วันศุกร์, มิถุนายน 19, 2563

เผยตำรวจไทยเคยขอให้ตำรวจสากลออกหมายแดง Red Notice เพื่อจับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ แต่ตำรวจสากลไม่ออกให้อ้างเหตุผลเป็นเรื่องการเมือง ขัดหลักเกณฑ์ของตำรวจสากล



...
ตามหาวันเฉลิม เจอผังหมิ่นสถาบัน

เผยตำรวจสากลไม่ออกหมายแดงให้ไทย ชี้เป็นเรื่องการเมือง ขณะที่ทั้งตำรวจและทหารยืนยันไม่ได้ทำผังหมิ่นสถาบัน




JUNE 18, 2020
Patani Notes

กรรมาธิการกฎหมายซักถามความคืบหน้ากรณีวันเฉลิมได้ข้อมูลว่าไทยเคยขอให้ตำรวจสากลออกหมายแดงจับวันเฉลิมแต่ได้รับการปฏิเสธ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงและตำรวจต่างยืนยันไม่ได้เป็นเจ้าของผังหมิ่นสถาบันที่สื่อเอาไปลงว่าเป็นเอกสารทางราชการ ส่วนสำนักงานอัยการชี้มีช่องทางทำคดีในประเทศได้

เมื่อวานนี้คือ 17 มิ.ย. 2563 คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนได้ประชุมรับฟังข้อมูลจากหลายหน่วยงานกรณีการติดตามหาตัวนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ที่ตกเป็นข่าวถูกอุ้มหายไปที่กรุงพนมเปญเมื่อ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในการประชุมรับฟังคำชี้แจงหนนี้ ที่ประชุมพบว่า กระทรวงต่างประเทศเป็นกลไกสำคัญในการติดตามผลักดันการสอบสวนของกัมพูชาแต่ยังคงรอคำตอบ อีกด้าน สำนักงานอัยการชี้ยังมีช่องทางในการดำเนินคดีในประเทศได้โดยให้ตำรวจขอหลักฐานจากกัมพูชาและอัยการสั่งสอบได้

นอกเหนือไปจากข้อมูลเรื่องความพยายามติดตามหาตัว ในที่ประชุมได้ไต่ถามเรื่องคดีของนายวันเฉลิมว่ามีรายละเอียดอย่างไรแน่ จากการชี้แจงของตัวแทนจากตำรวจ พล.ต.ต.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ จากสนง.ตร.แห่งชาติให้ข้อมูลว่านายวันเฉลิมนั้นมีหมายจับติดตัวสามหมาย แต่เจ้าหน้าที่ดำเนินการอยู่เพียงหมายเดียว

