วันศุกร์, มิถุนายน 12, 2563

ราคาที่ต้องจ่ายของการ Lockdown



ภาพจาก AP

ราคาที่ต้องจ่ายของการ Lockdown ยกที่ 1

แม้ตอนนี้ตัวเลขคนติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นวันละ 100,000 - 130,000 คนติดต่อกันเป็นวันที่ 13 แต่ในทางกลับกันมีการเปิดเมืองเกือบหมดแล้วทั่วโลก

บางประเทศประกาศชัยชนะ

บางประเทศมีการลุกฮือทวงคืนอิสรภาพ

บางประเทศทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว เพราะได้เรียนรู้แล้วว่าการปิดเมืองไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

ผลตอบรับของตลาดหุ้นทั่วโลกเด้งขึ้นมา อย่างกับว่าเรื่องที่ผ่านมา 3 เดือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มีเหตุผลอ้างว่า
✓ เฟดอัด QE แบบไม่จำกัด
✓ แบงค์ชาติทั่วโลกยืดการจ่ายหนี้ให้ลูกหนี้
✓ ดอกเบี้ยต่ำสุดทั่วโลก
✓ เมื่อหนี้รัฐเยอะ เงินจึงไหลมาตลาดทุนดันราคาสินทรัพย์ ให้หนี้ไม่ท่วม??
✓ จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจผ่านไปแล้ว

เมื่อเครื่องมือที่อัดมามากมายขนาดนี้ ถามว่าการ Lockdown ที่ผ่านมาไม่มีบาดแผลอะไรเกิดขึ้นเลยจริงหรือไม่?

หากยังมีสติอยู่ ก็ต้องบอกเลยว่า "ไม่จริง"

1) GDP ไตรมาสแรก
- สหรัฐ +0.23%
- จีน -6.8%
- ญี่ปุ่น -1.7%
- เยอรมัน -2.3%
- ไทย ไม่ประกาศ (สภาพัฒน์ประเมินไว้ -1.8%)

บาดแผลจากการ Lockdown ได้สะท้อนออกมาในไตรมาสแรกแล้ว และจะยิ่งเห็นชัดในไตรมาส 2

2) อัตราคนตกงาน
- สหรัฐ 13.3% ปกติจะอยู่ 3.5%
- จีน 6% ปกติจะอยู่ 4%
- ญี่ปุ่น 2.6% ปกติจะอยู่ 2.4%
- เยอรมัน 6% ปกติจะอยู่ 3.5%
- ไทย หาค่าไม่ได้เพราะคงที่ๆ 1% มาเกือบ 10 ปีแล้ว

การปลดคนงานเกิดขึ้นรายวันกันจนชินชา (แต่คนที่โดนปลดคงไม่ชินเท่าไหร่)

3) การล้มละลาย
- แม้จะเห็นแค่ข่าวบริษัทชื่อดัง อาทิ บริษัทเช่ารถ สายการบิน ห้าง ขุดเจาะน้ำมัน ร้านอาหาร โรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ แต่ตัวบริษัท SME ที่ล้มละลายหายไปคงมีไม่น้อย

- สะเก็ดแผลที่ตามมา อาทิ ปัญหาหนี้เสียของบริษัทที่ล้ม คนงานในบริษัทต้องตกงาน และ ผู้ถือหุ้นเดิมเตรียมตัวโดน Dilute หรือตีเป็นศูนย์ไปได้เลย

4) ตัวเลขที่สำคัญอื่นๆ
- นักท่องเที่ยวหายไปเป็น 0 คน ในเดือนเมษายน
- ยอดขายรถยนต์ตกไป -60-70%
- กิจการโรงแรมประกาศขายกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ
- อสังหายอดตก จนต้องมาผ่อนให้ฟรี 2 ปี

5) ปัญหาหนี้เสียก้อนใหญ่
- เป็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้นมาแล้ว แต่โดนชะลอเวลาไว้โดยแบงค์ชาติทั่วโลก

- ต้องถามว่าเราเชื่อมั่นหรือไม่ ว่าการเลื่อนหนี้ให้ 3-6 เดือนและยื่นเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ สามารถแก้ปัญหาได้จริง? เพราะเนื้อแท้ของปัญหา ไม่ใช่คนขาดสินเชื่อ แต่เป็นคนขาดรายได้ต่างหาก

- ทุกคนกำลังพยายามเอาผ้ามาปิดแผลที่เป็นหนอง และให้กินข้าวเยอะๆหวังว่าสารอาหารจะไปซ่อมแซมแผลให้หายสักวันนึง แต่กลับไม่ยอมเปิดปากแผลขูดหนองออก และเอาเบตาดีนทาให้เรียบร้อย

==========================================
ทั้งหมดคือตัวอย่างบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการ Lockdown ยกที่ 1 ซึ่งจริงๆคงมีหลายภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากกว่านี้

ว่ากันว่าโควิด บีบให้เราเลือกระหว่างชีวิตกับเศรษฐกิจจะเลือกอะไร ?

ณ ตอนนี้คงบอกได้ว่า ทุกรัฐบาลจำใจเลือกเศรษฐกิจเป็นตัวนำ ส่วนชีวิตก็ควบคุมดูแลตัวเองกันไปตามสมควร

ถามว่า Second Wave ของการระบาดจะไม่น่ากังวลแบบที่นักวิเคราะห์บอกจริงหรือไม่?

ผมคงตอบให้ไม่ได้จริงๆ

เพราะขี้นกับ Capacity ของอุปกรณ์แพทย์และเตียง VS จำนวนคนป่วยในระบบ ตราบใดที่ Capacity ยังสูงกว่า คนป่วยอาการหนักในระบบ

การ Lockdown คงไม่มีวันเกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะขนาด Lockdown ยกแรกยังยับขนาดนี้ คงไม่มีใครกล้าเสี่ยง หากเตียงนอนยังเพียงพอรองรับ

ยกเว้นแต่ว่า วันใดที่คนป่วยเริ่มล้น โรงพยาบาล อีกครั้ง ก็ไม่แน่ว่าผู้มีอำนาจต้องถูกบีบจากประชาชนให้เลือกสิ่งที่เป็นหายนะของธุรกิจคือการ Lockdown ยกที่ 2

และหากเป็นแบบนี้ สายป่านแรกที่หมดไปช่วงยกที่ 1 + สายป่านสองที่มาจาก Soft Loan ที่พึ่งกู้มาฟื้นกิจการ คงได้พาธุรกิจหลายแห่งเข้า ICU ของจริง เพราะหนี้ก็ท่วมแถมส่วนทุนอาจติดลบในยกนี้

แอดหวังว่าการเปิดเมืองทั่วโลกจะไม่พาสถานการณ์ไปสู่จุดนั้น

ทบทวนกันเบาๆ ก่อนดูตัวเลขไตรมาส 2 เพราะ

"ราคาคือสิ่งที่ต้องจ่าย มูลค่าคือสิ่งที่คุณได้รับ"

สุดท้ายนี้แอดหวังว่าแบงค์ชาติจะมีมาตรการให้ประชาชนยืมเงิน Softloan มาลงทุนบ้างแบบที่ธุรกิจ SME ได้รับ

บางคน จะได้เอาไปลงในช้าง
บางคน จะได้เอาไปลงในเสือ
ส่วนแอด จะได้เอาไปลงในอ่าง เอ้ย ไม่ใช่! :3

#SoloInvestor


Solo Investor