แล้วนี่เข้าเฟสสี่ ระยะผ่อนคลายของ ศบค.
ประธานหอการค้าบอกว่าเป็นห่วงกิจการที่ยังไม่เปิด เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ และอาบอบนวด
นายกลินท์ สารสิน อยากให้รัฐเข้าไปสอบถามว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง เพราะธุรกิจพวกนี้ “เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก”
โดยเฉพาะพวกสาวขายบริการนี่ ตามข่าวบอกซอยปันสุข
ปทุมธานี นี่เฟื่องฟูธุรกิจแบบนี้มาหลายปีดีดักแล้ว (แสดงว่าตลอดยุค
คสช.เรื่อยมาแหละ) หนักข้อก็ตอนที่มีล็อคดาวน์และเคอร์ฟิว เพราะกิจการชนิดที่ประธานหอการค้าเป็นห่วงต้องปิดกันหมด
สาวๆ ก็เลยต้องเปิดบริการแบบ ‘curbside pickup’ แทน
‘ข่าวสด’ รายงานตอนหนึ่งว่า
“ประมาณสองทุ่มจะเริ่มมีผู้หญิงมายืนบริเวณปากซอยเป็นกลุ่มๆ
จะเห็นหญิงสาวยืนเรียกขายบริการริมถนนตลอดแนวทุกคืน ช่วงมีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
ได้หยุดไป” เพิ่งกลับมาเปิดใหม่สักเดือนกว่าๆ นี่เอง และกำลังเพิ่มมากขึ้นอยู่พอดี
ตำรวจ สภ.ธัญบุรี ขยับครั้งนี้เหตุจากที่มีชาวบ้านบ่น
คลิปแพร่ว่าแม่ค้ารับประกัน “เคลียร์เจ้าหน้าที่” ราคา ‘พันสาม’ ควบรวมทั้งบริการและสถานที่ โรงแรมแถวนั้นมีเยอะ
ตั้งแต่จิ้งหรีด จั๊กจั่น ไปถึงแมงดา กลับมาเปิดกันใหญ่ตอนเริ่มผ่อนคลายนี้เอง
ดูเหมือนรัฐบาลก็กระตือรือล้นไม่แพ้หอการค้า
ด้วยหวังอย่างยิ่งว่าเมื่อปลดล็อคออกหมดแล้ว จะได้นักท่องเที่ยว (โดยเฉพาะจากจีน) กลับมาเร็วไว
ตอนนี้ทาบทามไว้แล้วเปิดสนามบินรับต่างชาติเมื่อไหร่
พวกกิจการบันเทิงกลางคืนและบันเทาเส้นสายตึงนี่ยิ่งจำเป็น
ถ่วงนานเกินไปไม่ได้
ความอดอยากปากแห้งไม่เกรงใจใคร ขนาดโพลกันเองอย่าง ‘กรรณิกา’
ยังอั้นไว้ไม่อยู่เหมือนกัน
อุตส่าห์จั่วหัวเรื่องให้มันรื่นหูพวกนักยึดอำนาจแล้วนะ ถึง “ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งมากว่า
๑ ปี”
ยกความชั่วร้ายไปให้แก่การเลือกตั้งว่า
ส่วนใหญ่ “ร้อยละ ๔๓.๒ ระบุชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง” กับอีก ๓๑.๕%
ว่า “แย่เหมือนเดิม” ซ้ำอ้างถึงต้นเหตุว่ามาจาก การแตกแยกภายในพรรคการเมือง
(๑๙.๔%) กับการแก่งแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี (๒๑.๘%)
ล้วนเป็นเรื่องภายในรัฐบาลทั้งนั้น
โดยมีการสอบถามผู้ถูกสำรวจว่านายกฯ ควรไว้ใจใครระหว่างสองผู้มีบุญคุณของรัฐบาล ณัฏฐพล
ทีปสุวรรณ แกนนำ กปปส.ที่ป่วนเมืองสร้างสถานการณ์รัฐประหาร กับ สุริยะ
จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ช่วยดูด ส.ส.และนักการเมืองจากรัฐบาลเก่ามาเข้าขบวน