สำหรับหมายจับนายวันเฉลิม อันแรกคือหมายจับของศาลทหารเมื่อ 8 มิย. 2557 ฐานไม่ไปรายงานตัว ถัดมาเป็นหมายของศาลอาญาออกเมื่อเดือนมิย. 2561 ข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ข้อมูลที่เป็นเท็จทำให้เสียหายต่อความมั่นคง และยังมีหมายที่สามคดีอาญาออกเมื่อ มค. 2562 ในข้อหาเดียวกัน ทั้งมีเรื่องการปลอมเอกสารราชการและนำเข้าสู่ระบบ ทุกหมายมีอายุความสิบปี แต่ในสามหมายดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการต่อเนื่องอยู่หมายเดียว นั่นคือหมายจับคดีอาญาข้อหาตามพรบ.คอมพิวเตอร์ เพราะในหนังสือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหมายระบุว่า เชื่อว่านายวันเฉลิมอยู่ในกัมพูชา ดังนั้นที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ติดต่อขอให้ตำรวจสากลออกหมายจับประเภทที่เรียกว่าหมายแดงหรือ Red Notice เพื่อให้ประเทศสมาชิกที่มีอยู่ของตำรวจสากล 192 ประเทศช่วยจับตัว อย่างไรก็ตาม ตร.สากลแจ้งว่าทำไม่ได้เนื่องจากขัดกับธรรมนูญของหน่วยงาน กล่าวคือความผิดดังกล่าวแม้จะมีตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ไทย แต่ถือว่าน่าจะเกี่ยวพันกับการเมือง การทหารหรือไม่ก็เกี่ยวพันกับศาสนาหรือเชื้อชาติ อันทำให้เป็นประเด็นข้อยกเว้นไม่อาจออกหมายแดงหรือเรดโนติสให้ได้ หลังจากนั้นมีสส.สอบถามต่อเนื่องว่า จนท.ตร.ดำเนินการเช่นนี้เท่ากับมีความรู้ว่านายวันเฉลิมอยู่กัมพูชา ได้มีการประสานเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่อย่างไร ได้รับคำตอบว่า เจ้าของสำนวนคดียังไม่ได้ทำคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ในด้านการติดตามกระบวนการสืบสวนสอบสวนของกัมพูชานั้น นายธนา เวสโกสิทธิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลว่า หลังทราบเรื่องหายตัวของนายวันเฉลิมในวันที่ 4 มิย. สถานทูตไทยในกรุงพนมเปญได้ทำหนังสือยื่นกับรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบของกัมพูชาทันทีในวันที่ 5 มิย. ซึ่งสำหรับตนถือว่าเป็นการดำเนินการที่รวดเร็ว นอกจากนั้นตัวแทนของกระทรวงยังได้พบปะกับญาติของนายวันเฉลิม ให้ข้อมูลการดำเนินการของกระทรวง เจ้าหน้าที่ของสถานทูตยังไปขอพบและติดตามความคืบหน้ากับกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา และที่ผ่านมา กัมพูชามีหนังสือแจ้งข้อมูลกับสถานทูตว่า ในช่วงปี 2557-2558 นายวันเฉลิมมีประวัติการเข้าออกกัมพูชาหลายครั้ง วีซ่าหลังสุดที่มีคือถึงเดือนธค.ปี 2560 หลังจากนั้นไม่ได้มีการต่ออายุอีก กระทรวงยังส่งข้อมูลหมายเลขทะเบียนรถที่คาดว่าเป็นของผู้ลงมือก่อเหตุ อันเป็นข้อมูลที่ได้มาจากครอบครัวให้กับทางการกัมพูชาด้วย

รองปลัดกระทรวงต่างประเทศยืนยันว่า สิ่งที่ไทยทำได้ในกรณีนี้คือขอความร่วมมือ ขอข้อเท็จจริง ในกรณีที่มีการเพิกเฉย “ถ้ามีการเพิกเฉยไม่ทำในเวลาที่เหมาะสม สิ่งที่ทำได้คือจะมีการกดดันจากรัฐบาลถึงรัฐบาลในทุกเรื่อง ประเด็นพวกนี้จะถูกยกขึ้น” ทว่าในส่วนกระบวนการยุติธรรมของกัมพูชา รัฐบาลต้องระวังไม่เข้าไปก้าวก่าย เหมือนที่ไทยก็ไม่ต้องการให้ใครเข้ามาแทรกแซงกระบวนการภายในของตัวเอง ดังนั้นต้องให้เวลา

อย่างไรก็ตามนายณัฐ นิมิตชัยธรรม ผู้แทนของสำนักงานอัยการแจ้งที่ประชุมว่ากรณีเช่นนี้ไทยยังสามารถทำคดีได้ แม้ว่าเรื่องจะเกิดนอกราชอาณาจักร เพราะถือว่าเป็นความผิดต่อเสรีภาพถือเป็นอาญาแผ่นดิน ตำรวจสามารถขอพยานหลักฐานจากกัมพูชาและอัยการเป็นพนักงานสอบสวนได้ หรือไม่ก็สามารถส่งเรื่องให้กับอัยการสูงสุดเพื่อให้มอบหมายภาระการสอบสวน ไทยและกัมพูชามีความร่วมมืออยู่แล้วทั้งช่องทางระหว่างสองประเทศและยังเป็นภาคีผ่านการเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย สิ่งที่ต้องทำเพื่อเริ่มกระบวนการนี้คือการแจ้งความกับพนักงานสอบสวน หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดขอให้พิจารณาจะให้ใครเป็นผู้สอบสวน ข้อเสนอของผู้่แทนสำนักงานอัยการทำให้ที่ประชุมเสนอให้ครอบครัวหาข้อมูลเพิ่มเติมกับตัวแทนสำนักงานอัยการเพื่อสานต่อกระบวนการดังกล่าวทันที

