น่าทึ่งกับเสียงวิพากษ์หนักหน่วงทางสื่อสังคม
ต่อผู้กำอำนาจการเมืองการปกครองไทยขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น
ผบ.ทบ.จากกรณีที่มีชาวต่างชาติจากประเทศอาหรับเดินทางเข้าไทย ได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องตรวจโควิด
ไม่ต้องกักตัว ๑๔ วัน แล้วพบภายหลังว่าสองรายมีเชื้อ
กับกรณีที่บุคคลหนึ่งโพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อยืดมีข้อความบนอก
“เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ปรากฏบนบนหน้าเฟชบุ๊ค ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’
แล้วสองสามวันที่ผ่านมาสมาชิกเพจถามหากันจ้าละหวั่น
ลงเอยเขาถูกตำรวจควบคุมตัวไปเก็บกักไว้ที่โรงพยาบาลจิตเวช
เรื่องพบผู้มีเชื้อโควิด-๑๙
อยู่ในไทยสองราย คนหนึ่งเป็นทหารอียิปต์มากับคณะ ๓๑ คนผ่านอู่ตะเภาแวะระยองเพื่อไปปฏิบัติภารกิจที่เฉินตูไม่กี่วัน
ระหว่างอยู่ระยองมีคนหนึ่ง ‘เล็ดลอด’
ออกไปเดินทอดหุ่ยที่ห้างข้างโรงแรม (Dvaree) กลับแล้วถึงรู้ว่าเขาติดเชื้อ
อีกคนเป็นเด็กวัย ๙ ขวบลูกเจ้าหน้าที่ทูตจอร์แดน
พักอยู่โรงแรมย่านสุขุมวิท เด็กเกิดอาการปอดอักเสบจึงได้ตรวจพบเชื้อโควิด
และจากการสืบสวนของกรมควบคุมโรคพบว่าผู้ดดยสารในเที่ยวบินเดียวกันนี้กับครอบครัวทูตดังกล่าว
มีติดไวรัสอีก ๑๒ คน
ทั้งสองรายเข้าประเทศโดยไม่ต้องตรวจ
ไม่ต้องกักตัวเพราะเข้าข่ายได้รับยกเว้น รายทหารอียิปต์นั่นเป็นแขกของรัฐบาลไทย
ส่วนรายลูกทูตก็แน่นอนได้สถานะพิเศษ (สถานะนี้ถ้าไปบาวาเรียโดนประท้วงนะ)
พออย่างนี้ก็มีทัวร์ไปลงเพจกองทัพบกกระหึ่มสิ
ทำให้โฆษก ทบ.ต้องออกมาแถลง “ปฎิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ
ทั้งสิ้นกับทหารอียิปต์ที่ติดเชื้อโควิด ระบุมีผู้ไม่หวังดีกล่าวหา” ถึงขั้นติดเทร็นด์ทวิตเตอร์แน่ะ
ทางตัว พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เอง บอกไม่รู้อิโหน่อิเหน่ “โดนตลอดอยู่แล้ว”
แหมทั่น ก็ทหารของ ฯพณฯ อัลซีซี่ (คนนี้โมเดลสำคัญทหารยึดอำนาจแล้วเล่นการเมืองเอง
กำแม่นมาสองสมัยแล้ว) เอาโควิดเข้าประเทศด้วยสิทธิพิเศษ จะให้เขาไปทวงถามความรับผิดชอบกับใครก่อนล่ะ
ซ้ำร้าย ศบค.โบ้ยให้ไปเล่นงานโรงแรมแทน
เขาถึงได้ว่าโทษคนอื่นเสียเคยจนขึ้นสันดอน
ทำนองเดียวกับประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
แทนที่จะดูว่าเขาอัดอั้นเรื่องไร ถึงได้บ่นออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร
(ตัวใหญ่เสียด้วย) เสียบข้อหากฎหมายไม่ได้ ก็ยัด ‘’โรคจิต’
ให้ซะงั้น
แบบเดียวกับเจ้าหน้าที่ ธกส.คนหนึ่งซึ่งครั้งเมื่อทำงานอยู่กับตัวเลขข้อเท็จจริงโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นการบิดเบือนของพวกนั่งห้าง (กปปส.) พวกยึดอำนาจ และพวก
