ภาพจาก Political Prisoners in Thailand
ผมได้ติดตามการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 10 มิถุนายน รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้สด กรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกบังคับให้สูญหายที่กรุงพนมเปญ โดยมี สมศักดิ์ เทพสุทิน รมต.ยุติธรรม และดอน ปรมัตถ์วินัย รมต.ต่างประเทศ เป็นผู้ตอบ ตอนหนึ่ง รมต.ต่างประเทศได้ตอบว่า
“ที่พยายามจะโยงไปถึงกฎหมายอาญา ม. 112 หรืออะไรก็แล้วแต่ ครั้งหนึ่งก็จำได้ว่ามีกลุ่มทูตกลุ่มหนึ่งซึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ 28 ประเทศ แต่ว่ามาพบประมาณ 22 ประเทศ และมีการคุยกันหลายเรื่อง ในเรื่องหนึ่งมีการยกประเด็นนี้คล้ายคลึงกันก็ได้มีคำตอบไปว่า ม.112 เป็นเหมือนกับกฎหมายที่มีอยู่ในทุกประเทศในความหมายของการเป็นกฎหมายเฉพาะถิ่น เฉพาะที่ เฉพาะตามความจำเป็นของประเทศนั้นๆ ซึ่งเชื่อว่าทุกประเทศก็มีกฎหมายลักษณะนี้อยู่ในกฎหมายอาญาของเขา ได้ตอบไปเช่นนั้น และถามไปด้วยซ้ำว่า เป็นเช่นนั้นหรือไม่ ทุกประเทศผงกศีรษะและตอบรับว่าใช่ ทุกประเทศมีกฎหมายอาญาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคม ปัญหาต่างๆ ที่แต่ละประเทศมีอยู่ ซึ่งไม่ต่างกับ ม.112 เพียงแต่ว่าบริบทอาจจะคนละเรื่องกัน แต่เป็นพิเศษเพื่อตอบสนองความจำเป็นของสังคมมีอยู่เช่นนั้นจริง ก็มีคำถามต่อไปว่าแล้ว ม.112 เป็นที่เดือดร้อนของคนไทยเท่าไหร่ จาก 22 ประเทศที่มานั่งคุยกัน เขาก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน แต่เขาเพียงได้รับฟังมาจากเพื่อนคนไทยหรือใครก็แล้วแต่ในแวดวงการเมืองว่ามีปัญหากับ ม.112 ก็เลยต้องชี้แจงไปว่า ม.112 ถ้าจะพูดถึงคนที่ห่วงใยและห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาตรานี้ในกฎหมายอาญา ก็คงจะแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ จะเรียกว่ากลุ่มใหญ่เท่ากันก็คงไม่ได้ กลุ่มแรกคือ 67 ล้านคนที่ไม่เห็นเป็นปัญหา อีกกลุ่มนึงอาจจะประมาณไม่ถึง 100 คนที่เห็นเป็นปัญหา”
ผมเห็นว่าสิ่งที่ รมต. ต่างประเทศพูดในสภานั้นไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เพื่อมิให้ผู้ฟังเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการคล้อยตาม รมต. ต่างประเทศ ผมจึงจำเป็นต้องอธิบายเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประเทศต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่า กรณีของประเทศไทยนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นมาก จนไม่สามารถยกเหตุผลทำนองว่า "ใครๆ ก็มีที่ไหนๆ ก็ใช้" มาอ้างได้อีกต่อไป โดยผมคัดบางส่วนจากบทความและการอภิปรายของผมในช่วงรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ร่วมกับคณะนิติราษฎร์และ ครก. 112 ถ้าผู้ใดประสงค์อ่านฉบับเต็ม สามารถค้นได้ในหนังสือ "ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป" ซึ่งเป็นรวมบันทึกข้อเขียนและอภิปรายของผมในช่วงปี 2553-2556 ดังนี้
...
