วันอังคาร, มิถุนายน 09, 2563

ชีวิต"ต้าร์" และการหายตัวไป ทำให้ชีวิตหลายคนเปลี่ยน...




“ต้าร์เป็นเด็กร่าเริง ขี้เย้าขี้หยอก ผู้ใหญ่จะเอ็นดูเขาทุกคน สมัยๆเด็กนี่ ชอบบีบนวด เหยียบหลังคนเฒ่าคนแก่ ได้เงิน 5-10 บาท เขาชอบทำแบบนั้น ใครอยู่ใกล้จะชอบเขา เป็นเด็กใช้ง่าย ให้หยิบจับอะไรทำได้หมด
.
“ต้าร์เป็นน้องที่พี่สนิทที่สุด ได้เลี้ยงเขามา โตมาด้วยกัน เรามีกันสี่คนพี่น้อง สมัยเด็กๆ ก็นอนเรียงกันเลย ดีกันบ้าง ตีกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ตามประสาเด็ก ก็เล่นกัน คุยกันทุกเรื่องเขาโตขึ้นมาก็ชอบทำกิจกรรม ตอนมัธยม เขาเป็นประธานนักเรียน ชอบทำโน้นนี่ตลอด ไม่หยุดนิ่ง
.
“ตอนเขามาเรียนมหาลัยที่กรุงเทพฯ เขาทั้งเรียน ทั้งทำกิจกรรม และทำงานไปด้วย สมัยนั้นพี่เคยมาอยู่กับเขา ต้าร์จะไม่ค่อยมีเวลา เขาจะไปประชุมสัมมนา ทำกิจกรรมอะไรมากมายเลยนะ เวลาเขามีประชุมตามโรงแรม ต้าร์จะเก็บขนมปัง เก็บอาหารว่างกลับมาบ้าน เอามาฝากพี่ พี่ยังขำมันเลย ว่าจะมีใครเก็บอะไรแบบนี้มามั้ย พี่เลยเห็นว่า ต้าร์มันนึกถึงพี่น้องตลอด นึกถึงคนอื่นเสมอ เขาเป็นคนแบบนี้มาตลอดนะ
.
“เราคุยกันทุกเรื่องตั้งแต่ตอนเด็ก จนถึงทุกวันนี้ ต้าร์มันเล่าทุกเรื่องปรึกษาทุกเรื่อง เรื่องส่วนตัว เรื่องงาน เรื่องเรียน กระทั่งเรื่องความรัก ปัญหาความรักของมันสมัยวัยรุ่นนี่แบบ...อืมม มันแบบสายเปย์ไง เจอคนออดอ้อน มันก็หลง เราก็เตือนบ้าง บางทีด่ามันตรงๆ เลยนะ นางฉลาดทุกเรื่อง ทำไมเรื่องความรักมันถึงเป็นแบบนี้นะ มันเป็นต้าร์สายเปย์
.
“ในความเป็นพี่น้อง เราทะเลาะกันเป็นปกตินะ ทะเลาะกันเสร็จ แปบๆ เดี๋ยวโทรหากันแล้ว คือ ทะเลาะกัน เถียงกันบ้าง แต่เราไม่เคยโกรธกัน คือ ต้าร์มันเป็นคนมีเหตุผลนะ เราเห็นต่างกันได้ เราเคารพกันตรงนี้
.
“ต้าร์นะ นางเป็นคนมองโลกในแง่ดี เป็นคนตลกนะ พี่ยืนยันได้เลยว่าต้าร์ไม่ใช่สายฮาร์ดคอร์ เวลาเขาวิจารณ์การเมือง เขาจะใช้วิธีการพูดเหน็บแบบติดตลก มันเป็นจุดยืนของเขา เขาเห็นว่ามันไม่เป็นธรรม การรัฐประหารไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย จริงๆเขาเรียกร้องแค่นั้น นี่คือจุดยืนของนาง แต่บางทีก็เตือนน้องว่า เพลาๆ บ้าง แต่เรื่องจุดยืน เรื่องความคิด เราห้ามกันไม่ได้ ครอบครัวเราเคารพการตัดสินใจของกันและกัน
.
“ต้าร์มันจอมโปรเจค มันทำงานสายเยาวชน สายพัฒนา สายสุขภาพเรื่อง HIV ทำโน้นนี่เต็มไปหมด พี่เคยบอกมันนะ ต้าร์นี่พูดลิงหลับได้เลย ถ้าเธอทำโปรเจคไปเสนอใคร เขาสนับสนุนแน่ คือมันพูดเก่ง เป็นนักเจรจาต่อรอง โน้มน้าวใจคนได้ คนใกล้ตัวหรือเคยทำงานด้วยจะรู้
.
“ชีวิตพี่เปลี่ยนชั่วข้ามคืนนะ หลังน้องชายหายไป ในฐานะพี่ ต้องลุกออกมาตามหาน้อง พี่มีความหวังนะ อยากได้น้องชายกลับมาแบบมีชีวิตอยู่ ถ้าเขาถูกอุ้ม ยิ่งเนิ่นนาน ความหวังยิ่งน้อย แต่เราก็ยังมีความหวังนะ หลังต้าร์หายไปมีแต่คนติดต่อหาพี่ คนโน้นก็บอกเป็นเพื่อนต้าร์ คนนี้ก็บอกเพื่อนต้าร์ คือเขารู้จักและรักต้าร์ เขารู้ว่าต้าร์เป็นคนยังไง เขาจึงอยากจะช่วยตามหา นี่มันเป็นกำลังใจให้เราสู้ ชีวิตพี่มันเปลี่ยนเลย แต่เราต้องทำ พี่ไม่อยากให้มีรายต่อไปและอยากให้ต้าร์มีชีวิตรอด...”
.
—-
คุณสิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
พี่สาว นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (คนหาย)
—-
🏴คนหาย 🏴
ชื่อ :นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
ชื่อเล่น : ต้าร์ อายุ : 37 ปี
สัญชาติ : ไทย �สถานะ: ผู้ลี้ภัยทางการเมือง�วันที่หาย : 4 มิถุนายน 2563 เวลา 16.40 น.�สถานที่หาย : กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา�สาเหตุการหาย : คาดถูกบังคับให้สูญหาย