ซูเปอร์โพลของ นพดล กรรณิกา จึงออกแนว ‘เป็นห่วง’ กับเขาบ้าง ห่วงเรื่อง “แนวโน้มกลุ่มคนไม่สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๕๒.๒ ช่วงหลังกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐลาออก ไปอยู่ที่ร้อยละ ๕๔.๔ ในผลสำรวจล่าสุด”
(https://www.thairath.co.th/news/politic/1868737, https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_4315755, https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_4316768 และ https://www.innnews.co.th/economy/news_699152/)
แต่โพลกรรณิกาพยายามเบี่ยงบ่ายไม่พูดถึงต้นสายปลายเหตุแท้จริง
ของการที่ประชาชนจำนวนมากขึ้นไม่พอใจรัฐบาล นั่นคือเรื่องอดอยากและหนี้สิน ยิ่งเป็นหนี้ที่รัฐบาลทับถมภาระให้บนไหล่บนหลังของผู้เสียภาษี
อันทำให้ชนชั้นกลางในเมืองเดี๋ยวนี้พยายามผลักไสฉายา ‘สลิ่ม’ ออกไปจากตัว
มีคำถามที่สลิ่มสะอึกเกี่ยวกับการออก
พรก.กู้เงินเพิ่ม ๑ ล้านล้านบาท ที่ว่าไว้จ่ายเยียวยาประชาชน ๖ แสนล้าน “ใช้เยียวยาจริงๆ
ไปแล้วเท่าไหร่ไม่แน่ชัด แต่ที่แน่ๆ ต้องเหลืออีกมากมายมันหายไปไหนหมด” ถามกันเช่นนี้เพราะทั่นรองฯ
จอมยกเว้นออกมาเสล่ออีก
วิษณุ เครืองาม
ตอบคำถามจากสื่อถึงความคืบหน้าของการจัดให้มีเลือกตั้งท้องถิ่น
ว่าต้องไปถามกระทรวงและหน่วยงานเกี่ยวข้อง อย่างมหาดไทยและกรรมการเลือกตั้ง ว่าพร้อมกันหรือยัง
อีกอย่างที่รู้ว่ายังไม่พร้อมคือ ‘งบประมาณ’
“ก่อนหน้านี้พร้อมแล้วแต่มีการดึงไปใช้ในเรื่องของโควิด-๑๙”
รองนายกฯ อ้าง หลังจากที่มีเสียงวิจารณ์ถี่ขึ้นว่า “๖ ปีแล้วที่การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกแช่แข็งไว้”
prajak kong @bkksnow ชี้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการปกครอง “รัฐราชการรวมศูนย์” อย่างทหาร
แม้แต่ ‘ผู้ว่า
กทม.’ ก็ยังแต่งตั้งมาด้วยอำนาจ ม.๔๔ ของคณะรัฐประหาร
ความดึงดันที่จะครองเมืองกันต่อไปของพวกทหารที่เข้าสู่การเมืองด้วยการยึดอำนาจ
แล้วบิดเบี้ยวกติกาประชาธิปไตยให้พวกตนยังกุมบังเหียนและได้เปรียบต่อไป
อาการ ‘เดี้ยง’ ทางการบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ในขณะนี้แทบจะทุกเรื่อง รวมทั้งการ ‘บำรุงรักษา’ สถาบันกษัตริย์ ขณะที่กรณี #saveวันเฉลิม กระหึ่มไปทั่วโลก แต่รัฐบาลไม่มีปัญญาทำให้เกิดความกระจ่างใดๆ อ้างแต่เพียงถามกัมพูชาแล้วเขาไม่ตอบ
ทำไงได้
รอให้เขาตอบสหประชาชาติเสียก่อนนั่นหรือ
อาจสายเกินแก้เสียจนทรงกริ้วแล้วก็ได้