ แต่ก็ทิ้งไว้เป็นความเห็น“
 
https://www.facebook.com/photo?fbid=1248832393269889&set=a.211819566971182