ในส่วนกระทรวงยุติธรรมชี้แจงได้ใจความสั้นๆว่า เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นนอกประเทศ กลไกของกระทรวงยุติธรรมนั้นติดตามได้เฉพาะกรณีที่เกิดในไทย กระทรวงได้แต่ติดตามผ่านกลไกของกระทรวงต่างประเทศ ในขณะที่พยายามผลักดันกฎหมายในเชิงป้องกันต่อไป

การชี้แจงจากผู้แทนหน่วยราชการเรียกปฏิกิริยาสองอย่าง ด้านหนึ่งมีผู้แสดงความพอใจว่ากระทรวงต่างประเทศทำงานอย่างรวดเร็ว อีกด้านกลับมีผู้เห็นว่า การทำงานของหน่วยงานราชการว่ายังไม่เต็มที่ สส.อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ที่เป็นทนายความสิทธิมนุษยชนบอกว่า การเคลื่อนไหวของหน่วยงานราชการที่ไม่เป็นไปในเชิงรุกทำให้หลายคนเริ่มคิดว่าเพราะนายวันเฉลิมถูกกล่าวหาเรื่องการเมืองหรือไม่ การดำเนินการจึง “ทำไม่สุดทาง” แม้ว่าแต่ละคนจะทำหน้าที่ตัวเองก็ตาม มีที่ปรึกษาของกรรมาธิการอีกบางคนชี้ว่าจนท.ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นโดยเฉพาะในกรณีคนหายเพราะเวลาที่ผ่านไปมีค่ากับชีวิต

ส่วนสส.รังสิมันต์ โรม ชี้ปัญหาเรื่องข้อมูลที่กระพือประเด็นว่านายวันเฉลิมอยู่ในขบวนการหมิ่นสถาบัน ซึ่งมีผู้ทำผังระบุชื่อบุคคลและความโยงใยและสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง แต่ทว่าหลังจากที่นายวันเฉลิมถูกอุ้ม จนท.ได้ออกมายืนยันว่า นายวันเฉลิมไม่มีคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 เขาชี้ว่า ข้อมูลเช่นนี้ควรจะชัดเจนแต่แรก เพราะอาจเป็นไปได้ด้วยว่าหากนายวันเฉลิมรู้ตัวก็อาจจะตัดสินใจกลับไทยมาสู้คดีที่ติดค้างอยู่ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องหมิ่นสถาบันก็เป็นได้ กรณีผังหมิ่นสถาบันกลายเป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามต่อเนื่อง โดยนส.พรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษากรรมาธิการได้นำผังหมิ่นสถาบันดังกล่าวไปแสดงพร้อมชี้ว่าสื่อมวลชนหลายรายรวมไปถึงเวบข่าวของบีบีซีก็ได้นำไปเผยแพร่ต่อโดยระบุว่าเป็นเอกสารของหน่วยงานความมั่นคงของไทย ซึ่งในผังระบุกลุ่มบุคคลสี่ประเภทที่อยู่ในข่ายหมิ่นสถาบัน มี 40 รายด้วยกัน มีทั้งกลุ่มที่พาดพิงสถาบัน กลุ่มที่พาดพิงการเมือง โดยนายวันเฉลิมอยู่ในกลุ่มนี้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ให้สัมภาษณ์ในระยะหลังว่านายวันเฉลิมไม่ได้เป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน ดังนั้นจึงมีคำถามว่าใครทำผังนี้และต้องการอะไร

