เสียงบ่นของแพทย์อินเทิร์น โดยเฉพาะ อินเทิร์น ๑ ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ขณะนี้ แม้จะเป็นเสียงบ่นของไม่กี่คน แต่เนื้อความที่เขาบรรยายกันยาวเหยียด ชี้ให้เห็นปัญหาโครงสร้างร้ายแรงต้องตระหนัก ไม่ใช่ปากพล่อยโดย คอมเม้นต์รายหนึ่ง
ที่อ้างว่าหมออินเทิร์นคนนั้น “น่าจะเห็นแก่ตัว (และ) ระบบผลิตแพทย์ล้มเหลว...ทั้งๆ ที่คนสอบเข้าเก่งๆ มากมาย ไม่หาที่เรียนให้เขามากๆ อ้างโน่นอ้างนี่” อันเป็นการมองปัญหาอย่างสำเร็จรูป และโลกทัศน์แคบ ซึ่งบังเอิญโผล่มาในฟี้ด
อย่างไรก็ดี เนื้อหาที่ ชินภัทร ตันศรีสกุล เล่าไว้เกี่ยวกับแพทย์อินเทิร์นที่จังหวัดบึงกาฬ ๑๐ ใน ๑๖ คน ขอลาออกเมื่อใกล้จะหมดเวลาใช้ทุน (ราว ๓ ปี) และนี่เป็นปรากฏการณ์แทบจะปกติเกือบทุกปี อันทำให้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ใน รพ.รัฐต่างจังหวัดพอกพูนเรื่อยมา
การลาออกเพื่อไปศึกษาต่อเฉพาะทาง “เพื่อเพิ่มทักษะทางวิชาชีพและรายได้ให้สูงขึ้น” หรือไปอยู่ใกล้บ้านใกล้ครอบครัว เป็นสิทธิเมื่อใช้ทุนครบ ไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัวแต่อย่างใด กระนั้นการลาออกไปทำให้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ทวีคูณ
แพทย์ที่มีอยู่ “จะยิ่งทำงานหนักมากขึ้น...จนร่างกายและจิตใจอ่อนล้า มนุษย์ที่ต่อให้มีอุดมการณ์แน่วแน่แค่ไหนก็ตาม สักวันก็ไม่สามารถรับมือกับภาระงาน และระบบราชการที่ไม่เอื้อ” ต่อไปได้อยู่ดี ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุขรับรู้ปัญหา
แต่การแก้ไขกลับ “ไม่แก้ที่ต้นตอของปัญหา แต่ยังพยายามบีบ รีด ขยี้ให้แพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดและกำลังบอบช้ำหนักต้องแบกระบบที่กำลังพังลงต่อไป” ด้วยการเกลี่ย หรือเฉลี่ยแพทย์อินเทิร์นที่มีอยู่ไปทั่วๆ เขตสาธารณสุข เฉพาะบึงกาฬมี ๘ เขต
“การแก้ไขปัญหาแพทย์ขาดแคลนนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตแพทย์เพิ่มเยอะๆ ซึ่งในความจริงแล้วก็ผลิตเยอะไม่ได้เนื่องจากการจะสร้างคนๆ หนึ่งให้เป็นแพทย์ต้องใช้เงินงบประมาณไม่น้อย” แต่ละปีจะสามารถผลิตแพทย์ออกมาได้ราว ๓-๕ พันคนเท่านั้น
จำนวนแพทย์ทั่วประเทศทั้งหมดประมาณ ๕-๖ หมื่นคน เท่ากับภาระงาน หมอ ๑ คนต่อประชากร ๒ พันคน แล้วปัญหาที่ตามมาทับถมก็คือ “พยาบาล และเจ้าหน้าที่เทคนิค ก็กำลังลาออกจากโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศเป็นจำนวนมากไม่แตกต่างกัน”
Sirisak Chanprasert เล่าความหลังเมื่อครั้งเป็นหมออินเทิร์น ว่าเป็นบุคคลากรการแพทย์ที่ต้องรับงานหนักมาก ข้อสำคัญ “เป็นการเอาแรงงานระดับประสบการณ์ต่ำสุดไปใช้ที่ต่างจังหวัด ให้คนไข้ส่วนใหญ่ที่เป็นตาสีตาสายายมียายมา รับการบริการตามมีตามเกิด”
แล้วก็มาถึงปัญหา “เงินรายได้น้อยเมื่อเทียบกับภาระงาน” พวกหมอระดับนี้จึงพากัน “เปิดคลินิกส่วนตัวควบกับทำงานในโรงพยาบาล” ซึ่ง “ปฏิเสธไม่ได้ว่ามี conflict of interest เต็มไปหมด” รายนี้เขาว่าระบบการทำงานของวงการแพทย์ไทย
“จึงเป็นแนว ‘กงสี’ ไม่มีการจัดแจงภาระงานที่แน่ชัด”
(https://www.facebook.com/sirisak.chanprasert/posts/JUaV3kxjuWB และ https://www.facebook.com/chin.phathr.tan.sri.skul/posts/fxEDKPU8tW)