วันศุกร์, มิถุนายน 12, 2563

เตือนความจำนายดอน ปรมัตถ์วินัย ทูตต่างชาติคิดอย่างไรกับมาตรา 112



เตือนความจำนายดอน ปรมัตถ์วินัย ทูตต่างชาติคิดอย่างไรกับมาตรา 112

ในการตอบกระทู้ในสภาของฝ่ายค้านกรณีอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (ต้า) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีก.ต่างประเทศ อ้างว่าตนได้เคยสนทนากับทูตานุทูต 22 ประเทศเมื่อ 2-3 ปีก่อนเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สรุปใจความได้ว่าบรรดาทูตต่างยอมรับว่ากฎหมายนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไร ทุกประเทศล้วนมีกฎหมายทำนองนี้ทั้งนั้น นายดอนยังบอกกับทูตว่าในบรรดาคนไทย 67 ล้วนคน อาจจะมีไม่ถึง 100 คนที่คิดว่ากฎหมายนี้มีปัญหา

การสนทนาที่นายดอนอ้างถึงนี้เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร ใครเข้าร่วมประชุมบ้าง บทสนทนาเป็นดังที่นายดอนอ้างถึงจริงหรือไม่ นายดอนไม่สามารถแสดงหลักฐานให้เราหายแคลงใจได้ แต่ข้อมูลที่ดิฉันจะนำมาเตือนความจำนายดอนต่อไปนี้ มีแหล่งอ้างอิง ระบุตัวผู้พูดได้แน่นอน เป็นข้อมูลที่ชี้ว่าที่ผ่านมาตัวแทนหรือองค์กรระหว่างประเทศใดบ้างที่มีปัญหากับมาตรา 112 ของไทย

1. มกราคม 2556 สหภาพยุโรปหรืออียู จัดเสวนา “การสร้างความปรองดองและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” โดยยกตัวอย่างกรณีมาตรา 112 และการตัดสินคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ขึ้นมาอภิปราย[1]

2. พฤษภาคม 2559 นายกลิน เดวีส์ ทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย กล่าวที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย ว่าห่วงใยสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย อันเนื่องมาจากการบังคับใช้มาตรา 112 [2]

3. พฤษภาคม 2559 ที่ประชุม The Universal Periodic Review ของยูเอ็นว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ไทยถูกนานาชาติตั้งคำถามเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่า 300 รายการ หนึ่งในหัวข้อที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากคือมาตรา 112 เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้หนังสือพิมพ์ทั่วโลกพาดหัวข้อว่า “Thailand faces ‘moment of shame’ at UN rights council review’ (ไทยเผชิญกับ “ช่วงเวลาแห่งความอับอาย” ในการทบทวนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น) ประเทศที่ตั้งคำถามกับไทยมีมากมาย เช่น เบลเยี่ยม เชค เนเธอร์แลนด์ ลีคเทนสไตน์ สโลวาเนีย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ สวีเดน อังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ [3]

4. กุมภาพันธ์ 2560 นายเดวิด เคย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการบังคับใช้ มาตรา112 เพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เขายังแสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีต่อไผ่ ดาวดิน [4]

5. มิถุนายน 2560 โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความวิตกกังวลและหนักใจต่อการบังคับใช้ จำนวนคดีที่เพิ่มสูง และบทลงโทษคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 และเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้ [5]

เหล่านี้เป็นข้อมูล “บางส่วน” เท่านั้น หากนายดอนจะลองค้นกูเกิ้ลด้วยคำว่า “Thailand, Lese majeste law/Article 112” ก็จะพบว่านับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ปัญหานี้ทำให้ประเทศไทยได้ขึ้นพาดหัวข่าวของสำนักข่าวทั่วโลกมากมายเพียงใด

ต่อประเด็นที่นายดอนกล่าวว่าน่าจะมีคนไทยไม่ถึง 100 คนที่มีปัญหากับกฎหมายนี้ ดิฉันอยากให้ข้อมูลว่าในต้นปี 2555 คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ประสงค์จะแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งหมดได้ 39,185 รายชื่อ และเมื่อคัดแยกรายชื่อที่ซ้ำหรือเอกสารไม่ครบออก เหลือรายชื่อทั้งหมด 26,968 รายชื่อ ครก.112 ได้ยื่นรายชื่อพร้อมร่างแก้ไขกฎหมายที่จัดทำโดยคณะนิติราษฎร์ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555

รายชื่อกว่าสามหมื่นนี้ได้มาท่ามกลางการถูกกีดกันโจมตีสารพัด สื่อกระแสหลักหากไม่โจมตีป้ายสี ครก.112 ก็ปฏิเสธไม่ยอมนำเสนอข่าวเพื่อปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน แม้แต่พรรคการเมืองใหญ่บางพรรคที่อ้างประชาธิปไตยในขณะนั้นก็สร้างอุปสรรคให้กับรณรงค์ในต่างจังหวัด จนบางครั้งต้องย้ายเวทีจากห้องประชุมที่เป็นกิจลักษณะไปใช้ศาลาวัดแทน อีกทั้งมีการพยายามสร้างความเข้าใจผิดจนประชาชนจำนวนมากไม่กล้าลงชื่อ นักวิชาการที่ร่วมในครก. 112 บางคนถูกทำร้าย-ข่มขู่ สิ่งนี้หมายความว่าหากเรามีเสรีภาพที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของกฎหมายนี้ได้อย่างแท้จริง เชื่อว่ารายชื่อของผู้ที่ต้องการเห็นการแก้ไขกฎหมายนี้จะมีมากกว่านี้หลายเท่าตัวอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้ ประเด็นที่ครก.112 รณรงค์ดูจะเชยไปเสียแล้ว ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อกฎหมายฉบับนี้ไปไกลกว่าการแก้ไขกฎหมายแล้ว

เพิ่มเติม - เชิงอรรถ
1. https://www.voicetv.co.th/read/61841
2. https://www.matichon.co.th/politics/news_138022
3. https://www.jpost.com/breaking-news/thailand-faces-moment-of-shame-at-un-rights-council-review-453706; ดูรายละเอียดของประเด็นที่เป็นปัญหาใน https://freedom.ilaw.or.th/en/report/may2015
4. https://www.bbc.com/thai/thailand-38894463?ocid=socialflow_facebook
5. https://www.bbc.com/thai/international-40260524; https://www.bbc.com/news/world-asia-40298570
https://ilaw.or.th/node/1566

เพิ่มเติม 2...สภาโยนทิ้งร่างแก้ไขที่ครก.112 ยื่น ไม่มีการบรรจุในญัตติเพื่อพิจารณาแต่ประการใด
...