...


UNHCR คุณคือสลิ่ม?
ศักดิ์ดา แก้วบัวดี แฉได้มันส์มาก ว่าไม่ใช่แค่ปัญหาผู้ลี้ภัยการเมืองไทยหรอก แต่ผู้ลี้ภัยชาติต่างๆ ที่หลบอยู่ในกรุงเทพฯ 6 พันคน ขังอยู่ ตม.เป็นพันคน UNHCR ก็ไม่พูดถึง ยื่นขอลี้ภัยไปประเทศที่สาม ก็ช่วยไม่ได้ แต่ศักดิ์ดาช่วยได้ เจ้าหน้าที่ UNHCR กลับขัดขวางอีกต่างหาก
อะไรก็ไม่แสบเท่าเจ้าหน้าที่ UN บอกเขาว่า เจ้าหน้าที่ UNHCR ที่เป็นคนไทยมักเป็นเด็กเส้นเด็กฝาก แล้วก็ไปเป่านกหวีดกันทั้งนั้น
https://www.matichon.co.th/politics/news_2219475
สอบถามคนทำงานด้านสิทธิ จริงไหม
เขาเล่าว่าจริงๆ สำนักงานใหญ่ที่เจนีวา ก็ตำหนิมาหลายครั้งแล้ว ให้สังเกตว่าการออกแอคชั่นเร่ื่องสิทธิ มักจะมาจากสำนักงานภูมิภาค เช่นตอนที่ไทยจับ 2 คนจีนวิจารณ์รัฐบาลส่งกลับ ก็เป็นสำนักงานภูมิภาคแถลงประณาม สำนักงานไทยเงียบกริบ
ถามว่าเป็นเพราะต้องทำงานกับรัฐไทยในการดูแลค่ายผู้ลี้ภัยหรือเปล่า ก็ไม่น่าใช่แค่นั้น เพราะถ้าเกรงใจรัฐไทยเรื่องผู้ลี้ภัย 112 จะทำเป็นเงียบๆ ไม่เกี่ยวข้อง กรณีของผู้ลี้ภัยอื่นๆ ที่ศักดิ์ดาพูดถึง ก็ไม่ยักสนใจเหมือนกัน
งาน UNHCR ในเมืองไทยจึงมีแค่ให้ ปู ไปรยา ไปถ่ายรูปกับเด็กมาขอเงินบริจาค ตั้ง ว.วชริเมธี เป็นผู้อุปถัมภ์ จัดงานกับ The Face ให้สินจัยมาพูดเชิญชวน ฯลฯ
คือมันเปลี่ยนจากองค์กรสิทธิ มาเป็นสังคมสงเคราะห์ เปลี่ยนจากแอคติวิสต์ มาเป็นระบบราชการ
งาน UN เงินเดือนสูง ใครก็อยากทำ เมืือสำนักงานเต็มไปด้วยคนไทย มีคอนเนคชั่นกับเจ้าหน้าที่ไทย จะยืนยันได้หรือว่าไม่มีฝากกัน
UNHCR เคยมีบทบาทสูงในไทย สมัยเขมรแตก ลาวแตก ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่โต หลังจากนั้นก็มีผู้ลี้ภัยพม่า แต่ต่อมาบทบาทก็ลดลง และคงไม่ได้คิดว่าประเทศไทยจะเกิดผู้ลี้ภัยเสียเอง เกิดการแบ่งสีเลือกข้าง โดยเจ้าหน้าที่ UNHCR ก็เลือกข้างเสียเอง
ต้องส่งเสียงไปให้ถึง UNHCR สำนักงานใหญ่ เพืื่อยกเครื่องสำนักงาน UNHCR ประเทศไทยเสียที
Atukkit Sawangsuk