ความผิดฐาน Lèse Majesté มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อเป็นเครื่องมือในกระบวนการทำให้องค์อธิปัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนจากบุคคลธรรมดาให้เป็น Majesty ทั้งฝ่ายศาสนจักร และฝ่ายอาณาจักร ต่างก็นำไปใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จนกระทั่งเข้าสู่ยุค enlightenment เริ่มวิจารณ์กันว่า กฎหมายแบบนี้ไม่ถูกต้อง Montesquieu เขียนไว้ในหนังสือชื่อ L’Esprit des lois ในบทที่ว่าด้วย Lèse Majesté ว่า การกำหนดความผิดฐาน Lèse Majesté ไว้อย่างกว้าง ทำให้รัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบ Cesare Beccaria เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “ความผิดและการลงโทษ” เสนอว่าโทษต้องได้สัดส่วนกับลักษณะของการกระทำที่เป็นความผิด และไม่สนับสนุนโทษประหาร ในบทหนึ่งเขาพูดเรื่อง Lèse Majesté ไว้ว่า บรรดาทรราชและผู้โง่เขลา ได้ให้ชื่อ Lèse Majesté แก่โทษที่บ้าบอคอแตก โดยมีการนำมาใช้ในลักษณะที่แตกต่างกันไป โอกาสแบบนี้ที่เกิดขึ้นมา มันทำให้มนุษย์ตกเป็นเหยื่อของคำ ๆ นี้
ลองมาสำรวจดูความผิดฐาน Lèse Majesté ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
กลุ่มแรก ไม่มีความผิดฐาน Lèse Majesté ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเหมือนบุคคลทั่วไป
๑. ญี่ปุ่น
ไม่มี
๒. สหราชอาณาจักร
ไม่มี ใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการหมิ่นประมาท ๑๙๙๖ ซึ่งไม่ปรากฏว่ากำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์แยกออกจากบุคคลธรรมดา ความผิดตาม พ.ร.บ.นี้มีโทษปรับเท่านั้น
กลุ่มที่สอง มี แต่ไม่นำมาใช้ หรือแทบไม่นำมาใช้ หรือหากนำมาใช้ ก็เพียงลงโทษปรับ
๑. เบลเยียม
· พระราชบัญญัติลงวันที่ ๖ เมษายน ๑๘๔๗ ว่าด้วยการลงโทษอาญาในความผิดฐานละเมิดกษัตริย์
· มาตรา ๑ กำหนดโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ไว้ที่ จำคุก ๖ เดือน ถึง ๓ ปี หรือปรับ ๓๐๐ ฟรังค์ ถึง ๓,๐๐๐ ฟรังค์
· มาตรา ๒ กำหนดโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทสมาชิกในครอบครัวกษัตริย์ไว้ที่ จำคุก ๓ เดือน ถึง ๒ ปี หรือปรับ ๑๐๐ ถึง ๒,๐๐๐ ฟรังค์
· แทบไม่เคยนำมาใช้
๒. เนเธอร์แลนด์
· ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๑ ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับอัตราลำดับที่สี่
· ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ความผิดฐานหมิ่นประมาทคู่สมรสกษัตริย์ รัชทายาท คู่สมรสของรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีโทษจำคุกไม่เกิน ๔ ปี หรือปรับตามอัตราลำดับที่สี่
· แทบไม่ได้นำมาใช้ จนกระทั่งปี ๒๐๐๗ ศาลพิพากษาลงโทษชายคนหนึ่งที่ด่าพระราชินีบรีอาทิซว่า “อีกะหรี่” ด้วยการปรับเงิน ๔๐๐ ยูโร
๓. เดนมาร์ก
· ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ กำหนดให้ความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน ๔ เดือน ในกรณีหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา ๑๑๕ กำหนดว่า อัตราโทษอาจเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า และในกรณีหมิ่นประมาทพระราชินี หรือรัชทายาท มาตรา ๑๑๖ กำหนดว่า อัตราโทษอาจเพิ่มขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง
· ในประวัติศาสตร์ มาตรา ๑๑๕ และมาตรา ๑๑๖ ไม่เคยถูกนำมาบังคับใช้
๔. นอร์เวย์
· ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๐๑ วรรคสอง ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี
· ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๐๓ กำหนดให้การร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะริเริ่มได้แต่โดยคำสั่งของกษัตริย์หรือด้วยความยินยอมของกษัตริย์
· แทบไม่เคยนำมาใช้ จนเสมือนว่ามาตรา ๑๐๑ วรรคสอง ตายไปแล้ว
๕. สวีเดน
