วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 09, 2563

นวัตกรรมร่าง กม.ใหม่ ๒ อย่าง ๓ ฉบับ จะทำให้ "สมกับที่เป็นยุคคนรุ่นใหม่ไล่คนแก่นั่งหลังบ้าน"


มีร่างกฎหมายสองอย่าง (๓ ฉบับ) ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (ถ้าหากไม่เกิดอาการ สภาล่ม อีกเป็นหนที่สี่ที่ห้า ฮ่าฮ่า) หากผ่านได้จะเป็นนวัตกรรมใหม่ทางสังคมและการเมืองไทย ให้สมกับที่เป็นยุคคนรุ่นใหม่ไล่คนแก่นั่งหลังบ้าน

อย่างแรกอาจใหม่สำหรับเมืองไทย แต่เก่าแล้วในอารยะประเทศเกี่ยวกับการผลิต ของเมา เสรี ไม่ว่าจะเป็นสุรารสประดิษฐ์ เหล้าพื้นบ้าน และที่ฮิตมากก็คือ คร้าฟเบียร์ อันนี้ต้องให้เครดิตกับผู้เสนอจากพรรคก้าวไกล เท่าพิภพ ลิ้มจิตกร ซึ่งอยู่ในกลุ่มนักผลิตเบียร์ตัวยง

คร้าฟเบียร์ไทยเป็นที่ยอมรับในประเทศรอบบ้านว่าฝีมือดี แต่ผลิตในประเทศไม่ได้ ต้องออกไปผลิตนอกเขตแดนแล้วส่งกลับมาขายในไทย เพราะกฎหมายเอื้อให้เฉพาะโรงงานของเจ้าสัวถึงจะทำได้ “จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า ๑ แสนลิตรต่อปี

และไม่เกิน ๑ ล้านลิตรต่อปี หรือหากคิดเป็นเบียร์ขวดเล็กที่คราฟท์เบียร์นิยมบรรจุขายขนาดประมาณ ๓๐๐ มิลลิลิตร จะต้องผลิตประมาณไม่ต่ำกว่า ๓ แสนขวดต่อปี และไม่เกิน ๓ ล้านขวดต่อปี” นี่เป็นกฏเบื้องต้นสำหรับตั้งร้าน ไมโครบรูเวอรี่

ทีดีอาร์ไอเขียนวิจารณ์ไว้เมื่อกลางปีที่แล้วด้วยว่า หากจะผลิตมากกว่านี้ต้องเป็นโรงงานผลิตส่งออกขายต่างประเทศ มีข้อกำหนดอีกอย่าง ว่าต้องมีทุนจดทะเบียนบริษัทอย่างน้อย ๑๐ ล้านบาท และผลิตต่ำกว่า ๑๐ ล้านลิตรต่อปีไม่ได้

จึงเป็นแรงจี้ให้มีการเสนอกฎหมายเพื่อให้ “การผลิตสุราเพื่อการบริโภคสามารถกระทำได้” ในปีนี้ โดยระบุเหตุผลว่าเป็นเพราะกฎหมายที่มีอยู่ “กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตและเงื่อนไขอื่น ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรกว่าเหตุ”

ร่างมาตรา ๔ ของกฎหมายใหม่นี้กำหนดให้มีการแก้ไข พรบ.ภาษีสรรพสามิต ๒๕๖๐ ให้สอดคล้องกับกรณีที่ พรบ.ใหม่เสนอภายใน ๑๘๐ วัน นอกนั้นให้เป็นไปตามกฎหมายเดิมไปก่อน นั่นคือให้บรรดานักผลิตคร้าฟเบียร์ไทยสามารถเปิดกิจการในประเทศได้เลย

ร่างกฎหมายนี้กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ ไปส่งเสียง เชียร์ กันได้ที่ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=91

ร่างฯ อีกสองฉบับ เรื่องเดียวกันคนละอย่างเกี่ยวกับการแต่งงานไม่ต้องสองเพศ ฉบับหนึ่ง (ขอแซว) ส.ส.อายุน้อยของพรรครัฐบาลพยายามหาที่ยืนในหมุ่คนรุ่นใหม่ ดัน พรบ.คู่ชีวิต สุดลิ่ม “บอกว่าคนไทยสามารถสมรสเพศเดียวกันได้แล้ว”

เก็บมาจากที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกฯ ทำพีอาร์ ว่ากฎหมายใหม่จัดให้ “คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา” อีกทั้งเรื่องสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิตเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตายไป ให้ถือเสมือน คู่สมรส ชาย-หญิง ปัจจุบัน

รวมไปถึงการขอรับบุตรบุญธรรม การจัดการทรัพย์สินและมรดก อ้างว่า “เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน” แต่มีข้อแม้นิดนึง “สิทธิอื่นๆที่อาจจะยัง ไม่มีเท่ากับการจดทะเบียนคู่สมรสชาย-หญิง”
 
อ้าว ครึ่งๆ กลางๆ หรือว่า หัวมงกุฏท้ายมังกรเหมือนที่ Kritsada Akkhapracha ชาวแคนาดา “เขียน ณ ประเทศที่ผ่านกฎหมาย Same Sex Marriage เมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว” ว่า ถ้าแต่งงานกันฝ่ายนึงรับราชการ ก็เบิกค่ารักษาพยาบาลให้คู่ไม่ได้”

เขาแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่าง SSM, Civil Union และ Limited Domestic Partnership ว่า แต่งงานเพศเดียวกันได้สิทธิเต็มที่ การสมสู่อย่างทางการได้สิทธิแต่ไม่ได้ชื่อ (ไม่เรียกว่าแต่งงานกัน) และ การอยู่ด้วยกันแต่จำกัดคือความไม่เท่าเทียม

จึงมี การเสนอแก้ไข ป.พ.พ.ขึ้นมาแทรก อันนี้พรรคก้าวไกลเสนออีกแหระ (น่าเบื่อเนอะ ตู่บอก) “ร่างฉบับนี้กำลังเปิดให้ร่วมแสดงความคิดเห็นกันอยู่ ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นแล้วกว่า ๕๑,๐๓๐ คน” (สถิติเมื่อวาน ป่านนี้อาจไปถึงไหนแล้ว)

หลักใหญ่ใจความมีอยู่ว่า นอกจาก “ยังไม่นำไปสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริง เพราะยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์บางอย่าง” แล้ว ในรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันเยอะ เกณฑ์อายุคู่แต่งงานในร่างแก้ไข ให้ ๑๘ ปี แต่ของ คู่ชีวิตยัง ๑๗ ปี
 
เหตุผลของร่างแก้ไข ปรับให้ ‘บุคคลทั้งสองฝ่าย’ อายุขั้นต่ำ ๑๘ ปี เป็นสากลกับเขาหน่อย “เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” แต่ก็ยอมให้ศาลวินิจฉัยเป็นอื่นได้ตามเหตุจำเป็น เช่นถ้า “ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ (อันนี้เรื่องใหญ่เฉพาะคู่สมรสเป็นหญิงโดยกำเนิดทั้งคู่)

สิทธิอื่นๆ ของคู่สมรสตาม พรบ.เดิม ที่ชายหญิงให้ต่อกันก็ยกยอดมาให้คู่เพศเดียวกันหมด โดยเฉพาะในประเด็นการ อุ้มบุญ ส.ส.ก้าวไกล ณัฐวุฒิ บัวประทุม ชี้แจงว่า “จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.อุ้มบุญต่อไป”


ไปร่วมแสดงความเห็นกันนะ ประเทศชาติและประชาชนจะได้ ก้าวหน้าต่อไปไกลๆ