ในเรื่องนี้ตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาปฏิเสธในที่ประชุมว่าไม่ได้เป็นคนจัดทำผังพร้อมยืนยันว่า หากเป็นผังของจนท.ตำรวจจะเป็นผังคดี ไม่มีผังรวมๆเช่นนี้ และบอกว่าไม่ทราบว่าเป็นใครทำ ด้านพล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบกก็ยืนยันว่าไม่เคยเห็นผังดังกล่าวมาก่อน พร้อมกับชี้ว่า เพจกูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ ที่เชื่อว่านายวันเฉลิมดูแลนั้น หากดูจากในเพจจะพบว่านายวันเฉลิมโพสต์เรื่องการเมือง ไม่มีเรื่องสถาบัน

ที่น่าสนใจคือในเรื่องการดำเนินคดี 112 พล.ต.บุรินทร์ระบุว่า ในช่วงสองสามปีหลังมานี้มีคำสั่งให้ยุติการแจ้งความดำเนินคดีหรือให้พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการแจ้งความตามมาตรา 112 แต่ให้ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพราะเรื่องการบังคับให้สูญหายหรือการอุ้มเป็นเรื่องผิดกฎหมาย “เรายึดมั่นเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีเองก็ยึดมั่นให้ดำเนินการตามกฎหมาย ดำเนินตดี ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น”

อย่างไรก็ตาม คำถามของสส.รังสิมันต์ในเรื่องรายละเอียดว่า การหันไปใช้กฎหมายอื่นเอาผิดผู้ที่ทางจนท.เห็นว่าทำผิดในเรื่องมาตรา 112 นั้นทางจนท.ตร.ใช้กฎหมายใดแทนบ้าง เป็นคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบชัดเจน พล.ต.บุรินทร์ตอบแต่เพียงว่า การทำความผิดในเรื่องนี้ต้องชัดเจนก่อนจะดำเนินคดี

ในที่ประชุมเดียวกันนี้ ตัวแทนของสนง.ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า ทราบว่าไทยกำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมายเพื่อป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย สิ่งที่กังวลในเวลานี้คือไทยยังขาดการให้คำนิยามเรื่องการบังคับให้สูญหาย ไม่ได้ระบุว่าการบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญาและให้กำหนดเอาไว้ในกฎหมายภายในประเทศ และในช่วงที่ผ่านมา ไทยกลับมีกรณีคนถูกบังคับให้หายตัวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายกรณี ในขณะที่ยังไม่ปรากฎว่ามีการดำเนินการในคดีบังคับให้สูญหายจนได้ข้อยุติแต่อย่างใด ข้อเป็นห่วงคือกฎหมายอาญาไทยยังไม่คุ้มครองเรื่องการทรมานและสูญหาย

ในที่ประชุม หลายคนแสดงความเห็นว่าการจับกุมนักกิจกรรมที่ออกไปเรียกร้องการติดตามกรณีวันเฉลิมฐานฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง รวมไปถึงกรณีที่มีการส่งจนท.ตร.ไปที่บ้านญาตินายวันเฉลิมก่อนที่จะหายตัวไป ว่าเป็นหน่วยงานใดและเพื่อจุดประสงค์ใด สุนัย ผาสุก แห่งกลุ่มฮิแมนไรซ์วอชระบุว่า นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวกรณีวันเฉลิมถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามพรก.ฉุกเฉินฯ นั้น ตนเองว่าเรื่องนี้เป็นการข่มขู่ คุกคาม และต้องตรวจสอบว่าเป็นคำสั่งในเชิงนโยบายหรือไม่ นายสุนัยระบุว่าสำหรับกลุ่มฮิวแมนไรซ์วอช นายวันเฉลิมถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยเพราะมีความหวาดกลัวจนต้องหลบหนี ไม่จำเป็นว่าจะต้องจดทะเบียนหรือไม่ นอกจากนายวันเฉลิมที่เป็นรายที่ 9 ก็ยังมีคนไทยที่ไปอยู่ลาว เวียดนาม ถูกอุ้มหายหรือเป็นศพถูกคว้านท้อง ขณะที่กรณีถูกฆ่าทุกกรณีคดีไม่มีความคืบหน้า