· ประมวลกฎหมายอาญา บทที่ ๑๘ ส่วนที่สอง กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และหมิ่นประมาทที่กระทำต่อกษัตริย์ สมาชิกในครอบครัวกษัตริย์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๔ ปี ในกรณีที่ความผิดนั้นหากกระทำต่อบุคคลธรรมดาแล้วมีโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน
· และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ ปี ในกรณีที่ความผิดนั้นหากกระทำต่อบุคคลธรรมดาแล้วมีโทษจำคุก ๖ เดือนแต่ไม่เกิน ๔ ปี
· ความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มีโทษปรับ, ความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาอย่างร้ายแรง มีโทษปรับ หรือจำคุกไม่เกิน ๒ ปี, ความผิดฐานดูหมิ่นบุคคลธรรมดา มีโทษปรับ, ความผิดฐานดูหมิ่นบุคคลธรรมดาอย่างร้ายแรง มีโทษปรับ หรือจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน
· ดังนั้น เมื่อนำอัตราโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาและดูหมิ่นบุคคลธรรมดา มาพิจารณากรณีที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นถูกกระทำต่อกษัตริย์แล้ว ย่อมสรุปได้ ดังนี้
· หมิ่นประมาทกษัตริย์ สมาชิกในครอบครัวกษัตริย์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โทษปรับ
· หมิ่นประมาทกษัตริย์ สมาชิกในครอบครัวกษัตริย์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อย่างร้ายแรง มีโทษปรับ หรือโทษจำคุกไม่เกิน ๖ ปี
· ดูหมิ่นกษัตริย์ สมาชิกในครอบครัวกษัตริย์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โทษปรับ
· ดูหมิ่นกษัตริย์ สมาชิกในครอบครัวกษัตริย์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อย่างร้ายแรง มีโทษปรับ หรือโทษจำคุกไม่เกิน ๔ ปี
๖. สเปน
· ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๐๙ วรรคสาม ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น จำคุก ๖ เดือน ถึง ๒ ปี ในกรณีร้ายแรง และปรับเทียบเท่าอัตรา ๖ เดือน ถึง ๑๒ เดือน ในกรณีไม่ร้ายแรง
· เดือนพฤศจิกายน ๒๐๐๗ ศาลพิพากษาให้ยึดหนังสือพิมพ์ El Jueves และสั่งปรับ ๓๐๐๐ ยูโร จากกรณีวาดการ์ตูนล้อมกุฎราชกุมารเฟลิเป้ร่วมเพศในท่าด็อกกี้กับเจ้าหญิงเลติเซีย
· วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๐๑๑ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ในคดี Otegi Mondragon v. Spain วินิจฉัยว่าการที่ศาลสเปนพิพากษาให้นาย Otegi Mondragon จำคุก ๑ ปีในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา ๔๐๙ วรรคสาม เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา ๑๐ ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป ให้รัฐสเปนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางจิตใจให้แก่นาย Otegi Mondragon เป็นจำนวนเงิน ๒๐,๐๐๐ ยูโร และชดใช้ค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายจากการดำเนินคดีในศาลเป็นจำนวนเงิน ๓,๐๐๐ ยูโร
กลุ่มที่สาม มีและนำมาใช้ แต่อัตราโทษต่ำกว่าราชอาณาจักรไทย
โมร็อกโก
· ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๙
· หากกระทำต่อกษัตริย์หรือรัชทายาท มีโทษจำคุก ๑ ปีถึง ๕ ปี หรือ ปรับ ๒๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ ดีร์แฮม
· หากกระทำต่อทายาท ทายาทที่เป็นหลานสายตรง คู่สมรส พี่ชายหรือน้องชาย ลูกของพี่ชายหรือน้องชาย พี่สาว ลุง มีโทษจำคุก ๖ เดือนถึง ๒ ปี หรือปรับ ๒๐๐ ถึง ๕๐๐ ดีร์แฮม
เมื่อได้อ่านจนจบแล้ว คงเห็นตรงกันว่า ข้ออ้างที่ว่า "ใครๆ ก็มี ประเทศไหนๆ ก็ใช้" เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก จนไม่อาจถูกนำมายกตอบโต้ได้อีกต่อไป
กรณีที่แฮชแท็ก #ยกเลิก112 ซึ่งขึ้นเทรนด์ในทวิตเตอร์ ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112 กลับมา ท่านใดสนใจอยากให้กลับไปย้อนอ่านบันทึกข้อเขียนและการอภิปรายของผมในหนังสือ “ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป” หน้า 90-107
#ประชุมสภา #Saveวันเฉลิม
Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
(https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/photos/a.2260389780911559/2725953244355208/?type=3&theater)