ตลก.พิบัติ แล้วทนไม่ไหว ออกมาแจงความจริงว่าไม่มีความเสียหายอย่างนักรัฐประหารอ้าง
เท่านั้นแหละ ‘นุช’ ชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ โดนใส่ไคล้ว่าเป็นโรคจิต
ผู้บังคับบัญชาส่งไปตรวจกับจิตเวชสี่หนแล้ว หมอบอกไม่เห็นจะจิตเจิดอะไรเลย
แต่ผู้กุมอำนาจก็ยังอ้างว่าเธอเป็นโรคจิตอยู่จนบัดนี้
เพราะหาข้อกฎหมายเจ๋งจริงเล่นงานเธอไม่ได้
เรื่องของ ทิวากร วิถีตน (นามสกุลเดิม
โสภา) วิศวกรวัย ๔๗ ปี
ที่อุตส่าห์สกรีนเสื้อตัวเองข้อความแสดงอาการคับแค้นหลังจากที่มีข่าว ‘อุ้มหาย’ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เขาถูกทางการติดต่อให้หยุดใส่เสื้อตัวนั้น
บอกว่าไม่ดีทำให้มีความแตกแยก
แล้วจู่ๆ ก็มีกำลังตำรวจพร้อมทั้งพยาบาล
รถเกือบสิบคันไปที่บ้าน ตำรวจ ๖ คนเข้าไปอุ้มเอาตัวเขาขึ้นรถ
เอาผ้ามัดมือแล้วฉีดยากล่อมประสาทที่แขนทั้งสองข้าง นำตัวไปไว้โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น
ดื้อๆ เฉยเลย ระหว่างนี้เขาก็ยังแสดงความเห็นฝ่านโซเชียล
โดยเฉพาะเกี่ยวกับคำว่า ‘หมดศรัทธา’ “ไม่ได้แปลว่าล้มเจ้า...มันคือความรู้สึกที่อยู่ในใจ
ที่มีต่ออะไรสักอย่างในทำนองเดียวกับ ‘หมดรัก’, ‘หมดเยื่อใย’, ‘หมดใจ’, ‘หมดความไว้ใจ’ มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคน สามารถพูดและแสดงออกมาได้
ตราบใดที่คนที่พูดและแสดงออกไม่ได้ไปทำความเสียหายให้กับทรัพย์สิน
ไม่ได้ไปทำร้ายร่างกายคนที่ยังศรัทธา และไม่ได้ทำผิดกฏหมายอย่างอื่น” ฉะนั้นคนที่ ‘ศรัทธา’ อาจจะขุ่นเคือง “จนถึงขั้นไปทำร้ายคนที่พูดและแสดงออก
ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
เพราะนอกจากมันจะไม่ช่วยทำอะไรให้ดีขึ้นแล้ว
มันยังไม่ได้ช่วยทำให้คนหันกลับมาศรัทธาดังเดิมได้”
ฉันใดก็ฉันนั้นสำหรับคนที่เป็นเป้าของความไม่ศรัทธา ทางเดียวที่จะทำได้ “ต้องปรับปรุงตัวเอง
อาจจะถามคนที่หมดศรัทธาตรงๆ เลยก็ได้ว่าทำไมถึง ‘หมด’
ศรัทธา” แล้วปรับปรุงตรงนั้น
เช่นเดียวกันกับการมี ‘ศรัทธาบอด’ ตะบี้ตะบันปักใจลุ่มหลง มันไม่ได้เป็นความผิดของคนที่
‘ตาสว่าง’ แล้ว
แต่เป็นความด้อยจิตสำนึก แม้กระทั่ง ‘ปัญญา’ ของตนเอง เพราะผู้ที่ทำให้คนจำนวนมากหมดศรัทธา อาจไม่มีจิตสำนึกเหมือนกัน
และเขาทำไปเพราะเคยชินกับการ ‘ทำได้’ เมื่อไรที่ถูกปฏิเสธจะโกรธขึ้ง
รวมทั้งทำการกำจัดผู้ที่ปฏิเสธตน หากมีพลังอำนาจให้ทำได้ เขาจะฉุกคิดก็ต่อเมื่อรู้สึกว่ามันทำไม่ได้อีกต่อไปเท่านั้น
ทำอย่างไรจึงทำให้เขารู้สึก อันนี้สำคัญ
วิธีการเคยมีมาแล้วหลายยุคสมัยในประวัติศาสตร์โลก
ชนชาติอารยะตระหนักดีว่า ‘ตาต่อตา
ฟันต่อฟัน’ ไปได้ไม่นาน แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีการทัดทานและคัดง้างอยู่
ในรูปแบบของความเป็น ‘อารยะ’ แต่ไม่ใช่นิ่งเฉย
เพราะนั่นลักษณะของ ‘ทาส’ ที่ปล่อยไม่ไป